“เลือกตั้ง”ส่อยาว! สนช.ชี้กลางปี’61 “สุรชัย”อ้างติดร่างกม.นับร้อย

เร่งออกกม.-ชี้เลือกตั้งปี”61

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง กล่าวถึงการทำงานของ สนช.ตลอดปี 2560 จะมีงานสำคัญ คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 50 ฉบับ รวมแล้วประมาณ 60 ฉบับ ซึ่งต้องทำตามกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี มีมติเร่งรัดเป็นพิเศษอีก 41 ฉบับ รวมทั้งหมดแล้วประมาณ 100 ฉบับ และยังมีกฎหมายที่อยู่ในบัญชีตามโรดแมปของคณะรัฐมนตรีอีกมากกว่า 100 ฉบับ ซึ่งเป็นภารกิจในปี 2560 ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อออกกฎหมายให้เป็นเครื่องมือกับรัฐบาลบริหารประเทศ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโรดแมปก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งประมาณกลางปี 2561

ผู้สื่อข่าวถามว่าตลอดปีที่ผ่านมาประเมินผลงานของ สนช.อย่างไร นายสุรชัยกล่าวว่า ในภาพรวมส่วนตัวให้ 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บางฉบับที่ล่าช้า เพราะขอขยายเวลาหลายครั้ง หรือบางฉบับมีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ จนนำกลับมาแก้ไข อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองมีเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดเยอะๆ ทำอย่างไรไม่ให้กลับไปสู่วังวนเดิม ทำอย่างไรที่จะเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุ่มเทไปกับการบริหารการเมืองให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมือง

หนุนตั้งกก.เร่งปฏิรูป

เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะมีตามโรดแมป นายสุรชัยกล่าวว่า คงไม่ยืนยันในเรื่องนี้เพราะไม่ได้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง แต่ยืนยันว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 60 วันตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมารัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าจะทำตามโรดแมป เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาทำไมยังไม่เห็นร่างกฎหมายที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศในเชิงโครงสร้าง เพราะกฎหมายที่เข้าสู่ สนช.ส่วนใหญ่จะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปรับการทำงานของส่วนราชการ นายสุรชัยกล่าวว่า ส่วนตัวก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน การปฏิรูปยังขับเคลื่อนไปได้ช้า ซึ่งอาจติดขัดในบางส่วน ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่ายที่ผ่านมาก็หารือในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะการออกแบบการทำงานที่มีขั้นตอนเยอะเกินไป ทั้งๆ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้คิดเสร็จหมดแล้ว

“ผมกลับมองเห็นว่า สปท. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ควรเข้ามาขับเคลื่อนสิ่งที่ สปช.คิดให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เพียงแค่นี้ก็จบ แต่ปรากฏว่ามีการนำเรื่องนั้นเรื่องนี้มาถกเถียงกันทั้งๆ ที่มีการศึกษากันจบแล้วในชั้นของ สปช. และมาเจอเงื่อนไขว่าถ้า สปท.มีมติขับเคลื่อนเรื่องไหนก็ส่งไปที่รัฐบาลและเข้าสู่คณะทำงานศึกษาของรองนายกฯอีก ซึ่งตามปกติรองนายกฯ

Advertisement

มีภารกิจมากอยู่แล้ว ดังนั้น ผมจึงเห็นด้วยกับการที่นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการปฏิรูป” นายสุรชัยกล่าว

ชี้กรธ.มาถูกทางกม.พรรคฯ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่หนึ่ง กล่าวถึงประเด็น พ.ร.บ.พรรคการเมืองว่าเห็นด้วยกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในหลักการและแนวทาง 1.พัฒนาพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมือง 2.ความอิสระของพรรคการเมืองปลอดจากการครอบงำของทุนสามานย์ 3.สมาชิกพรรคต้องรับผิดชอบพรรคและมีส่วนร่วมในการบริหารพรรคและเป็นเจ้าของพรรค 4.เสริมสร้างความโปร่งใสและการบริหารจัดการที่ดีที่ทันสมัยของพรรคการเมืองบนหลักธรรมาภิบาล 5.การสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยอุดมการณ์ยุทธศาสตร์และนโยบายที่ดี ดังนั้นจึงถือว่า กรธ.เดินมาถูกทางแล้วและกระบวนการจัดทำพ.ร.บ.ก็เปิดกว้างรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตามเมื่อ กรธ.จัดทำร่าง พ.ร.บ.เสร็จจะต้องส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป จึงยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย

