“อดีตนายกฯชวน”นำอดีตส.ส.ตรัง ลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม

“ชวน” พร้อม อดีต ส.ส. ตรัง ลงพื้นที่ เยี่ยม-ให้กำลังใจ ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม จ.ตรัง

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.จังหวัดตรัง และ ทีมงานประชาธิปัตย์ ตรวจเยี่ยมชาวบ้านร้านค้า ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ในพื้นที่ หน้าวัดกระพังสุรินทร์ บริเวณวัดแจ้ง ชุมชนควนขนุน ต.ทับเที่ยง เขตเทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง

โดย นาย สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ระบุว่า โดยได้มีการแจกน้ำดื่มบรรเทาทุกข์ ยาป้องกันน้ำกัดเท้า และเพื่อเป็นกำลังใจแก่ครอบครัวที่ประสบภัย พบกับหลายคณะหลายทีมที่ช่วยบรรเทาทุกข์ เช่นทีมเทศบาลตำบลโคกหล่อ ทีมธนาคารเพื่อการเกษตร ที่มามอบถุงยังชีพ ซึ่งระหว่างทางเดินสำรวจน้ำท่วมหยอกเล่นกับเด็กๆ ในชุมชนที่กำลังวิ่งเล่นน้ำ และลอยน้ำอยู่ในกะละมัง อย่างสนุกสนาน เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา

ขอบคุณภาพจาก สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล
ขอบคุณภาพจาก สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล

จากนั้นคณะนายชวน หลีกภัย พร้อมด้วย นายวรรณรัตน์ ทองสมาน อายุ 61 ปี ชาวบ้าน ม.1 ต.ควนธานี อ.กันตัง จ.ตรัง และผู้บริหาร อบต.ควนธานี ได้รุดลงพื้นที่หลังชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบมาจากความมักง่ายของผู้รับเหมาที่ซ่อมแซมสะพานท่าแก้มดำชำรุด ทิ้งซากปรักหักพังและวัสดุเสาซิเมนต์ เหล็ก ปูนจำนวนมากขวางทางน้ำทำให้ไหลไม่สะดวก นายชวน ได้รับปากว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างเร็วที่สุดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน และต้องขอฝากนายศิริพัฒ พัฒกุล ผวจ.ตรัง สั่งกำชับไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการใช้กฎหมายวางกรอบเรื่องผังเมือง ที่ผ่านมาการใช้กฎหมายหละหลวม ใครนึกอยากจะถมที่ถมทางตรงไหนก็ได้ จึงกลายเป็นปัญหาส่งผลให้เกิดน้ำท่วมระบายไม่ทัน

Advertisement

นายวรรณรัตน์ เผยว่า ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา เมื่อมีฝนตกหนักและมีน้ำท่วมชุมชนแห่งนี้ได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร และไหลระบายช้ามาก ต้องใช้เวลานานนับสัปดาห์ ซึ่งเป็นเพราะได้รับผลกระทบมาจากความมักง่ายของผู้รับเหมาที่ซ่อมแซมสะพานท่าแก้มดำชำรุด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ม.1 ต.โคกยาง ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่าง อ.เมืองตรัง และ ม.1 ต.โคกยาง อ.กันตัง เชื่อมต่อข้ามแม่น้ำตรัง ซ่อมเสร็จแล้วกลับทิ้งซากวัสดุ เช่น เสาซิเมนต์ เหล็ก ปูน จำนวนมากซึ่งขวางทางน้ำทำให้ไหลไม่สะดวก โดยไม่มีผู้ใดแก้ไขและแสดงความรับผิดชอบ ปล่อยให้ชาวบ้านรับชะตากรรมเพียงลำพังมานานหลายปี โดยก่อนที่จะมีสะพานฯแห่งนี้ชำรุดและต่อมามีการซ่อมแซมน้ำก็ท่วมแต่ก็ไม่มากและใช้เวลาไม่นานก็ระบายหมด

ล่าสุดพบปริมาณน้ำได้ขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้นหลังมีฝนตกตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมาประกอบเป็นพื้นที่รับน้ำจาก อ.ทุ่งสง ทำให้พื้นที่รับน้ำสองฝั่งแม่น้ำตรัง โดยในพื้นที่ ต.ควนธานี อ.เมือง ถูกน้ำเข้าท่วมสูงกว่า 1 เมตร บ้านเรือนและพื้นที่เพาะปลูกจมอยู่ใต้บาดาลซึ่งก็ได้รับปากว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างเร็วที่สุดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน
ขณะที่โรงเรียนซึ่งอยู่ใกล้พนังกั้นแม่น้ำตรัง ซึ่งได้พังทลายลงเมื่อน้ำท่วมครั้งที่แล้ว และยังไม่มีการซ่อมแซม ทำให้น้ำเริ่มเข้าท่วมโรงเรียน คือ โรงเรียนคลองขุด น้ำก็ไหลเข้าท่วมโรงเรียนอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางคณะครู นักเรียน และเจ้าหน้าที่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าเก็บอุปกรณ์การเรียน การสอน ขึ้นสู่ที่ปลอดภัย และมีการสั่งปิดโรงเรียนอย่างไม่มีกำหนด
สำหรับ จ.ตรัง

ล่าสุด จังหวัดมีการประกาศ 6 อำเภอ เป็นเขตภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว คือ อ.นาโยง,รัษฎา ห้วยยอด อ.วังวิเศษ อ.กันตัง และ อ.เมืองตรัง โดยมีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตรภายในเวลา 2 ชั่วโมง ส่วนระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นหลายอำเภอ ทำให้ถนนเลี่ยงเมืองตั้งแต่สี่แยก อ.ต.ก.ไปจนถึงสี่แยกนาขา อ.เมือง ต้องปิดการจราจรเป็นระยะทางยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่ง จ.ตรัง มีผู้ประสบภัยน้ำท่วมรวม 12,050 คน ประชาชนเดือดร้อนจำนวน 43,052 คนและมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 คนคือ นายเดชา ฉิมมา อายุ 37 ปีอยู่บ้านเลขที่ 81 หมู่ที่ 7 ต.คลองปาง อ.รัษฎา จ.ตรัง

Advertisement

201701071928471-20041123135429

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image