‘มาร์ค’จี้ปี 60 นักการเมืองนำปฏิรูป-สร้างศรัทธาต่อปชช.รับลต. หวัง’คสช.’ปลดล็อคพรรค

เมื่อวันที่ 1 มกราคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปี 2560 ว่า เป็นปีที่เดินเข้าสู่โรดแมประยะที่ 3 มีความแตกต่างจากปี 2559 เป็นปีที่มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญและเริ่มมองเห็นว่าระยะเวลาที่เหลืออยู่จะกลับเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ในปี 2560 นั้นจะเห็นการเดินเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรม แม้การเลือกตั้งอาจจะไม่เกิดในปี 2560 แต่สังคมจะให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งมากขึ้น ความสนใจจะเข้าสู่ปัญหาของประชาชนว่าจะได้รับการแก้ไขหลังการเลือกตั้งอย่างไร และทำอย่างไรไม่ให้มีความขัดแย้งแบบเดิมหลังการเลือกตั้ง ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้องที่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมชนบทและคนที่มีรายได้น้อยจะมีการถกเถียงแสดงออกมากขึ้นว่า จะแก้อย่างไร เมื่อใกล้สู่การเลือกตั้งจะมีการประเมินว่ามีการปฏิรูปมากน้อยแค่ไหน อะไรที่ต้องทำต่อและอะไรที่เปลี่ยนแปลงบ้าง

“เป็นไปไม่ได้ที่จะจำกัดการทำงานของพรรคการเมืองในปีหน้าเพราะเมื่อกฎหมายพรรคการเมืองบังคับใช้ก็ต้องมีการประชุมเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย พรรคการเมืองจะมีเสรีภาพในการทำงาน และจะเป็นคำตอบว่าประชาชนจะมีความเห็นอย่างไรกับพรรคการเมือง เป็นความหวังของประชาชนให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าไม่สามารถทำให้ประชาชนรู้สึกว่าพึ่งได้ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อแสวงหาประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้น ปี 2560 จึงเป็นปีที่ท้าทายว่าจะทำให้ประชาชนมั่นใจได้หรือไม่ว่าพรรคการเมืองเป็นคำตอบไม่ใช่ผู้สร้างปัญหา”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับพรปีใหม่ขอให้ปี 2560 มีการวางรากฐานให้เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจสำหรับคนไทยทุกคน ให้การเมืองไทยเป็นการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และคนในระบบประชาธิปไตยใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ ให้สังคมไทยใช้พลังความสามัคคีเป็นพื้นฐานให้ประเทศมีอนาคตที่ดีต่อไป แม้คสช.ที่ต้องการวางรากฐานประเทศจะอยู่บนความคิดว่านักการเมืองชั่วหมดต้องกำจัดเสรีภาพคงไม่ได้ เพราะต้องนำสังคมไทยกลับสู่การเลือกตั้ง จึงหวังว่าคสช.จะปรับเปลี่ยนท่าทีเพื่อเตรียมสังคมให้มีความพร้อมสำหรับอนาคตต่อไป ถ้าไม่ทำก็เสี่ยงว่าสิ่งที่ทำไว้จะไม่ได้ผลอะไรเพราะทุกอย่างจะกลับคืนสู่สภาพเดิม ส่วนกติกาที่เปลี่ยนแปลงไปไม่คิดว่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะการเมืองจะเปลี่ยนอย่างไรก็อยู่ที่พฤติกรรมมากกว่ากติกา เนื่องจากบทบัญญัติต่าง ๆ มีความพยายามจะทำให้ดีขึ้นแต่ไม่ได้เป็นหลักประกัน เพราะปัญหาประเทศไทยที่ผ่านมาคือ การบังคับใช้กฎหมายและวัฒนธรรมทางการเมือง ถ้านักการเมืองยังมุ่งประโยชน์ของตนมองหาช่องว่างทางกฎหมายหรือใช้กฎหมายในทางบิดเบี้ยวกติกาก็ไม่ช่วยอะไร ดังนั้นพลังสังคมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเมืองและการบังคับใช้กฎหมายให้ถูกต้อง ถ้าระบบการเมืองไม่สามารถสร้างความศรัทธาได้สุดท้ายจะย้อนกลับสู่ปัญหาเดิม ในฐานะนักการเมืองก็เรียกร้องนักการเมืองด้วยกันว่าต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงปฏิรูป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image