10 “ศึกษา-ศาสนา” ฮอตแห่งปี’59

สนช.ผ่าน3วาระรวดแก้”ม.7″กม.สงฆ์

หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิง “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านพ้นได้ไม่กี่วัน ก็มีข่าวลือหนาหูว่ามหาเถรสมาคม (มส.) ประชุม “ลับ” เพื่อเสนอชื่อ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)”

ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แต่มายอมรับในภายหลังเมื่อรายชื่อให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประเด็นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงขั้นตอนในการนำเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 เป็นอำนาจหน้าที่ของ “มส.” หรือ “นายกฯ” ประกอบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ไม่เหมาะสม เนื่องจากถูกกล่าวหาเรื่องการครอบครองรถจดประกอบ ซึ่งเป็นรถยนต์โบราณเมอร์เซเดส เบนซ์

ล่าสุด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 81 รายได้เข้าชื่อเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ในมาตรา 7 “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์

Advertisement

ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช…” โดยให้กลับไปใช้มาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ระบุแค่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช” โดยสมาชิก สนช.เห็นว่าตามพระราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ต่อมาได้เริ่มมีบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 เป็นต้นมา สมควรบัญญัติกฎหมายให้สอดคล้อง เพื่อสืบทอด และธำรงรักษาไว้ซึ่งโบราณราชประเพณีดังกล่าว โดยให้นายกฯเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการซึ่งที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ได้ลงมติรับหลักการทั้ง 3 วาระรวด จากนี้รอแค่ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ผุดเกณฑ์ประเมิน”ผอ.ร.ร.”ใหม่

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เห็นชอบ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2559 เรียบร้อยแล้ว โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ส่วนการคัดเลือกจะไม่มีการแบ่งกลุ่มทั่วไป หรือกลุ่มประสบการณ์ นอกจากนี้ ผู้สมัครต้องเลือกสมัครในสำนักงานเขตพื้นที่ใดเขตพื้นที่หนึ่งได้เพียงแห่งเดียว รวมถึงผู้สมัครต้องรับรองตนเองด้วยว่าหากได้รับคัดเลือก ในวันบรรจุ และแต่งตั้ง ต้องไม่ติดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเงื่อนไขอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนด ที่สำคัญ ผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดการเลือกจะต้องได้รับการพัฒนาก่อนแต่งตั้ง

Advertisement

สำหรับเรื่องใหม่ที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์นี้คือ เมื่อได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในสถานศึกษาแล้ว ภายในระยะเวลา 1 ปี ต้องได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ โดยประเมินทุก 6 เดือน หากประเมินผลการปฏิบัติงานแล้วไม่ผ่านจะต้องถูกย้ายไปอยู่ในส่วนของอัตรากำลังทดแทน ตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา 71 ซึ่งเริ่มใช้ในการรับสมัครเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เชื่อว่าหลักเกณฑ์นี้จะกระตุ้นการทำงานของ “ผู้อำนวยสถานศึกษา” ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น!!

ลุ้นตั้ง”กระทรวงอุดมศึกษา”

ทำเอาชาวอุดมศึกษาดีใจเก้อหลายครั้งเรื่องแนวคิดการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกมาจัดตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ โดยช่วงกลางปีที่ผ่านมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในขณะนั้นได้เปรยเรื่องการแยก สกอ.ออกจาก ศธ. ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพากันขานรับอย่างคึกคัก เพราะมองว่าการอยู่ภายใต้โครงสร้าง ศธ.ปัจจุบัน ทำให้อุดมศึกษาไทยไม่พัฒนาเท่าที่ควร และไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

แต่ดูเหมือนความหวังของชาวอุดมศึกษาจะริบหรี่ลงเมื่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ระบุว่านายกรัฐมนตรีมีนโยบายปรับโครงสร้างกระทรวงต่างๆ โดยหากปรับปรุงการบริหารงานเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำได้เลย แต่หากจำเป็นก็ขอใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ถ้าจะปรับโครงสร้างใหญ่ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งการแยก สกอ.ออกจาก ศธ. ถือเป็นการปรับโครงสร้างใหญ่ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายเน้นการปฏิรูปการศึกษาในทุกๆ ด้านก่อน จึงให้ชะลอการปฏิรูปในส่วนโครงสร้างเอาไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม หลัง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ขยับขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยอีกครั้ง โดยตั้ง นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานดูแล

