‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ เหลียวหลัง แลหน้า “การเมืองไทย”

บรรยากาศทางการเมืองใน “สถานการณ์พิเศษ” ดำเนินเข้าสู่ปีใหม่ 2560 นับจาก 22 พฤษภาคม 2557 โดยรัฐบาล คสช.ใช้เวลาบริหารประเทศไปแล้วกว่า 2 ปี อีกไม่นานรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ 7 กันยายน 2559 ก็จะมีผลใช้บังคับ หากนับจากโรดแมป 3 ระยะของ คสช. ณ วันนี้ก็ถือว่าเข้าใกล้ระยะที่ 3 เข้าไปทุกขณะเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

การเมืองไทยในปี 2560 จึงเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในระยะเปลี่ยนผ่านประเทศ ขณะเดียวกัน ปี 2560 ยังเป็นปีที่ น.ส.พ.มติชนรายวัน ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 40 พอดิบพอดี

เป็นก้าวย่างสู่ 40 ปีที่ “มติชน” ร่วมผ่านร้อนหนาว ผ่านมรสุมรอบทิศเคียงคู่มากับการเมืองไทยที่หมุนวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการเลือกตั้งได้รัฐบาล สลับขั้วทางการเมือง ชุมนุมยืดเยื้อ ตลอดจนการทำรัฐประหารยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ

จึงถือโอกาสชวน “ประจักษ์ ก้องกีรติ” นักวิชาการหนุ่มจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทย มาร่วมเหลียวหลัง 40 ปีการเมืองไทย และวิเคราะห์อนาคตการเมืองไทยหลังมีกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

Advertisement

ในวันที่ “มติชน” วางแผงขาย การเมืองไทยเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ในบริบทแบบไหน

หนังสือมติชนกำเนิดหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถือเป็นยุคมืดของสังคมไทย คนไร้ความหวัง ผู้คนจำนวนมากต้องลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ เพราะเพิ่งเกิดการสังหารหมู่กลางเมือง นักศึกษาจำนวนมากถูกไล่ล่าจนไม่มีทางเลือก จำนวนหนึ่งถูกผลักให้เข้าป่าไปต่อสู่ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เกิดเป็นสงครามการเมืองยืดเยื้อหลายปี นักวิชาการหัวก้าวหน้า หรือแม้แต่คนที่มีแนวคิดเสรีนิยมกลางๆ ในรุ่นนั้นหลายคนอยู่ไม่ได้ ต้องลี้ภัยไปสอนหนังสือต่างประเทศ หรือบางคนก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย ขณะที่งานวิชาการต่างประเทศในช่วงนั้นต่างวิเคราะห์การเมืองไทยว่า จะแตกเป็นเสี่ยงๆ ท่ามกลางบริบทโลกที่ยังปั่นป่วนจากสงครามเย็น และการต่อต้านคอมมิวนิสต์อยู่

ขณะที่การเมืองไทยเป็น 40 ปีที่ค่อนข้างมีความเปลี่ยนแปลงสูงมาก การเมืองไทยมีความผันผวน หากมองย้อนกลับไปก็คงไม่มีใครคาดเดาได้ว่าการเมืองไทยจะเดินมาถึงจุดนี้ เพราะการเมืองไทยคาดเดาลำบาก ใครคาดการณ์อะไรไว้ล่วงหน้าผิดหมด ต่อให้เป็นนักข่าวที่คว่ำหวอดขนาดไหน เป็นนักวิชาการที่ศึกษาการเมืองมามากขนาดไหน เวลาทำนายการเมืองไทยมักจะผิดเสมอ เป็นเรื่องยาก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมักหักปากกาเซียน เพราะทุกๆ 5-6 ปี จะเกิดความเปลี่ยนแปลง

Advertisement

เหตุหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้มองว่าการเมืองไทยเป็นเรื่องที่คาดการณ์ยาก