ยันรธน.ใหม่การเมืองสะอาด

Advertisement

ทางด้านสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดสัมมนาเรื่อง “การพัฒนากลไกเพื่อคุ้มครองประชาชนในประชาคมอาเซียน” โดยมีนายศุภชัย ยาวะประภาษ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายพิเศษ หัวข้อ “การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามเจตนารมณ์ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …” ว่า ความตั้งใจของ กรธ.ต้องการให้เกิดการเมืองที่ใสสะอาด ด้วยการขจัดอิทธิพลทางการเมือง จากระบบราชการและเพิ่มประสิทธิภาพราชการ รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ส่วนระบบตรวจสอบได้วางกลไกเพิ่มเงื่อนไของค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ คือ เพิ่มคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.และ ส.ว. ปรับระบบการได้มาและอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว. รวมทั้งเพิ่มความเข้มแข็งให้องค์กรตรวจสอบทั้งเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม

นายศุภชัยกล่าวว่า ส่วนของการขจัดอิทธิพลทางการเมือง จากระบบราชการและการเพิ่มประสิทธิภาพราชการนั้น ได้วางกลไกการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ห้ามไม่ให้ ส.ส.และ ส.ว.ใช้ตำแหน่งกระทำการที่มีลักษณะแทรกแซงหรือก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ด้านงบประมาณ และการบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่นหรือของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน และกำหนดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อให้มีผลต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองคือ หากฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงจะเป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติต้องพ้นจากตำแหน่งทันที

นิพิฏฐ์ย้ำให้เลือกตั้งตามโรดแมป

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเดินหน้าตามโรดแมปเลือกตั้งของรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไว้นั้น ทุกวันนี้มีชาวบ้านเจอหน้าตนถามกันมากว่าโรดแมปเลือกตั้งจะตามเดิมหรือไม่ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อน เพราะคนที่ถามส่วนมาก 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่เข้าใจคำว่าโรดแมปคืออะไร แต่พูดต่อๆ กันมาตามคนอื่น จึงบอกชาวบ้านว่า โรดแมปคือระยะเวลา ว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่ ซึ่งรายละเอียดถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านการลงประชามติแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามโรดแมปเดิม คือไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ลงประชามติ

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ส่วนอีกเหตุผลที่จะทำให้โรดเเมปเลือกตั้งไม่เหมือนเดิม คือต้องชะลอการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติออกไป แต่ยังไม่เห็นว่าจะชะลอการบังคับใช้ได้อย่างไร ตนไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเรื่องเลื่อนหรือไม่เลื่อน แต่ตอบตามมุมเหลี่ยมของรัฐธรรมนูญว่าต้องเดินไปตามกฎหมาย ดังนั้น ผู้ที่บอกว่าอาจจะไม่เป็นไปตามโรดแมปต้องออกมาอธิบายให้ชัดเจนว่าจะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเพราอะไร และจะทำอะไร อย่างไร ส่วนตัวยังคิดไม่ออกว่าจะเป็นแบบไหน

พท.โวยกก.ปฏิรูปไร้ภาคปชช.

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของประเทศ และมีผลต่อประชาชนทุกคน หากการปฏิรูปเดินไปสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมและความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ประเทศและประชาชนจะได้ประโยชน์แต่หากเดินไปผิดทิศผิดทาง อาจได้ผลตรงกันข้าม ดังนั้นการปฏิรูปประเทศจึงเป็นเรื่องใหญ่ และเกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ ภาคประชาชนควรมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มแรกโดยเฉพาะกับเรื่องใดบ้างที่จะปฏิรูป ซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งม.44 แต่งตั้ง แต่เมื่อดูองค์ประกอบของคณะกรรมการที่ปรากฏจากสื่อ จะเห็นว่ามีแต่องค์ประกอบในส่วนของราชการเพียงฝ่ายเดียว โดยนายกฯเป็นประธาน มีรองนายกฯทุกคนเป็นกรรมการ ประธาน สนช. ประธาน สปท. เลขาฯสภาพัฒน์ เลขาฯกฤษฎีกา ผอ.สำนักงบประมาณ และเลขาธิการนายกฯ เป็นกรรมการ รวมทั้งหมด 19 คน โดยไม่มีองค์กรภาคประชาชนร่วมด้วยเลย จึงเห็นว่าแม้คณะกรรมการดังกล่าวจะเป็นเพียงทำหน้าที่เตรียมการปฏิรูป แต่ความเห็นและมติต่างๆ จะส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศและการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ

จี้ทบทวนองค์ประกอบด่วน

“ภายหลังเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องมีการตรากฎหมาย เช่น กฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติภายใน 120 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ และต้องทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่มีกฎหมายดังกล่าว รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้ปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยต้องตรากฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ กฎหมายดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับภายใน 120 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วย” นายชูศักดิ์กล่าว

