มองทิศทางเทคโนโลยี จาก “ซีอีเอส2017”

เริ่มต้นศกใหม่ในทุกๆ ปี จะมีงานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่โตที่สุดงานหนึ่งของโลกขึ้นที่นครลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา เรียกกันง่ายๆ ว่างานซีอีเอส เช่นเดียวกับในปี 2017 นี้ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา “คอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ โชว์” ในทุกปีจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงหลายอย่าง รวมทั้งทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในแต่ละหมวดหมู่ ซึ่งน่าสนใจอย่างมากไม่เพียงสำหรับผู้บริโภคทั่วไปแต่ยังรวมไปถึงผู้ที่สนใจติดตามเทรนด์ใหม่ๆ ของโลกเทคโนโลยีอีกด้วย

เครื่องรับโทรทัศน์

เครื่องรับโทรทัศน์เป็นส่วนสำคัญของซีอีเอสมาทุกปี ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแอลจี, ซัมซุง, โซนี่ และพานาโซนิค ต่างใช้งานนี้เป็นหลักในการอวดผลงานล่าสุด ล้ำหน้าที่สุดของตัวเอง แม้ว่าในปีนี้อาจไม่ได้เป็นปีที่มีอะไรหวือหวาให้ฮือฮากันมากมายนัก แต่จะเป็นปีของการ “ทำความคุ้นเคย” กับโทรทัศน์ความคมชัดในระดับ “4เค” ที่เปิดตัวกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยสนนราคาที่ถูกลง เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป้าหมายในปีนี้ของผู้ผลิตจึงเท่ากับเป็นความพยายามจูงใจให้ผู้บริโภคเชื่อว่า อัลตรา เอชดี หรือ 4เค คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับห้องนั่งเล่นสไตล์โมเดิร์นทั้งหลายนั่นเอง

ในส่วนของเทคโนโลยีในการสร้างภาพ มาตรฐานของในปีนี้อาจตกเป็นของ “เอชดีอาร์” (ไฮ-ไดนามิค เรนจ์) มากกว่า “ดอลบีวิชั่น” ด้วยการมาถึงของ “เอชดีอาร์10” ที่เชื่อกันว่าจะพบกันในผลิตภัณฑ์ของหลายบริษัท นอกจากนั้นยังจะมีแอนดรอยด์ทีวี ตั้งแต่โครมคาสต์, โรคุทีวี, ไทเซน และเว็บโอเอส มาอวดโฉมรุ่นล่าสุดด้วยเช่นเดียวกัน

Advertisement

รถยนต์อัตโนมัติ

อัตโนมัติในที่นี้หมายถึงรถยนต์ที่จัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีคนบังคับอีกต่อไป หมวดหมู่ใหม่ของรถยนต์พวกนี้ทำให้ค่ายรถแทรกตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของซีอีเอสตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน จนกลายเป็นส่วนหลักส่วนใหญ่ของงานไปในทุกวันนี้ สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็นกันในซีอีเอส 2017 ก็คือรถขับเคลื่อนด้วยตัวเองจะเป็นสิ่งที่สามัญชนได้สัมผัสมากยิ่งขึ้น ทำให้การได้นั่งรถประเภทนี้ “เกือบ” เป็นเรื่องปกติสามัญในปีนี้ ในเวลาเดียวกับที่ตัวรถยนต์เองก็จะพัฒนาไปอีกก้าวในเชิงเทคโนโลยี ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อกับโครงข่ายเซลลูลาร์เพื่อรับและส่งข้อมูลทั้งหลายได้ในเวลาเรียลไทม์อีกด้วย

ผลลัพธ์ที่เราจะได้จากการที่รถยนต์แปลงตัวเป็นเหมือนสมาร์ทโฟนเครื่องหนึ่งที่เชื่อมต่ออยู่กับโครงข่ายหรือคลาวด์อยู่ตลอดเวลา ก็คือ นอกจากตัวรถยนต์จะได้รับข้อมูลที่จำเป็น และแบ่งปันข้อมูลเหล่านั้นซึ่งกันและกันได้แล้ว ยังทำให้ตัวรถสามารถ “สื่อสาร” กับเจ้าของได้ ตั้งแต่เรื่องลมยางอ่อน ไปจนถึงกำหนดเวลาต้องเข้าศูนย์บริการ จนถึงข้อจำกัดในการขับขี่ต่างๆ อาทิ เขตซ่อมแซมหรือก่อสร้าง ที่ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทาง เป็นต้น