เหตุที่คาดเดาลำบาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างซับซ้อน โดยปัจจัยใหญ่ๆ ก็เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง ทั้งการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนในแง่กฎกติกาทางการเมือง อย่างการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

นอกจากปัจจัยเชิงโครงสร้างแล้ว ยังพบอีกว่า หลายครั้งๆ ที่ผ่านมา การเมืองเปลี่ยน เพราะปัจจัยเรื่องตัวบุคคล การตัดสินใจของตัวบุคคลแค่ไม่กี่คนได้นำไปสู่การเปลี่ยนทิศทางทางการเมือง ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นตัวสะท้อนที่ทำให้เห็นการกระจุกตัวกันของอำนาจที่อยู่ในตัวบุคคลเพียงไม่กี่คนอยู่สูงมาก เมื่อคนเหล่านี้มีข้อตกลงอะไรกันบางอย่าง หรือตัดสินใจอะไรบางอย่าง มันมีผลทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนได้

นี่จึงเป็นเหตุที่การเมืองไทยพลิกผันเร็ว

ใครจะไปคิดว่าหลังการสังหารหมู่กลางเมืองไม่นาน เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่มีเนื้อหาค่อนข้างประนีประนอมออกมาบังคับใช้ อยู่ดีๆ ก็เกิดประชาธิปไตยครึ่งใบ ได้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ มีการดำเนินนโยบาย 66/23 ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักศึกษาที่เข้าป่า ไม่นานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลายแพ้ให้กับรัฐไทยในปี 2526 พล.อ.เปรมอยู่ได้ 8 ปี ผลปรากฏว่า พอเข้าปี 2531 ก็เกิดกระแสขึ้นในสังคมว่า เบื่อ ไม่เอาแล้ว พล.อ.เปรม จึงต้องลงจากอำนาจไป

จากนั้นก็เข้าสู่ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ บริหารประเทศโดยมีทีมบ้านพิษณุโลกอันเป็นที่รวมตัวกันของคนหัวก้าวหน้ามากำหนดนโยบาย ซึ่งคนเหล่านี้ ต่อมาก็ได้ชื่อว่า เป็นคนดีมีชื่อเสียงทั้งนั้น ไม่ว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นต้น

ตอนนั้นคนทั่วไปรู้สึกว่าการเมืองไทยกำลังเคลื่อนจากประชาธิปไตยครึ่งใบไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว ทหาร ข้าราชการ ถอยออกไปจากการเมือง เป็นยุคที่มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลพลเรือน แต่ปรากฏว่ารัฐบาลชาติชายอยู่ได้เพียง 2 ปีกว่า เจอข้อหา “บุฟเฟ่คาบิเน็ต” ถูก รสช.รัฐประหาร ทหาร ข้าราชการกลับมามีบทบาท โดยมีข่าวออกมาจากงานเลี้ยงหลังยึดอำนาจเป็นคำพูดของผู้นำ รสช.คนหนึ่งว่า “ตอนนี้ในเมืองไทยเราควบคุมได้หมดแล้ว ยกเว้นดวงดาว และพระจันทร์”

18

ขณะเดียวกันก็มีวาทะเด็ด จาก พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้า รสช. หลังถูกถามว่า จะให้ใครเป็นนายกฯ พล.อ.สุนทรก็ตอบว่า “ไม่สุก็เต้ ถ้าสุไม่เอาก็ให้เต้” ทั้งหมดเป็นการสะท้อนว่า รสช.ต้องการอยู่ในอำนาจยาวๆ แต่ใครจะไปคาดคิดว่า เมื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นมาเป็นนายกฯเอง อยู่ๆ กระแสไม่เอานายกฯคนนอกก็ดังขึ้น ชนชั้นกลางรับไม่ได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ตอน รสช.ยึดอำนาจชนชั้นกลางยังตบมือยินดีอยู่เลย

ทำไมอยู่ๆ กระแสไม่เอา “นายกฯคนนอก” ของ “ชนชั้นกลาง” ยุคนั้นถึงมีพลัง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นยังยินดีที่ รสช.โค่นรัฐบาล พล.อ.ชาติชายได้

ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า กระแสทางการเมืองของคนชั้นกลางในเมืองเป็นสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะมักจะติดตามการเมืองแบบวูบวาบ พอโค่นรัฐบาลที่ถูกข้อครหาบุฟเฟ่คาบิเน็ตออกไปก็เป็นกระแสดีใจ แต่พอ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เสียสัตย์เพื่อชาติ จะเข้ารับตำแหน่งเองก็เกิดความกลัว และมองว่ารับไม่ได้เป็นการรัฐประหารเพื่อตัวเอง

ยุคนั้นเศรษฐกิจเริ่มเปิดด้วย ในระดับโลกสงครามเย็นเพิ่งสิ้นสุด สหภาพโซเวียตพึ่งล่มสลาย กำแพงเบอร์ลินเพิ่งแตก เมืองไทยจึงกำลังเห่อกับยุคที่เศรษฐกิจกำลังรุ่งเรือง ตลาดหุ้น มีการค้าการลงทุนสูง จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ อ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เรียกว่า “ม็อบมือถือ” ออกมารวมตัวประท้วง เพราะรับไม่ได้ที่จะถอยหลังกลับไปในยุคที่มีทหารมาปกครองอีก

เหตุการณ์วุ่นวายจนเข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2535 ทุกกลุ่มออกมาแสดงพลังอย่างพร้อมเพรียงกัน นักศึกษา เอ็นจีโอ นักธุรกิจ ชนชั้นกลางในเมือง แรงงาน จนเกิดเป็นม็อบใหญ่ที่มาจากหลากหลายอาชีพ ทำให้ รสช.ต้องลงจากอำนาจแบบจบไม่สวย เพราะอยู่ในอำนาจได้ไม่ถึงปี ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้นก็เกิดเป็นกระแสปฏิรูปการเมืองขึ้น จนในที่สุดนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ทำไมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จึงคลอดออกมา โดยไม่มีแรงต้านออกมาจากเครือข่ายอำนาจเดิมที่ได้ประโยชน์จากรัฐทหาร ข้าราชการ

เพราะวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ดุลทางอำนาจเปลี่ยน รัฐธรรมนูญ 2540 จึงคลอดออกมาได้ง่ายกว่าที่คิด หากไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจจะต้องมีแรงต้านออกมามาก เพราะต้องไม่ลืมว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 ไปลดอำนาจเจ้าพ่อท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจ ลดอำนาจของกระทรวงมหาดไทยลง แต่หลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 บังคับใช้ก็อย่างที่ทราบกันดี เมื่อตั้งหลักกันใหม่ได้ การเมืองไทยก็ผันผวนรุนแรง จากวันนั้นมาถึงตอนนี้ เราเปลี่ยนรัฐบาลนับไม่ถ้วน ทั้งๆ ที่เคยคิดกันว่าการมาของรัฐธรรมนูญ 2540 จะทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ เป็นรัฐธรรมนูญธงเขียว คนมีส่วนร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ปรากฏว่าเสถียรภาพไม่มี การประท้วงบนท้องถนนก็กลับมา เกิดการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญไปถึง 2 ครั้งแล้ว หากนับเฉพาะ 40 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสูงมาก สอน 1 เทอมก็ไม่จบ

มองกันว่า คสช.พยายามเปลี่ยนผ่านประเทศ โดยพาการเมืองไทยย้อนกลับไปในช่วง 40 ปีที่แล้ว

