“ตู้จับโกหกอวาทาร์” สามารถตรวจจับการพูดเท็จได้สูงถึงเกือบ 90%

ภาพจาก Aaron Elkins

อารอน เอลกินส์ รองศาสตราจารย์ประจำซานดิเอโก สเตต ยูนิเวอร์ซิตี้ ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “ตู้จับโกหก” ที่มีขีดความสามารถในการตรวจจับการพูดเท็จของคนเราได้สูงถึงเกือบ 90% ทั้งๆ ที่แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกมาจากสถาบันเพื่อการรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุด ยังสามารถชี้ตัวคนที่พูดเท็จ หรือให้การด้วยข้อความที่ไม่เป็นความจริงได้เพียงแค่ 54% เท่านั้นเอง

ข้อเท็จจริงในการใช้คนทำหน้าที่จับโกหกดังกล่าวนั้น สร้างปัญหามากมายให้กับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่มีภารกิจในการจัดการกับอาชญากรหรือนักค้าของเถื่อนที่ปฏิบัติการข้ามประเทศ

ตู้จับโกหกของเอลกินส์มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “ออโตเมท เวอร์ฌ่วล เอเยนต์ ฟอร์ ทรูธ แอสเซสเมนต์ อิน เรียล-ไทม์” เรียกย่อๆ ว่า “อวาทาร์” ทำงานโดยอาศัยชุดเซ็นเซอร์จำนวนหนึ่งกับโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ในการทำหน้าที่เก็บข้อมูลและวิเคราะห์การแสดงออกต่างๆ ของร่างกายที่แตกต่างกันออกไปหลายร้อยรูปแบบที่แสดงนัยถึงการโกหก หรือให้ข้อมูลที่บิดเบือน เพื่อนำมาประมวลแล้วให้คะแนนเป็นค่าการประเมินความเสี่ยงว่ามีโอกาสที่จะโกหกมากน้อยแค่ไหน คะแนนการประเมินจะถูกส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งประจำการอยู่ในจุดดังกล่าวเพื่อดำเนินการต่อไป

เนื่องจากกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเพียง 1-2 นาที ตู้จับโกหกของเอลกินส์จึงสามารถช่วยให้กระบวนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดนหรือท่าอากาศยานหรือด่านศุลกากรรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก

Advertisement

ตู้จับโหกอวาทาร์ ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการทดลองใช้งานในสถานการณ์จริงมาตั้งแต่ปี 2012 มีขั้นตอนการทำงานง่ายๆ เริ่มต้นจากการที่นักท่องเที่ยวเดินเข้ามาใช้งานตู้ที่มีลักษณะเหมือนตู้คีออสก์ทั่วไป จัดการสแกนบัตรแสดงตัว อาทิ พาสปอร์ต หรืออื่นๆ จากนั้นก็ตอบคำถามของ “เจ้าหน้าที่เสมือน” ที่จะปรากฏขึ้นบนจอของตู้ เริ่มตั้งแต่คำถามพื้นฐานต่างๆ อาทิ ชื่ออะไร? เดินทางไปไหน? เดินทางไปเพื่อทำธุรกิจหรือท่องเที่ยว? ได้วีซ่ามาอย่างไร?

เอลกินส์ชี้ว่า เจ้าหน้าที่เสมือนจะยังคงใช้น้ำเสียงเดียวกันตลอดการสอบถาม ไม่ใช้น้ำเสียงคุกคาม ไม่แสดงออกถึงการตัดสินล่วงหน้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาจากนักเดินทางที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอและเป็นธรรมชาติ โดยในการทดลองภาคสนามที่เมืองโนกาเลส ในประเทศเม็กซิโกในปี 2012 อาสาสมัครที่เข้ารับการทดลองใช้งานตู้จับโกหก ยอมรับว่าชอบการโต้ตอบกับตู้จับโกหกมากกว่าการสนทนากับเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวบุคคลด้วยซ้ำไป

เมื่อนักเดินทางตอบคำถามต่างๆ ดังกล่าวแล้ว เซ็นเซอร์ประเภทไม่ต้องใช้การสัมผัสจำนวนหนึ่งของตู้จับโกหกจะสแกนร่างกายส่วนต่างๆ ของนักเดินทางผู้นั้นไปเรื่อยๆ อาทิ กล้องความละเอียดสูงจะทำหน้าที่วิเคราะห์การแสดงออกทางสีหน้า, ไมโครโฟนความถี่สูงจะประเมินคำพูดที่นักเดินทางผู้นั้นพูด และตรวจจับวิธีการพูดโดยละเอียด, ระบบติดตามความเคลื่อนไหวของดวงตาจะตรวจจับทิศทางการจับตามอง รวมไปถึงอาการเปลี่ยนแปลงขนาดของลูกตา เป็นต้น

Advertisement

เอลกินส์ให้เหตุผลของการไม่ใช้เซ็นเซอร์แบบที่ต้องสัมผัสตัวผู้ใช้ อาทิ คลิปเซ็นเซอร์สำหรับหนีบนิ้วมือเพื่อตรวจจับชีพจนและเหงื่อ ว่า เพราะไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยาตอบสนองของนักเดินทาง ทำให้กระบวนการทั้งหมดเป็นธรรมชาติน้อยลง และเกิดความรู้สึกถูกครอบงำจากเครื่องจักร สร้างความเครียด ทำให้น้ำเสียงเปลี่ยนไปจนยากที่จะตรวจจับได้

หลังจากหมดคำถามในชุดคำถามพื้นฐานแล้ว เจ้าหน้าที่เสมือนในตู้จับโกหกจะเริ่มถามคำถามเพื่อการบ่งชี้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเอลกินส์ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด แต่ระบุว่าจะเป็นคำถามที่จะทำให้ใครก็ตามที่โกหกเริ่มอึดอัด ไม่สบายใจหรือวิตกขึ้นตามมา ทั้งนี้ แนวคำถามอาจปรับเปลี่ยนได้ตามเวลาจริงระหว่างกระบวนการ หรืออาจจะถามคำถามเดิมแต่ในรูปแบบการถามใหม่ เพื่อวิเคราะห์คำตอบว่าเหมือนเดิมหรือไม่ และในบางกรณีอาจขอให้นักเดินทางมองภาพ อาทิ ภาพพาสปอร์ต เพื่อใช้ควบคู่กับคำถามที่ถามได้ด้วย ตู้จับโกหกยังสามารถเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เสมือนเป็นหญิงหรือชาย และเปลี่ยนภาษาพูดไปตามภาษาของนักเดินทางรายนั้นๆ ได้อีกด้วย

หลังจากเสร็จกระบวนการถามซึ่งจะกินเวลา 1-2 นาทีแล้ว “อวาทาร์” จะประเมินค่าความเสี่ยงออกมาเป็นคะแนน หากคะแนนบ่งชี้ว่ามีการโกหกเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่จริงๆ จะเป็นผู้รับช่วงนำตัวบุคคลนั้นไปสอบสวนเพิ่มเติมต่อไป

เอลกินส์ระบุว่า ตู้จับโกหกยังต้องผ่านขั้นตอนอีกหลายขั้นตอนมาก ถ้าหากจะนำมาใช้ในท่าอากาศยานอย่างเป็นทางการ

แต่มีโอกาสสูงกว่าที่จะใช้ตู้เดียวกันนี้ช่วยในกระบวนการสมัครงานของบริษัท เพราะตู้จับโกหกสามารถบ่งชี้ได้ว่า บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งงานของบริษัทมากกว่าบุคคลอื่นๆ หรือไม่นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image