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ดังนั้น การดำเนินการใดที่มีผลต่อประโยชน์ได้เสียโดยรวมของประเทศและประชาชน และมีผลผูกพันต่อการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในอนาคต จึงสมควรเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมได้มีส่วนร่วมพิจารณา และกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ด้วย ไม่ใช่เอาแต่ฝ่ายรัฐบาลและข้าราชการเท่านั้น เนื่องจากขณะนี้ยังไม่เห็นคำสั่งดังกล่าวว่าได้ประกาศใช้แล้วหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์จึงควรทบทวนองค์ประกอบของคณะกรรมการเสียใหม่ หรือควรรอให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้ก่อน แล้วสรรหาคณะกรรมการในลักษณะเปิด เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ของทุกภาคส่วนเข้าร่วม เพื่อให้การปฏิรูปเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกคนอย่างแท้จริง ในชั้นนี้จึงไม่ควรจะทำอะไรไปก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้

วรชัยแนะ”บิ๊กตู่”เชื่อ”ป๋า”ลงสวย

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้าอวยพรปีใหม่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และหลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ออกอาการหงุดหงิดเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการที่ พล.อ.เปรมระบุว่าให้เสร็จภารกิจโดยเร็วนั้น พล.อ.ประยุทธ์บอกเสมอว่าที่ยึดอำนาจเพราะความแตกแยก มีการคอร์รัปชั่น แต่นี่เป็นเวลาเกือบสามปีแล้วภารกิจเหล่านั้นลุล่วงหรือไม่ ซึ่งภารกิจที่ พล.อ.เปรมพูดถึงก็คือภารกิจที่ คสช.อ้างไว้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว กฎหมายลูกกำลังจะเสร็จ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเดินตามโรดแมป แต่ที่ออกอาการหงุดหงิดจึงมีคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการอยู่ต่อหรือไม่ อยากทำตามโรดแมปหรือไม่ ที่ผ่านมาสวนดุสิตโพลระบุว่าประชาชนนิยมรัฐบาลจากรัฐประหาร ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขที่จะอยู่ในอำนาจต่อหรือไม่ เป็นเรื่องที่อันตรายมากที่สุดเพราะอย่าลืมว่าความขัดแย้งในประเทศยังมีอีกเยอะมาก ทั้งเรื่องของชาวสวนยาง เด็กเล่นคอมพิวเตอร์ก็ไปจับ ไปย้ายข้าราชการกองอยู่เต็มทำเนียบตามมาตรา 44 เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์มีศัตรูเต็มไปหมด ทั้งข้าราชการกลุ่มอาชีพต่างๆ หรือแม้แต่พระสงฆ์ เพราะฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องเชื่อ พล.อ.เปรม จะได้ลงอย่างสวยงาม ไม่เช่นนั้นจุดจบของอำนาจจะไม่สวย

จี้เลิกม.44เร่งคืนอำนาจปชช.

นายวรชัยกล่าวว่า ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์รีบจัดการเลือกตั้งคืนอำนาจให้ประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศตามโรดแมป อย่าใช้วิธีต่อท่ออำนาจ พล.อ.ประยุทธ์จะแพ้ทางการเมืองถ้าใช้มาตรา 44 ตามใจตัวเองแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้ลำบากในอนาคต เพราะจะมีศัตรูเพิ่มขึ้น การเชื่อแต่คนรอบข้างคนใกล้ชิดผลที่สุดรัฐบาลจะแพ้ความเชื่อมั่น จะค่อยๆ หมดไปจนบริหารประเทศไม่ได้ในที่สุด ดังนั้นปีใหม่นี้ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ยกเลิกมาตรา 44 ให้มีความเป็นประชาธิปไตย อย่าเอาความคิดตนเองเป็นใหญ่ และขอให้ใจเย็นๆ นักข่าวถามเรื่องเลือกตั้ง อย่าหงุดหงิด อย่าใจร้อน เอาประเทศเป็นตัวตั้ง อย่ายึดแต่ตัวตน อย่าโกรธเกลียดนักการเมืองเพราะนักการเมืองมาจากประชาชน นอกจากนี้กองทัพต้องเป็นสถาบันหลักที่ประชาชนรักและอุ้มชูกัน อย่าใช้กองทัพปกป้องอำนาจตัวเอง เพราะกองทัพเป็นของประเทศชาติและประชาชนไม่ใช่ของ พล.อ.ประยุทธ์หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อย่าผลักไสให้กองทัพเป็นศัตรูกับประชาชน