เพราะระบอบ คสช.เป็นระบอบที่ใช้อำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านแบบจอมพลสฤษดิ์ เพื่อนำไปสู่การสถาปนาการเมืองแบบ พล.อ.เปรม ในระยะยาว กล่าวคือ หลังการยึดอำนาจ การบริหารประเทศก่อนมีรัฐธรรมนูญ คสช.ใช้อำนาจแบบจอมพลสฤษดิ์ มีมาตรา 44 เหมือนมาตรา 17 ห้ามพรรคการเมืองหรือภาคประชาชนเคลื่อนไหวทำกิจกรรม มีการใช้อำนาจอย่างเข้มข้นในการจับปราบ ปิดกันการแสดงออกของประชาชน โดยมีทหารเป็นผู้กุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งอำนาจบริหาร และนิติบัญญัติ แต่การจะใช้อำนาจอย่างเข้มข้นเช่นนี้ตลอดไปคงไม่ได้ ผู้นำทหารยุคนี้รู้ดีว่าจะอยู่นาน 16 ปีโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน แบบจอมพลสฤษดิ์คงไม่ได้ ด้วยบริบทโลก หรือแม้แต่บริบทสังคมไทยเองก็ไม่ได้ เมื่อต้องการจะอยู่ในอำนาจต่อ แต่อยู่แบบจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ก็ต้องคลายอำนาจลงด้วยการสร้างระบอบการปกครองที่มีความชอบธรรม ได้รับการยอมรับจากสังคมโลกมากกว่าเดิม จึงต้องปรับให้หน้าฉากเป็นประชาธิปไตยระดับหนึ่งด้วยการทำคลอดรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง เปิดให้พรรคการเมืองกลับมาทำกิจกรรมทางการเมือง คืนสิทธิเสรีภาพประชาชนระดับหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขในการคงอำนาจของกลุ่มทหาร ข้าราชการไว้ ควบคู่กับการสร้างสถาบันทางประชาธิปไตยที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 เป็นต้นแบบเพื่อนำพาการเมืองกลับไปใน “ยุคเปรมโมเดล” นั่นเอง

เอาเข้าจริง 8 ปีของ พล.อ.เปรม ก็ไม่ได้ราบรื่นเกิดวิกฤตทางการเมืองหลายครั้ง

ใช่ มีความพยายามในการยึดอำนาจ โดยกลุ่มยังเติร์ก จปร.7 แต่ไม่สำเร็จ รวมไปถึงมีความพยายามในการลอบสังหาร พล.อ.เปรมด้วย

ยุคนั้นยังไม่ราบรื่นแล้วปัจจุบันจะราบรื่นได้อย่างไร

มันยาก ยิ่งปัจจุบันการต่อสู้ทางการเมืองเข้มข้นกว่ายุคสมัยนั้นเยอะมาก การเมืองมวลชนเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นแล้ว ยุค พล.อ.เปรม การเมืองมวลชนอ่อน นักศึกษาอ่อนพลังลงไปตั้งแต่ 6 ตุลา ชาวนาก็ถูกปราบ กรรมกรก็ถูกกด ที่พอจะมีอยู่บ้างก็พวกเอ็นจีโอที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีพลังมาก เพราะเป็นงานพัฒนาชนบท ปัญหาสิ่งแวดล้อม เด็ก สตรี มากกว่า เมื่อมวลชนนอกสภาอ่อนแอ ไม่สามารถท้าทายผู้มีอำนาจ แค่ชนชั้นนำคุยกันลงตัวก็จบ ด้วยเหตุนี้ พล.อ.เปรมจึงรอดจากการถูกพวกยังเติร์กโค่นจากอำนาจ เพราะ กลุ่มธุรกิจระดับนำ หัวหน้าพรรคการเมืองชั้นนำ ยังแพคกันแน่น หนุน พล.อ.เปรมหมด แต่ตอนนี้มันเปลี่ยน การเมืองมวลชนมีหลายกลุ่ม อุดมการณ์ก็ต่างกัน ไม่มีทางที่จะกลับไปสู่ยุคที่ประชาชนทุกคนเป็นแค่ผู้อยู่อาศัยแบบเชื่องๆ อยู่นิ่งๆ ตลอดไปแล้ว ในแง่ภูมิทัศน์สื่อก็เปลี่ยนไปมีหลากหลายช่องทาง ยิ่งโลกออนไลน์ โลกโซเชียลคุมไม่ได้ พ.ร.บ.คอมพ์ จึงต้องออกมาบังคับใช้เพื่อควบคุมพื้นที่ออนไลน์ที่เป็นโลกของการสื่อสารแบบใหม่ที่รัฐปรับตัวไม่ทันจนควบคุมไม่ได้