Advertisement

อุปกรณ์วีอาร์/เออาร์

อุปกรณ์สวมศีรษะสำหรับสร้างโลกเสมือนจริง (วีอาร์) และเสริมแต่งโลกแห่งความเป็นจริง (เออาร์) ถูกประโคมกันใหญ่โตมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็มีเพียงไม่กี่รายที่ผลักดันออกมาสู่มือผู้บริโภคได้ ในปีนี้เราจึงน่าจะได้เห็นระลอกแรกของอุปกรณ์วีอาร์สำหรับคอนซูเมอร์ในงานซีอีเอส ที่จะมุ่งเน้นไปที่ฟีเจอร์ “ทดลอง” ต่างๆ อาทิ “อินไซด์-เอาต์ แทร็กกิ้ง”, การควบคุมด้วยมือ และฟอร์แมทออลอินวัน เป็นฮาร์ดแวร์ชิ้นเดียวบนแพลตฟอร์มที่ได้รับการยอมรับอย่าง “ริฟท์แอนด์ไวฟ์” เป็นต้น เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมสำหรับโลกเสมือนจริงในอนาคต ของผู้ผลิตอย่าง โอคูลัส (ที่เฟซบุ๊กซื้อกิจการไปแล้ว), เอชทีซี ไวฟ์ เฮดเซต หรือ เวอร์ทัวซ์ ออมนิ เป็นต้น

ในส่วนของเออาร์ เราอาจได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่เดิมยังอยู่ในแวดวงของมืออาชีพ แวดวงอุตสาหกรรม ก้าวออกมาสู่ผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น แม้จะยังต้องรออีกหลายปีก็ตาม

โดรน

โดรนในซีอีเอส 2017 จะพัฒนาไปกว่าเดิมยิ่งขึ้นทั้งในด้านรูปลักษณ์, ขนาดและความสามารถ คาดกันว่าเราจะได้เห็นโดรนที่สามารถบิน “ในร่ม” ที่หมายถึงในตัวอาคารได้อย่างไม่มีที่ติ โดรนที่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เพื่อแข่งความเร็วกัน เรื่อยไปจนถึงโดรนที่สามารถ “ดำน้ำได้” เป็นต้น

“ดีเจไอ” ยังครองตลาดโดรนอยู่อย่างเหนียวแน่น “แฟนธอมโดรน” ของดีเจไอยังคงมีฟีเจอร์หลายอย่างให้ค่ายอื่นๆ จับตาและพัฒนาตามให้ทัน แนวโน้มที่สำคัญสำหรับปีนี้ก็คือ ราคาโดยรวมๆ จะถูกลง

ไวร์เลส ออดิโอ

ระบบเสียง ไม่ว่าจะเป็นชุดลำโพงหรือหูฟังทั้งหลายจะกลายเป็น “ไร้สาย” ไปเสียส่วนใหญ่หากไม่ใช่ทั้งหมดในซีอีเอส 2017 ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้เทคโนโลยีใหม่ แต่แรงผลักดันของตลาดมีมากเหลือหลาย หลังจากแอปเปิล ตัดสินใจโยนสายออดิโอทิ้ง ตัดช่องเสียบหูฟัง 3.5 นิ้วทิ้งไปในไอโฟนรุ่นล่าสุด ว่ากันว่าในแต่ละเดือนหูฟังไร้สายสำหรับไอโอเอสขายกันอยู่ที่ 10 ล้านชุดเลยทีเดียว

การกลับมาของพีซี?

เทรนด์ที่น่าสนใจประการหนึ่งในปีนี้ก็คือ การที่พีซีหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ทั้งแบบตั้งโต๊ะและที่เป็นโน้ตบุ๊ก กลับมา “น่าสนใจ” อีกครั้ง ด้วยแรงผลักดันจาก 3 ปัจจัย ก็คือ พัฒนาการของซีพียูและจีพียู จากทั้งอินเทลและเอ็นวิเดีย อย่าง “แคบบีเลค” และ “จีทีเอ็กซ์1050” ที่ทำให้พีซีมีขนาดเล็กลง และทำให้เกิดปัจจัยที่ 2 ตามมาคือผู้ผลิตสามารถออกแบบพีซีให้อยู่ในหลากหลายรูปแบบได้ในขณะที่สมรรถนะสูงขึ้น ปัจจัยสุดท้ายก็คือ พีซียุคใหม่นี้รองรับการทำงานร่วมกับอุปกรณ์เวอร์ชวลเรียลิตี้ (วีอาร์) ได้ทันที

ในขณะที่ทิศทางของราคาก็น่าจะต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์ หรือ 35,000 บาทอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image