น่าห่วงใยการนำเสนอเรื่องศาสนาที่ไม่ถูกต้องบรรจุในเนื้อหาภาพยนตร์ : โดย กฤษณา พันธุ์วานิช

“พระพุทธศาสนาบริบูรณ์ด้วยสัจธรรมที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ในทุกรูปแบบ แต่จะต้องศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ภาวะปัจจุบัน ด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง จึงจะเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นได้” ความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ 17 ธันวาคม 2512

จากพระบรมราโชวาทดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงสื่อให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาจะเป็นประโยชน์ได้ต้องศึกษาและปฏิบัติให้อยู่ในแนวทางที่ถูก เป็นแบบอย่างที่ดี ยึดถือปฏิบัติให้เหมาะกับยุคสมัย ด้วยพลังแห่งปัญญาและศรัทธา

นั่นหมายความว่าทุกคนจะต้องสืบทอดพระพุทธศาสนาตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

เป็นที่น่าห่วงใยที่ในปัจจุบันภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่มักสร้างเรื่องราวให้มีพระภิกษุเป็นตัวแสดงเดินเรื่องให้เกิดความตลกขบขัน หรือเนื้อหาส่อในทางเรื่องของชู้สาว ซึ่งขัดต่อหลักของพระพุทธศาสนา ไม่เพียงการแต่งกายเลียนแบบพระภิกษุ แต่ยังมีการนำเสนอพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ในสื่อภาพยนตร์ที่มีการฉายเผยแพร่เป็นการทั่วไป ถึงแม้จะมีการจัดระดับอายุของคนดูแล้วก็ตาม ผู้บริโภคสื่อจะรับสื่อที่ดีและไม่ดีไปพร้อมกัน

Advertisement

ถ้าผู้ประกอบกิจการภาพยนตร์คำนึงถึงความสำคัญของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ พยายามไม่ไปสร้างภาพยนตร์ที่มีทั้งสามสถาบันนี้ในทางเสื่อมเสียจะเป็นการดีที่สุด ทุกศาสนาย่อมรักและหวงแหน คงไม่มีใครที่อยากเห็นศาสนาตนเองถูกลบหลู่ ประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาพุทธเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น เมื่อสื่อภาพยนตร์ที่นำเสนอในทางลบเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ก็ย่อมกระทบต่อจิตใจของคนที่นับถือศาสนาพุทธ

ในอีกแง่มุมหนึ่งการนำเสนอภาพยนตร์ที่ไม่สร้างสรรค์ในอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น การก่ออาชญากรรม เรื่องการใช้สารเสพติด พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการเลียนแบบมากมาย ที่เห็นชัดเจนคือการนำตัวแสดงแต่งกายเป็นพระภิกษุ แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งเด็กและเยาวชนเมื่อดูแล้วอาจรู้สึกตลกขบขัน และคิดว่าเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ถ้ามีผู้ใหญ่แนะนำก็ดีไป แต่ถ้าไม่มีก็จะเกิดผลกระทบต่อศาสนาพุทธในอนาคต เด็กและเยาวชนเข้าใจสิ่งผิดๆ ที่ได้จากการบริโภคสื่อภาพยนตร์

Advertisement

ผู้ประกอบกิจการภาพยนตร์อาจต่อต้านว่า แล้วจะให้สร้างภาพยนตร์ประเภทใดที่เหมาะกับคนดู ตัวอย่างภาพยนตร์ต่างประเทศที่ดีๆ หลายเรื่องที่มีเนื้อหาทำให้คนดูเกิดความพึงพอใจ หรือแม้ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่นำเสนอเรื่องราวที่มีแง่มุมที่ดี โดยไม่ต้องนำพระภิกษุมาเป็นตัวแสดงให้ตลกขบขันก็มีมากมาย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีพระภิกษุในภาพยนตร์ไม่ได้ มีได้แต่ควรมีการพิจารณาเนื้อหา การแสดง ภาษาที่ใช้ให้เหมาะสม ซึ่งมีหลายวิธีในการนำเสนอ

ไม่จำเป็นต้องนำเสนอในแง่ลบ ในด้านบวกก็สามารถนำเสนอให้ภาพยนตร์น่าสนใจได้

สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ ผู้สร้างภาพยนตร์พึงเรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับพระภิกษุ ไม่ควรสร้างภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ที่ขัดต่อหลักศาสนาพุทธ ดังนี้ มีชาวพุทธจำนวนมากไม่เข้าใจวินัยบัญญัติของสงฆ์ เป็นผู้ทำให้พระสงฆ์ต้องอาบัติ คือโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งพระภิกษุสงฆ์ ข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ซึ่งยกขึ้นเป็นสิกขาบทในพระปาฏิโมกข์มี 227 ข้อ ชาวพุทธมีหน้าที่ป้องกันรักษาพระพุทธศาสนาโดยพยายามป้องกันรักษาพระสงฆ์ ไม่กระทำหรือสนับสนุนส่งเสริมให้พระสงฆ์ล่วงละเมิดสิกขาบท

เช่น 1.ปาราชิก 4 โทษสถานหนัก ขาดจากความเป็นพระสงฆ์ คือเสพเมถุน ลักของเขา ฆ่ามนุษย์ อวดอุตริมนุสธรรม (อุตริมนุสธรรม แปลว่า คุณธรรมอย่างยวดยิ่งของมนุษย์ ได้แก่ ธรรมวิเศษมีการสำเร็จฌาน สำเร็จมรรคผล เป็นต้น)