ขณะที่ ระบบพรรคการเมืองก็เข้มแข็งกว่าเดิม ในยุค พล.อ.เปรม การเลือกตั้งแต่ละครั้งไม่มีพรรคไหนได้เสียงเกินครึ่ง เป็นพรรคเล็กพรรคน้อย โดยพรรคที่ได้อันดับหนึ่งได้ที่นั่งเพียง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ การจะตั้งรัฐบาล จึงต้องรวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากเพื่อตั้งรัฐบาลผสม ขณะที่ ส.ว.ก็มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดมีสิทธิร่วมโหวตเลือกนายกฯ แล้วยังมีอำนาจในการโหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้อีก เมื่อรัฐบาลอ่อนแอ ทหารและข้าราชการจึงคุมการเมืองได้ ใครมีปัญหามากก็ปรับออกจาก ครม. หยิบพรรคฝ่ายค้านอื่นมาร่วม ถ้าตกลงไม่ได้ก็ยุบสภาไปเลย เลือกตั้งใหม่กี่ครั้งก็ไม่มีใครได้คะแนนเกินครึ่ง เมื่อไม่มีใครบารมีถึง พล.อ.เปรมก็ถูกเชิญเป็นนายกฯ เป็นเช่นนี้อยู่ 8 ปี แต่ในยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นหมุดหมายสำคัญให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง พรรคการเมืองเข้มแข็งกว่าเดิมเยอะ

ในบริบทที่ผลการเลือกตั้งมีแนวโน้มเป็นของสองพรรคการเมืองใหญ่ มองการหยิบสูตรนายกฯคนนอกมาใช้ในบริบทนี้อย่างไร

การเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบที่มันตอบโจทย์ชนชั้นนำในยุคพล.อ.เปรมได้ เพราะมันอยู่บนฐานที่มีพรรคการเมืองอ่อนแอ และทะเลาะกันเอง แต่การเลือกตั้ง 4-5 ครั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองไทยมันเคลื่อนตัวเข้าสู่ระบบ 2 พรรคแล้ว ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้นำความเปลี่ยนแปลงทางสังคม จนคนรู้สึกว่า การเลือกพรรคเล็กพรรคน้อยมันไม่มีประโยชน์อีกต่อไป การเมืองเป็นการแข่งขันทางนโยบาย

ด้วยเหตุนี้ พรรคที่จะล้มหายจากไปตามกาลเวลาคือ พรรคที่ขายตัวบุคคล ไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจน แต่ยังเป็นระบอบอุปถัมภ์ท้องถิ่น ตามโมเดลของพรรคเจ้าพ่อท้องถิ่นสมัยโบราณ พรรคเหล่านี้จะค่อยๆเป็นพรรคเอสเอ็มอี หรือรัฐวิสาหกิจขนาดย่อยไปแล้ว เพราะพรรคอันดับหนึ่งกับ พรรคอันดับสอง ได้เสียงในสภารวมกัน 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือที่นั่งอีกนิดเดียวเท่านั้นให้แบ่งกันระหว่างพรรคเล็กๆเหล่านี้ ท่ามกลางบริบทแบบนี้ จะทำให้สูตร “นายกคนนอก” มีจุดสะดุดมากกว่าเดิม สมมติว่า เลือกตั้งใหม่ เพื่อไทยได้ สส.รวมกัน 40 กว่า%ไม่ได้ถึงครึ่ง ถูกผลักให้ไปเป็นฝ่านค้าน พรรคประชาธิปัตย์ และที่เหลือมารวมกันฟอร์มรัฐบาล สูตรนี้จะทำให้ฝ่ายค้านมีความเข้มแข็ง เวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลจะปิ่มน้ำพอสมควร โดย ส.ว.ที่มีส่วนร่วมเลือกนายกฯก็จะไม่มีส่วนช่วย ดังนั้นก็มีโอกาสกระเพื่อมได้ตลอดเวลา เพราะฝ่ายค้านเป็นเสียงที่มีความเป็นเอกภาพ ไหนจะมีสมรภูมิมวลชนอีก สมรภูมิสื่อ