ลงดาบมหา”ลัยรับน.ศ.เกิน

เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่สร้างความเดือดร้อนให้นักศึกษา สำหรับมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนด ทำให้นักศึกษาจำนวนมากต้องตกเป็น “เหยื่อ” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กรณีล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภามีมติไม่อนุมัติ

“ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา” ให้นักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.) 2,500 คน เนื่องจากขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับ 500 คน ในปีการศึกษา 2557 แต่กลับรับมากถึง 2,500 คน ซึ่งความมาแตกเอาตอนที่ มกธ.ยื่นเรื่องให้คุรุสภาอนุมัติใบอนุญาตให้นักศึกษาที่จบหลักสูตรในปีการศึกษา 2558 โดยรัฐมนตรีว่าการ ศธ.สั่งให้ตรวจสอบว่ามีมหาวิทยาลัยกี่แห่งที่เข้าข่าย และต้องมีมาตรการลงโทษ จากการตรวจสอบเบื้องต้นมีมหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาเกินกว่าที่ขออนุญาต 12 แห่ง

ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาครั้งล่าสุดได้เชิญมหาวิทยาลัย 11 แห่งที่รับนักศึกษาเกินกว่าที่ขออนุญาต สกอ.มาชี้แจง และมีมติอนุมัติใบอนุญาตให้ 7 แห่ง เพราะรับเกินไม่มาก ส่วนอีก 5 สถาบันมีมติไม่อนุมัติใบอนุญาตให้ผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2557 และปีการศึกษา 2558

เป็นครั้งแรกที่ ศธ.ใช้ไม้แข็งกับมหาวิทยาลัยที่ทำผิดระเบียบ!!

ชง”ปธ.9ประโยค”เทียบวุฒิ”ป.เอก”

เป็นความพยายามอย่างยิ่งที่ แม่กองธรรมสนามหลวง แม่กองบาลีสนามหลวง และ คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ที่มี สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธาน พยายามผลักดันให้เกิดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ…. อย่างไรก็ตาม ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับมาตรา 25 ที่กำหนดให้ผู้สำเร็จเปรียญธรรม (ป.ธ.) 6 ประโยค เทียบเท่าวุฒิปริญญาตรี และ ป.ธ.8-9 ประโยค เทียบเท่าวุฒิปริญญาโทและเอก โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน มีมติให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อให้การเทียบเคียงวุฒิเป็นไปตามหลักสูตรและเกณฑ์มาตรฐานของ สกอ. เนื่องจากมีเสียงสะท้อนว่าปรัชญาและวัตถุประสงค์ระหว่างการจัดการศึกษาทางโลกและทางธรรมแตกต่างกัน ทาง พศ.และคณะสงฆ์จึงได้ยกร่างระเบียบคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมว่าด้วยการศึกษาวิชาสามัญตามเกณฑ์มาตรฐานของ สกอ.เพื่อมารองรับมาตรา 25 เพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ พศ.เตรียมทำหนังสือถึง นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล พศ.เพื่อลงนามถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพื่อหาข้อสรุปก่อนเสนอ ครม.

ต้องลุ้นว่า ศธ.จะใจอ่อนยอมให้เทียบวุฒิการศึกษาทางโลก และทางธรรม หรือไม่!!