นายวรชัยกล่าวว่า ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.สงฆ์ที่ สนช.เร่งรัดผ่านสามวาระรวดนั้น ไม่ได้ถามผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น คณะสงฆ์ หรือมหาเถรสมาคมเลย เหมือนเป็นความประสงค์ของรัฐบาลและ คสช.ที่ต้องการทำอย่างรวดเร็ว พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการรัฐประหาร จึงไม่แคร์องค์กรใด จะปกครองคนหรือจะออกกฎหมายลักษณะเฉพาะเช่นนี้ ก็ไม่ถามใคร เท่ากับเป็นการสร้างความขัดแย้ง ที่ผ่านมามหาเถรสมาคมไม่มีปัญหา ทั้งธรรมยุตและมหานิกายก็เป็นหนึ่งเดียว ปัญหาคือรัฐบาลไม่นำเสนอชื่อพระสังฆราช คณะสงฆ์ไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไปเชื่อพระที่นับถืออยู่รูปเดียว แล้วก็อ้างคณะสงฆ์มีความขัดแย้ง หรือ พล.อ.ประยุทธ์คิดว่ามีอำนาจคนเดียวจะทำอะไรก็ได้อย่างนั้นหรือ

“ศุภชัย”ปัดยื้อสอบ”ธีรวัฒน์”

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการตรวจสอบจริยธรรมนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต. ว่าขณะนี้ฝ่ายกฎหมายยังไม่ได้รายงานกลับมาว่ามีกรรมการองค์กรอิสระคนใดตอบรับที่จะมาเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งการพิจารณาเรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมทั้งนายธีรวัฒน์ด้วย การพิจารณาคงต้องให้ความเป็นอิสระแก่กรรมการที่จะเข้ามาดำเนินการ คงไม่ไปบีบบังคับว่าต้องตรวจสอบให้เสร็จภายในเวลาเท่าใด เพราะต้องหาพยานอย่างอื่นมาประกอบการพิจารณาด้วย ดังนั้นการดำเนินการจึงเป็นดุลพินิจของกรรมการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ยืนยันว่าเราดำเนินการตามขั้นตอน อาจดูเหมือนล่าช้า แต่เพื่อความเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นการยื้อเวลาเพื่อช่วย กกต.ด้วยกัน เพราะไม่เช่นนั้นเราก็เป็นกรรมการสอบกันเองได้ แต่ไม่ทำ เพราะไม่อยากให้คนมองอย่างนั้น

ทหารส่ง3แฮกเกอร์ให้ตร.

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวถึงการดำเนินคดีกับกลุ่มแฮกเกอร์โจมตีเว็บหน่วยงานรัฐ ตอบโต้การผลักดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ว่า ทหารได้ส่งตัวผู้ต้องหากลุ่มแฮกเกอร์ให้กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)จำนวน 4 ราย โดยรายแรกส่งมอบตัวให้กับตำรวจตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่วน 3 รายที่เหลือได้รับตัวไว้แล้วที่ บก.ปอท.ดำเนินคดีในข้อหาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อหาอั้งยี่ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209, คดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 5 ว่าด้วยการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบโดยมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท, มีความผิดฐานเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ มาตรา 7 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท, มีความผิดในข้อหาร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลายระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ มีความผิดตามมาตรา 9 มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท รวมทั้งมีความผิดฐานร่วมกันชะลอ ขัดขวาง ระบบคอมพิวเตอร์ มาตรา 10 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้เจ้าหน้าที่มีหลักฐานชัดเจนในการดำเนินคดี ศาลจึงอนุมัติหมายจับบุคคลดังกล่าว หลังจากนี้จะสืบสวนสอบขยายผลต่อไป

“สุเทพ”ชม”รบ.บิ๊กตู่”ทำงานดี

ที่ตึกแปซิฟิค นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ภาพรวมในรอบปี 2559 ว่าวันนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ หากประคับประคองผ่านไปได้ จะมีอนาคตสดใสและมีโอกาสพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ในสายตาของตนวันนี้ถือว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานได้ดีประคับประคองสถานการณ์ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดูแลบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย ประชาชนมีความสุข ต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ประชาชนออกมาลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

นายสุเทพกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำลังร่างในขณะนี้ถือว่าใช้ได้ สอดคล้องกับแนวทางที่มวลมหาประชาชนฯเรียกร้อง เพราะพรรคการเมืองต้องเป็นพรรคการเมืองของประชาชน ประชาชนต้องเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ส่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ยังไม่เป็นที่ยุติ ต้องรอติดตามอีกสักพัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image