ถ้ามองมุมกลับ หากพรรคเพื่อไทยได้เสียงที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จริง การดำรงอยู่ขอรัฐบาลจะเป็นอย่างไร

ก็ยาก เพราะ ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลภายใต้กติกานี้ก็ยากหมด เพราะรัฐธรรมนูญถูกออกแบบให้รัฐบาลอ่อนแอ ไม่ว่า เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือมีพรรคนอมินีของทหารเป็นรัฐบาลก็ทำงานลำบาก เพราะตัวรัฐธรรมนูญออกมาแบบมาโดยไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่การขึ้นสู่อำนาจของนายกฯคนนอกก็จะต้องอาศัยพรรคการเมืองและนักการเมืองส่งขึ้นไป เมื่อรัฐธรรมนูญมันออกแบบให้รัฐบาลต้องถูกกำกับตรวจสอบที่เกิดสมดุล รัฐบาลก็จะเป็นเป็ดง่อย ทำอะไรก็ถูกตรวจสอบร้องเรียน จะผลักดันนโยบายก็ต้องสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน และประชาชนเลือก แต่เมื่อเป็นรัฐบาลก็อาจจะผลักดันไม่ได้ เพราะขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ และเมื่อทุกพรรคต้องนำยุทธศาสตร์ชาติมาเป็นกรอบกำหนดนโยบาย การเลืองตั้งก็จะลดความหมายลด เพราะนโยบายของพรรคการเมืองจะไม่มีความหมาย อีกทั้งยังมีกลไกหลายอย่างที่ทำให้รัฐบาลแทบขยับอะไรไม่ได้เลย มีกับดักโดนเอาลงได้ตลอดเวลา ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน เสถียรภาพทางการเมืองเป็นสิ่งที่จำเป็น เราต้องการรัฐาลที่มีความสามารถในการบริหารประเทศมีความเข้มแข็งและต่อเนื่องมิเช่นนั้นจะลำบากมาก


สุดท้าย เห็นปัจจัยใดที่ท้าทายความพยายามของระบอบคสช.ในการสืบทอดอำนาจหลังจากนี้อย่างไร

ต้องเข้าใจว่า พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ ภายใต้สภาพที่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ตั้งแต่ต้น ไม่ได้ปกครองในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ และไม่เคยใช้อำนาจครั้งไหนแบบ จอมพลสฤษดิ์ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น พล.อ.เปรม จึงปรับตัวเข้าอยู่เกณฑ์ที่มีรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก สมมุติว่า ในอนาคตถ้ามีนายกฯ คนนอกจริง จะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ก็ตาม ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯคนนอก

คำถามหลังจากนี้ก็คือ แล้ว นายกฯคนนอก จะอยู่อย่างไร มันไม่ง่ายแล้ว มาตรา 44 ไม่มีแล้ว ต้องเจอการอภิปรายในสภา มีสื่อที่มีเสรีภาพมากกว่านี้ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเมืองมวลชนเริ่มกลับมา สภาฯก็ไม่ใช่แบบสนช.แล้ว การจะออกกฎหมายอะไรก็ไม่ง่ายแบบเดิมโดยที่ไม่มีส.ส.ในสภาคนไหนไม่ค้าน ในครม.ก็จะมีสัดส่วนของพรรคการเมือง การต่อรองแบบพรรคการเมืองจะกลับมา

ดังนั้น ผมจึงคิดว่าการรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ เปิดทางนายกคนนอก มันไม่ราบเรียบแบบยุค พล.อ.เปรม แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image