สนช.มติเอกฉันท์ ผ่าน 3 วาระรวด พ.ร.บ.สงฆ์ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งสังฆราช(คลิป)

สนช.แก้พ.ร.บ.สงฆ์ผ่านฉลุยแค่ 1 ชั่วโมง 3 วาระรวด ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระสังฆราช

เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 29 ธันวาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธาน ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์(ฉบับที่..) พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ที่ พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ สมาชิกสนช.เป็นผู้เสนอ โดยมีนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เข้าร่วมประชุมด้วย โดย พล.ต.อ.พิชิต ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย ได้ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สนช. พร้อมด้วยสมาชิกสนช.รวมทั้งหมด 81 คนได้เข้าชื่อเสนอแก้ไข ร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 14 วรรคสอง โดยแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 เพียงประเด็นเดียวในมาตรา 7 คือเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้ ตามพระราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานนั้นเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งต่อมาได้เริ่มมีบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา สมควรบัญญัติกฎหมายให้สอดคล้อง เพื่อเป็นการสืบทอดและธำรงค์รักษาไว้ซึ่งโบราณราชประเพณีดังกล่าวโดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนาม รับสนองพระบรมราชโองการ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

จากนั้น นายพรเพชรได้แจ้งว่า ตามข้อบังการประชุม ข้อที่ 117 การเสนอร่างกฎหมายของสมาชิกสนช.รัฐบาลจะต้องนำกลับไปพิจารณาภายใน 30 วัน ซึ่งนายออมสิน ได้ลุกขึ้นแจ้งว่า รัฐบาลไม่ขัดข้องที่ สนช.ดำเนินการขั้นตอนของรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาในวาระหนึ่งทันทีโดยได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็น โดยทั้งหมดต่างสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

Advertisement

ต่อมา นายสมพร เทพสิทธา สมาชิกสนช. อภิปรายว่า ตนขอให้เหตุผลสนับสนุน ประการแรก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาพระสังฆราช โดยพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับใช้มานานรวมกัน 51 ปี จึงถือว่าเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้สถาปนาพระสังฆราช ต่อมาเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ซึ่งเพิ่มเงื่อนไขการสถาปนาพระสังฆราช ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณะศักดิ์ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ปัญหาที่สำคัญคือการสถาปนาพระสังฆราช เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจากกฎหมายก็จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ประการ 2. ตนเห็นว่าพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงอุปถัมภ์และคุ้มครองทุกศาสนา จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พระมหากษัตริย์จะสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช และ ประการ 3. เมื่อ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ใช้บังคับอยู่ และตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ได้มีการเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะ 3 รูป เพื่อเสนอต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงเลือกสมเด็จพระราชาคณะที่เหมาะสมเป็นสมเด็จพระสังฆราช ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงเลือกสมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโส ดังนั้นการที่พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 ได้มาเพิ่มเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์นั้นตนเห็นว่าไม่เป็นการเหมาะสมหรือถูกต้อง จนก่อให้เกิดปัญหาจนถึงบัดนี้ เมื่อกฎหมายไม่เหมาะสมหรือถูกต้องก็เป็นหน้าที่ของสนช.ที่จะทำให้ถูกต้องและเหมาะสม

“ผมในฐานะประธานยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ได้เคยมีหนังสือถึงนายสุวพันธุ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ โดยเสนอความเห็นว่ารัฐบาลน่าจะมีการแก้ไขปัญหาทางตันนี้โดยการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ให้ถูกต้อง ทั้งนี้ นายสุวพันธุ ระบุว่าหากรัฐบาลเป็นผู้เสนอจะทำให้เกิดปัญหากับพระสงฆ์ได้ รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร พร้อมขอให้รอไว้ก่อนจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งผมเห็นว่าบัดนี้โอกาสเหมาะสมแล้ว เพราะได้เกิดปัญหาทางตันเกี่ยวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ไม่ควรจะปล่อยเรื่องนี้ให้เนิ่นนานออกไปอีกแล้ว ซึ่งผมเห็นว่าเมื่อรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งกับคณะสงฆ์และคณะสงฆ์ก็ไม่ยอมที่จะแก้กฎหมายให้ถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของสนช.ที่เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย จะต้องมารับผิดชอบหน้าที่ในการแก้ไขกฎหมายนี้ ซึ่งการแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนไม่ควรเนิ่นช้าต่อไป ผมจึงขอเสนอว่าการแก้ไขเพียงแค่มาตราเดียวให้พิจารณา 3 วาระรวด ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาทางตันที่เราประสบในขณะนี้” นายสมพร กล่าว

ด้าน นายสมชาย แสวงการ สนช. กล่าวว่า ยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นการกีดกันใครคนใดคนหนึ่ง หากเปรียบเทียบก็เหมือนเป็นการแต่งตั้งข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวง หรือผู้บัญชาการเหล่าทัพ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องให้มีรองอันดับหนึ่ง อันดับสอง และอันดับสาม ซึ่งจะให้รองอันดับหนึ่งขึ้นเป็นปลัด หรือ ผบ.เหล่าทัพ แต่ต้องมีการพิจารณากันหลายด้าน ทั้งความรู้ความสามารถ เพราะหากพิจารณาเพียงรองอันดับหนึ่ง คนที่เป็นรองอันดับที่หนึ่งก็คงไม่ต้องทำอะไร รอเพียงขึ้นรับตำแหน่งเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องดูองค์ประกอบในหลาย ๆ ด้าน

Advertisement

ขณะที่ นายตวง อันทะไชย สนช. กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดมานานแล้ว ซึ่งยังไม่สามารถหาทางออกได้ เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หากไม่ยอมแก้ปัญหาก็เท่ากับว่า เราทำลายศาสนาไปในตัว จึงเห็นด้วยกับหลักการที่เสนอขอแก้ไข ของคณะกรรมาธิการศาสนาฯ

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ด้วยคะแนน 184 : 0 งดออกเสียง 5 โดยนายสมชาย ได้เสนอตั้งคณะกรรมาธิการฯเต็มสภาฯ โดยไม่มีผู้ใดคัดค้านเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ซึ่งการพิจารณาในวาระ 2 ใช้เวลาเพียง 5 นาที โดยไม่มีผู้ใดอภิปราย จากนั้นเข้าสู่การลงมติในวาระ 3 ด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 182 : 0 งดออกเสียง 6 เพื่อประกาศพ.ร.บ.สงฆ์ใช้เป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ การพิจารณากฎหมายดังกล่าวสนช.ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image