ไอบีเอ็มเผย 5 นวัตกรรม ที่จะเปลี่ยนชีวิตคนในอีก 5 ปีข้างหน้า

ในรายงาน “ไอบีเอ็ม ไฟว์ อิน ไฟว์” ฉบับล่าสุดของไอบีเอ็ม ได้แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมและความก้าวล้ำทางวิทยาศาสตร์ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งนางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็ม ไฟว์ อิน ไฟว์” หรือรายงาน 5 นวัตกรรมที่จะส่งผลกับชีวิตของคนเราในอีก 5 ปีข้างหน้าครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things) และนาโนเทคโนโลยี ในการช่วยมนุษย์แก้ไขปัญหาหรือสร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกับปัจจัยสำคัญรอบตัวอย่างที่ไม่เคยทำได้ในอดีต ทั้งเรื่องสุขภาพร่างกาย สิ่งแวดล้อม ตลอดจนกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ซึ่งล้วนสร้างประโยชน์อย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของเรา รวมไปถึงการยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น”

โดยนวัตกรรมและความก้าวหน้าดังกล่าว ประกอบด้วย 1.เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้เราสามารถทราบสุขภาพจิตของแต่ละคนได้จากรูปแบบถ้อยคำที่ใช้ โดยไอบีเอ็มระบุว่า ใน 5 ปีข้างหน้า สิ่งที่เราพูดและเขียนจะกลายเป็นเครื่องบ่งชี้สุขภาพกายและจิตของเรา ระบบค็อกนิทีฟจะสามารถวิเคราะห์แพตเทิร์นในคำพูดและสิ่งที่เราเขียน พร้อมระบุถึงสัญญานของโรคทางจิตและสมองขั้นต้นเพื่อช่วยให้แพทย์และคนไข้สามารถคาดการณ์ สอดส่อง และตรวจสอบความคืบหน้าในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.เทคโนโลยีไฮเปอร์อิมเมจจิงและปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้เราเห็นในสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้

ในอีก 5 ปี อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับภาพแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีไฮเปอร์อิมเมจจิงและปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นผ่านหลายช่วงความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ช่วยให้คนขับและรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองสามารถเห็นภาพรวมของท้องถนนและการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีไฮเปอร์อิมเมจจิงที่ใช้คลื่นภาพระดับมิลลิเมตรร่วมกับกล้องและเซ็นเซอร์ต่างๆ จะช่วยให้รถสามารถมองเห็นภาพข้างหน้าได้แม้ฝนตกหรือหมอกลงจัด สามารถบอกขนาด ระยะห่าง หรือแยกแยะว่าวัตถุที่อยู่ตรงหน้าเป็นขยะหรือสัตว์

Advertisement

3.มาโครสโคปจะช่วยให้เราเข้าใจความซับซ้อนของโลกได้อย่างไม่จำกัด

ในอีก 5 ปีข้างหน้า สิ่งที่เรียกว่า “มาโครสโคป” นี้จะไม่ได้แค่ช่วยให้เราสามารถมองเห็นสิ่งเล็กๆ ได้เหมือนกล้องจุลทรรศน์หรือมองเห็นสิ่งที่อยู่ไกลออกไปได้เหมือนกล้องโทรทรรศน์ แต่จะเป็นซอฟต์แวร์และอัลกอริธึ่มแมชชีนเลิร์นนิ่งที่จะเข้ามาช่วยถอดรหัสข้อมูลมหาศาลที่ซับซ้อนของโลก และเมื่อผนวกรวมกับข้อมูลสภาพอากาศ สภาพดิน ระดับน้ำ และระบบชลประทาน จะช่วยให้เกษตรกรในอนาคตสามารถทราบว่าควรปลูกพืชชนิดใด ที่ไหน จะทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตสูงสุดโดยใช้น้ำน้อยที่สุด

4.ห้องแล็บที่ “อยู่ในชิป” จะทำหน้าที่เป็นเครื่องตรวจจับร่องรอยเชื้อโรคในระดับนาโนสเกล

Advertisement

ใน 5 ปีข้างหน้า ห้องแล็บที่ถูกย่อส่วนให้อยู่ในชิปจะทำหน้าที่เป็นเครื่องตรวจสุขภาพนาโนเทคโนโลยี ทำหน้าที่ตรวจจับเงื่อนงำที่มองไม่เห็นที่อยู่ในของเหลวในร่างกายเรา และแจ้งให้เราทราบทันทีหากควรต้องพบแพทย์ เป้าหมายคือการทำห้องวิจัยชีวเคมีเต็มรูปแบบให้อยู่ในขนาดเท่าแผ่นชิปซิลิคอนหนึ่งแผ่น เพื่อใส่ไว้ในอุปกรณ์แบบพกพาต่างๆ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบตัวเองได้จากของเหลวจากร่างกายในปริมาณเพียงน้อยนิด ก่อนที่จะส่งข้อมูลผ่านคลาวด์ ร่วมกับข้อมูลจากอุปกรณ์อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์อื่นๆ เช่น เครื่องตรวจคุณภาพการนอนหลับและสมาร์ทวอตช์ เพื่อให้ระบบปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์และตรวจหาสัญญาณของโรคต่างๆ

5.สมาร์ทเซ็นเซอร์จะสามารถตรวจจับมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้ในระดับความเร็วแสง

ในอีก 5 ปี เทคโนโลยีตรวจจับแบบใหม่จะได้รับการติดตั้งใกล้บ่อแยกก๊าซธรรมชาติ รอบๆ หน่วยจัดเก็บและตลอดแนวท่อก๊าซ เพื่อให้สามารถตรวจจับรอยรั่วที่มองไม่เห็นได้แบบเรียลไทม์ เครือข่ายของเซ็นเซอร์ไอโอทีจะเชื่อมต่อกับคลาวด์เพื่อสอดส่องความผิดปกติภายในเวลาไม่กี่นาทีแทนที่จะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ช่วยลดมลภาวะและเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image