09.00 INDEX ลักษณะยุทธศาสตร์ของโรดแมป เปลี่ยนจาก “รุก” มาเป็นระดับยัน

ในที่สุด “นักการเมือง” ก็เริ่มมีบทสรุป “ร่วม” ต่อประเด็นของ “โรดแมป”

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์

1 เรียกร้องให้คสช.รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ใน”โรดแมป”อย่างที่เรียกว่า “ปฏิญญานิวยอร์ค”

นั่นก็คือ เลือกตั้งในปลายปี 2560

Advertisement

ขณะเดียวกัน 1 แม้ว่าจะมีปัจจัยอันทำให้เกิดสภาวะคลาดเคลื่อน ก็พร้อมที่จะยอมรับ

นั่นก็คือ เลือกตั้งในต้นปี 2561 ก็ได้

ลองไปศึกษาท่าทีของ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล จากพรรคเพื่อไทย ลองไปศึกษาท่าทีของ

Advertisement

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์

ก็จะสัมผัสได้ว่า แทบไม่แตกต่างกัน

บทสรุปเช่นนี้เหมือนกับจะ “ยอมจำนน” เหมือนกับจะเป็นลักษณะ “การถอย”

แต่ต้องยอมรับว่าเป็นกระบวน “ถอยทางยุทธศาสตร์”

ภายในการถอย ไม่ว่าในการศึก ไม่ว่าในการเมือง ดำเนินไป 2 ลักษณะ

1 ถอยอย่างหนียะย่าย พ่ายจะแจ

1 ถอยอย่างผ่านกระบวนการสังเคราะห์มาแล้วอย่างรอบด้านจึงเป็นการถอยอย่างเข้าใจ

ถอยอย่างแรกนำไปสู่ “ความพ่ายแพ้”

ถอยอย่างที่ 2 เรียกได้ว่าเป็นการถอยอย่างเป็น”ฝ่ายกระทำ”เป็น “ฝ่ายเลือก”

จึงเป็นการถอยอย่างมีลักษณะ “สู้รบ”

มิได้เป็นการถอยอย่างหมอบราบคาบแก้ว มิได้เป็นการถอยอย่างหมดหนทางสู้

ทางการทหารจึงเรียกว่า “ถอยในทางยุทธศาสตร์”

การถอยของ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล การถอยของ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงสำคัญ

สำคัญต่อ “อนาคต” ในทาง “การเมือง”

นับแต่เหยียบบาทก้าว เข้าสู่เดือนมกราคม 2560 นั่นหมายถึงการนับ 1 ตาม”โรดแมป”

สภาพการณ์ทางการเมืองจึงเริ่มแปรเปลี่ยน

มิได้หมายความว่า “คสช.”จะอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายรุกเหมือนกับที่ดำรงอยู่หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

เพราะนี่คือการเข้าสู่หลักที่ 3

ปี 2560 จึงเป็นปีที่อยู่ในบรรยากาศแห่ง “การเลือกตั้ง” อันถือได้ว่าเป็นขั้นตระเตรียมในทาง “ความคิด”

บรรยากาศนี้เป็นคุณต่อฝ่าย”การเมือง”

บรรยากาศนี้กลายเป็น “ของแสลง” สำหรับ “นักลากตั้ง”ซึ่งแอบอิงอยู่กับ”อำนาจพิเศษ”ของกระบวนการ “รัฐประหาร”

“คสช.”กับฝ่าย”การเมือง”จึงอยู่ในลักษณะ”ยัน”กันและกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image