2.สังฆาทิเสส 13 โทษสถานกลางมี 13 ข้อ มีอยู่ 3 ข้อ ที่สตรีพึงรู้และระมัดระวังไม่ทำให้เกิดขึ้นกับพระสงฆ์ เช่น ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง 1, พูดเกี้ยวหญิง 1, พูดล่อลวงหญิงบำเรอตนด้วยกาม 1 ทั้ง 3 ข้อ ล้วนต้องสังฆาทิเสส พระภิกษุองค์นั้นต้องอยู่กรรมก่อนจึงจะพ้นโทษ

ฉะนั้นสุภาพสตรีจงอย่าไปใกล้ชิดพระสงฆ์ เปิดโอกาสให้พระสงฆ์จับต้อง พูดเกี้ยว พูดหลอกล่อ, ล้วนเป็นบาปคือ ชั่วด้วยกัน

3.“ภิกษุนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง ถ้ามีคนที่ควรเชื่อได้มาพูดขึ้นด้วยธรรม 3 อย่าง คือ ปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ (โทษสถานเบา ปลงอาบัติได้) อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น หรือเขาว่าจำเพาะอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น” ฉะนั้นหญิงไม่ว่าสาวหรือแก่จงอย่าอยู่ในที่ลับตากับพระสงฆ์ เป็นบาปแก่ตนและพระสงฆ์

4.ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองเงิน หรือยินดีทองและเงินที่เก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ฉะนั้นอย่าเอาวัตถุทองและเงินถวายพระ พระสงฆ์ต้องสละทองเงินนั้นก่อน จึงจะปลงอาบัติตก ภิกษุแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคฤหัสถ์ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์” ระวังการไปขอทำบุญถวายเงินแล้วแลกของของวัดมาเป็นของตน ถ้าพระรับเงิน เงินนั้นต้องสละให้เป็นของวัด จึงจะปลงอาบัติตก ฉะนั้นไม่ควรทำให้พระสงฆ์ผิดศีล บางกรณีขาดจากความเป็นพระ

5.หญิงนั่งใกล้พระสงฆ์สองต่อสองไม่ได้ “ภิกษุนั่งในห้องกับผู้หญิงไม่มีผู้ชายเป็นเพื่อน ต้องปาจิตตีย์” “ภิกษุนั่งในที่แจ้งกับผู้หญิงสองต่อสองต้องปาจิตตีย์” “ภิกษุชวนผู้หญิงเดินทางไปด้วยกัน แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์” ฉะนั้น หญิงควรระมัดระวังในวินัยบัญญัติ และมีจรรยาไม่ทำให้พระสงฆ์ต้องมีโทษเพราะล่วงละเมิดสิกขาบท

จากที่อธิบายเรื่องละเมิดสิกขาบท เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาสร้างภาพยนตร์ให้เป็นไปตามหลักศาสนาและปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งสาระสำคัญตามมาตรา 23 ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องดำเนินการสร้างภาพยนตร์ในลักษณะที่ไม่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง และเกียรติภูมิของประเทศไทย

แต่เดิมก่อนที่จะมาใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ภาพยนตร์จะต้องผ่านการเซ็นเซอร์โดยจะตรวจเนื้อหาภาพยนตร์ก่อนนำออกเผยแพร่ หากพบภาพและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ คณะกรรมการฯก็จะขอให้ตัดฉากที่ไม่เหมาะสมออก หรือห้ามฉายภาพยนตร์ที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยไม่มีจัดการระดับอายุของผู้ดู (Rating)

แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 และบังคับใช้ให้มีการจัดระดับประเภทของภาพยนตร์ (Rating) ให้เหมาะสมกับอายุของผู้ดู เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 ซึ่งการจัดระดับภาพยนตร์ได้แบ่งออกเป็น 7 เรต

เรตส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดูและเรตผู้ดูทั่วไป เรตที่เหมาะสมกับผู้ดูอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป (13+) ผู้ดูอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป (15+) และผู้ดูมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป (18+) เป็นเรตที่ผู้ปกครองต้องให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

สำหรับเรตห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู (20-) และเรตที่ 7 เรตห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร หมายความว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาหรือภาพที่ไม่เหมาะสมในการเผยแพร่ เพราะอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง และเกียรติภูมิของประเทศไทย

หากมีผู้ฝ่าฝืนตามมาตรา 26 (7) ออกเผยแพร่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีการกำหนดโทษทางอาญาตาม มาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

ทั้งนี้ ผู้สร้างภาพยนตร์ควรคำนึงถึงเนื้อหา ภาพที่จะสื่อให้ผู้ดูเกิดความเข้าใจในทางที่สร้างสรรค์ ไม่ควรนำแง่มุมในทางลบออกเผยแพร่ ถึงแม้เรื่องนั้นๆ จะเป็นเรื่องจริง ควรมีการศึกษาข้อมูลอย่างถ่องแท้ และไม่กระทบกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรนำเรื่องศาสนามาเป็นเนื้อหาตลกขบขันในภาพยนตร์

ความบันเทิงของภาพยนตร์ไม่ได้อยู่ที่นำพระสงฆ์มาแสดงเป็นตัวตลก หรือการใช้ภาษาที่ไม่สุภาพมาเป็นเรื่องเฮฮา ควรให้ภาพลักษณ์ของพระภิกษุสงฆ์เป็นที่เคารพบูชาเพราะพระภิกษุถือเป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนา อย่าให้ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ที่ดีต้องเสื่อมเสีย และชนชาวพุทธต้องเสื่อมศรัทธา

มาร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา

กฤษณา พันธุ์วานิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image