นาซาเผย 3 ดาวหางเฉียดใกล้โลก รับศกใหม่

ภาพจาก NASA-JPL/Caltech

พอล โชดาส หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำ ห้องปฏิบัติการเจ็ทโพรพัลชั่น ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า โครงการ “นีโอไวส์” หรือโครงการเพื่อการสำรวจอวกาศด้วยแสงอินฟราเรดสำหรับใช้ตรวจหาดาวหางและดาวเคราะห์น้อย ตรวจสอบพบว่า ในช่วงปีใหม่นี้จะมีดาวหางอย่างน้อย 3 ดวงมาเยือนโดยการโคจรเฉียดโลกเข้ามาในระยะใกล้

ดวงแรกนั้นปรากฏให้เห็นในท้องฟ้ามาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมปี 2015 แต่จะยังคงเห็นได้ผ่านกล้องดูดาวหรือกล้องส่องทางไกลไปในพื้นที่ของท้องฟ้าบริเวณใกล้กับดวงจันทร์ นั่นคือ ดาวหาง 45พี/เอชเอ็มพี โดยผู้ที่ใช้กล้องดูดาวอาจเห็นดาวหางสีออกฟ้าแกมเขียว ที่มีหางบางๆ แผ่ออกเหมือนพัด

ดวงที่ 2 นั้น “นีโอไวส์” ตรวจสอบพบเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา แต่จะโคจรเข้ามาใกล้จนสามารถมองเห็นได้จากซีกโลกตอนเหนือตั้งแต่สัปดาห์แรกของปี 2017 นี้ คือ ดาวหาง “ซี/2016 ยู1 นีโอไวส์” ดาวหางดวงนี้จะเคลื่อนไปทางใต้เรื่อยๆ ทุกวัน และจะเข้าไปถึงจุดที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดคือภายในวงโคจรของดาวพุธในวันที่ 14 มกราคมนี้

ดวงสุดท้ายคือ “2016ดับเบิลยูเอฟ9” นีโอไวส์ตรวจสอบพบมันเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2016 เป็นเทหวัตถุสีดำ ขนาดค่อนข้างใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 0.5-1 กิโลเมตร นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักว่าจะถือว่ามันเป็นดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อย เนื่องจากเมื่อวิเคราะห์วงโคจรแล้วพบว่ามันน่าจะเกิดในบริเวณที่ชุมนุมของดาวเคราะห์น้อยซึ่งเรียกว่า แอสเทอรอยด์เบลท์ แต่ไม่ปรากฏส่วนหางที่เป็นแก๊สหรือฝุ่นผงใดๆ เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์

Advertisement

“2016ดับเบิลยูเอฟ9” จะโคจรเข้ามาอยู่ในวงโคจรของโลกในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2017 ที่ระยะห่าง 51 ล้าน กม.

และชาวโลกสบายใจได้ ดาวหางทั้งหมดเหล่านี้ “ไม่ถือเป็นภัยคุกคามต่อโลกแต่อย่างใด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image