ม.44ฟัน”อธิการฯ-ม.”ไร้ธรรมาภิบาล

ความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีมายาวนาน ไม่ว่าระหว่างผู้บริหารกับสภามหาวิทยาลัย หรือผู้บริหารกับประชาคม หรือปัญหาการสรรหาอธิการบดี ฯลฯ ซึ่งเกิดจากความ “ไร้ธรรมาภิบาล” ของผู้บริหาร กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง จนทำให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในขณะนั้น มองว่าเป็น “วิกฤต” จึงเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) เข้าไปแก้ไขปัญหา กระทั่งมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ให้ดำเนินการกับ “มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์” และ “มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ” ทันที ก่อนตามมาด้วยประกาศ คสช.ที่ 2/2559 เรื่องการกำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่น ให้ดำเนินการกับ “มหาวิทยาลัยบูรพา” และ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก” เป็นรายต่อมา

โดยก่อนหน้านั้นหัวหน้า คสช.มีคำสั่งที่ 19/2558 เรื่องแต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น โดยระงับการปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว โดย นายศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ในขณะนั้น ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทุจริตอนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ มมส ล่วงหน้า เป็นเงิน 13,333,330 บาท ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี มมส และย้ายไปช่วยราชการสำนักงานศึกษาธิการภาค 13 ก่อนจะมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 43/2559 เรื่องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 4 มีชื่อ นายปิยพันธ์ แสนทวีสุข รองคณบดีฝ่ายบริหาร สาขาดุริยางคศิลป์ตะวันตก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มมส ที่ถูกกล่าวหากรณีเดียวกับนายศุภชัย

ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย มมส เมื่อเร็วๆ นี้มีมติให้ “ไล่ออก” จากราชการ นายศุภชัย นายปิยพันธ์ และพวกรวม 5 คน หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีถูกกล่าวหาว่าทุจริตอนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารวิทยพัฒนาฯ ว่ามีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาด้วย

หลังจากคดีดังกล่าว “ยืดเยื้อ” มายาวนาน!!

“ผอ.สมศ.”พ้นเก้าอี้หลังพักงานยาว

หลังเกิดความ “ขัดแย้ง” ระหว่าง นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการจัดทำ “ตัวบ่งชี้” ในการประเมินภายนอก กับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทอมก.) และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) โดย ทปอ.ในฐานะตัวแทน 4 เครือข่ายอุดมศึกษา ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ระงับใช้หมวด 6 ส่งผลให้ สมศ.ถูกสั่งให้ชะลอการประเมินภายนอกรอบ 4 ออกไป เพื่อปรับปรุงตัวบ่งชี้ ก่อนจะตามมาด้วยคำสั่ง คสช.ที่ 23/2559 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการ สมศ.ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวของผู้อำนวยการ สมศ. และให้ นายคมศร วงษ์รักษา รองผู้อำนวยการ สมศ.รักษาการผู้อำนวยการ สมศ.แทน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 73/2559 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อํานวยการ สมศ.ให้นายชาญณรงค์พ้นจากตําแหน่งผู้อํานวยการ สมศ.โดยไม่มีความผิด และให้ไปเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ให้นายคมศรพ้นจากรักษาการแทนผู้อํานวยการ สมศ.เพราะอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

และให้คณะกรรมการบริหาร สมศ.ดําเนินการสรรหา และแต่งตั้งผู้อํานวยการ สมศ.!!

เลิก”แอดมิสชั่นส์”..สู่”เคลียริ่งเฮาส์”

หลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษามาหลายครั้งหลายครา ทั้งปรับเล็กปรับใหญ่ ล่าสุด ศธ.มีนโยบายที่จะปรับระบบการคัดเลือกในปีการศึกษา 2561 ภายหลังระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์กลาง ดูเหมือนจะไม่ตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยที่ต้องการนิสิตนักศึกษาที่มีความหลากหลาย จนมหาวิทยาลัยใช้เป็นข้ออ้างเปิดรับตรงมากมาย โดย ศธ.และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้หารือ และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะ “ยกเลิก” ระบบแอดมิสชั่นส์ และเริ่มใช้ระบบ “สอบตรงร่วม” หรือ เคลียริ่งเฮาส์ ในปีการศึกษา 2561

จากการหารือร่วมกันที่ผ่านมา ระหว่าง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ., ทปอ., ทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.), ทปอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และสำนักปลัด ศธ. ได้ข้อสรุปว่าการสอบคัดเลือกระบบใหม่จะมี 5 รอบ ได้แก่ 1.การรับตรงโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนโดยไม่มีการสอบ 2.การรับระบบโควต้า หรือรับตรงโดยใช้ข้อสอบกลาง จัดสอบช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 3.ระบบเคลียริ่งเฮาส์รอบแรก 4.ระบบเคลียริ่งเฮาส์รอบ 2 และ 5.รับตรงอิสระ ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการได้เอง รวมทั้งมหาวิทยาลัย คณะ/สาขาต่างๆ สามารถเปิดสอบวิชาเฉพาะได้เอง โดยมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.จะร่วมคัดเลือกตามที่กำหนด ส่วนกลุ่ม มทร.จะเข้าร่วมเฉพาะการรับตรงโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนโดยไม่มีการสอบ, การรับระบบโควต้า หรือรับตรงโดยใช้ข้อสอบกลาง จัดสอบช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และระบบเคลียริ่งเฮาส์รอบแรกเท่านั้น และกลุ่ม มรภ.จะเข้าร่วมทุกระบบ ยกเว้นเคลียริ่งเฮาส์รอบ 2

โดย ศธ.จะเร่งทำรายละเอียดให้เสร็จก่อนเดือนตุลาคม 2560 และเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561!!

ผลPISA2015ไทยรั้งท้ายอีกแล้ว

ประกาศผลอย่างเป็นทางการสำหรับ การประเมินโครงการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA 2015 ที่ดำเนินการโดย OECD หรือองค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการทดสอบวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับที่ 55 ขณะที่สิงคโปร์มีคะแนนขึ้นเป็นอันดับ 1 แทนจีน ที่น่าสนใจคือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มีคะแนนกระโดดขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 8 ซึ่งผลการประเมิน PISA 2015 ของไทย สอดคล้องกับผลการสอบ TIMSS ซึ่งเป็นการวัดความสามารถวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่ปรากฏว่าไทยมีคะแนนอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายเช่นเดียวกัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกปากให้เร่งเพิ่มคะแนน PISA

อย่างไรก็ตาม นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เห็นตรงกันว่าปัญหาน่าจะเกิดจากความรู้ที่มีอยู่ในระบบการศึกษาของไทยต่ำกว่ามาตรฐานโลก เด็กไทยไม่สามารถคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ได้ เพราะระบบการศึกษาไทยไม่ได้สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ หลักสูตรล้าหลัง มีเนื้อหาซ้ำซ้อน วิธีการสอนของครูมีปัญหา เป็นต้น พร้อมเสนอให้ ศธ.ปฏิรูปหลักสูตรให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น รื้อระบบการผลิตครู ยกเครื่องสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ในการออกข้อสอบ เป็นต้น

ต้องติดตามว่า ศธ.จะยอมรับความจริงหรือไม่ และแก้ปัญหานี้อย่างไร!!

“หมอธี”นั่งรัฐมนตรีว่าการศธ.

ส่งท้ายปีวอกด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ ครม.บิ๊กตู่ 4 โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ล่าสุด ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยในส่วนของ ศธ.ให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.

ซึ่งการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ครั้งนี้ ดูเหมือนคนในแวดวงการศึกษาจะไม่ค่อยรู้สึกตื่นเต้นเท่าใดนัก เพราะไม่มั่นใจว่า นพ.ธีระเกียรติจะขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เดินหน้าต่อไปอย่างไร จะลุยสะสางปัญหาทุจริตภายใน ศธ.ที่คั่งค้างอยู่ต่อไปหรือไม่ และจะเรียกความมั่นใจจากผู้คนในแวดวงการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ไม่ได้มีผลงาน ขณะที่ ม.ล.ปนัดดาเองก็เติบโตมาจากการเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา

ก็ต้องติดตามว่า นพ.ธีระเกียรติ และ ม.ล.ปนัดดา จะลบคำสบประมาท และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในแวดวงการศึกษาไทยได้หรือไม่!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image