รู้ไหมทำไม? ‘เจลีก’ กับเบื้องหลังชื่อทีมสุดสร้างสรรค์ (1)

เปิดตัวกันไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ “เมสซี่เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ แข้งทีมชาติไทยที่ย้ายจาก เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ไปเล่นให้สโมสรในเจลีก ประเทศญี่ปุ่น ด้วยสัญญายืมตัวเป็นเวลา 1 ฤดูกาล

สำหรับแฟนบอลที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับลีกลูกหนังแดนปลาดิบนัก อาจสงสัยว่าสังกัดใหม่ของชนาธิปนั้น เมื่ออ่านจากภาษาอังกฤษ Consadole Sapporo ควรจะเรียกว่า “คอนซาโดล ซัปโปโร” หรือ “คอนซาโดเล่ ซัปโปโร” กันแน่?

ก่อนอื่นต้องเฉลยก่อนว่า หากอ่านตามตัวอักษรคาตาคานะในภาษาญี่ปุ่นแล้ว จะอ่านได้ว่า “คอนซาโดเล่ ซัปโปโร” ซึ่งคำว่า “ซัปโปโร” นั้นเป็นชื่อเมืองหลวงของเกาะฮอกไกโดทางตอนเหนือของญี่ปุ่น สถานที่ที่สโมสรแห่งนี้ตั้งอยู่

ขณะที่คำว่า “คอนซาโดเล่” ที่ค่อนข้างแปลกหูนั้น ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาต่างชาติใดๆ แต่เป็นการผสมคำ คำว่า “คอนซาโดะ” ซึ่งเป็นการอ่านคำว่า “โดซังโกะ” (Dosanko) หมายถึง “ชาวฮอกไกโด” กลับหลัง และผสมกับคำว่า “โอเล่!” หรือเสียงร้องแสดงความยินดีในภาษาสเปน

Advertisement

ที่มาของชื่อที่ไม่ธรรมดานี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายสโมสรฟุตบอลของประเทศญี่ปุ่น เพราะถ้าไล่เรียงชื่อทีมในเจลีกกันอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า แต่ละสโมสรล้วนมีชื่อแปลกหู ไม่ได้มีคำพื้นๆ อย่าง “ยูไนเต็ด” “เอฟซี” หรือ “ซิตี้” เหมือนที่แฟนบอลส่วนใหญ่คุ้นเคย

ที่สำคัญคือความแปลกนี้ไม่ได้เกิดกับบางทีม แต่เป็นทุกทีมที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ซึ่ง โจนาธาน เบอร์ชาล เขียนถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “Ultra Nippon: How Japan Reinvented Football” ซึ่งบอกเล่าประวัติของเจลีกตั้งแต่ก่อนการถือกำเนิดเมื่อปี 1993 จนกลายเป็นหนึ่งในลีกลูกหนังสุดแกร่งของเอเชียในปัจจุบัน

เบอร์ชาลบอกว่า สมัยก่อนนั้น กีฬาฟุตบอลยังไม่ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นมากนัก เรียกว่าเทียบกันไม่ได้กับกีฬาเบสบอล อันเป็นกีฬาอาชีพยอดฮิตของแดนอาทิตย์อุทัย ทีมฟุตบอลต่างๆ จึงมีสถานะกึ่งสมัครเล่น แทนที่จะตั้งเป็นสโมสรของตัวเอง จะมีภาคเอกชนพวกบริษัทห้างร้านต่างๆ ตั้งทีมของตัวเองขึ้นมาแข่งขันกัน โดยจ้างนักฟุตบอลเป็นพนักงาน ให้ทำงานประจำของบริษัทเป็นหลัก แต่แบ่งเวลาไปฝึกซ้อม และเมื่อถึงคราวแข่งขันก็เป็นตัวแทนบริษัทเข้าร่วม

Advertisement
 กระแสเจลีกได้รับความนิยมในวงกว้าง (เครดิตภาพ Flickr)

กระแสเจลีกได้รับความนิยมในวงกว้าง (เครดิตภาพ Flickr)

กระทั่งถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ฟุตบอลจึงขยายความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในญี่ปุ่น จนอยากแสดงความเป็นเอกเทศจากกีฬาอาชีพอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาเบสบอล บนแนวคิดที่อยากสร้างความผูกพันกับท้องถิ่นเหมือนกับบรรดาสโมสรฟุตบอลในยุโรปและอเมริกาใต้

เนื่องด้วยทีมเบสบอลของญี่ปุ่นนั้น เอกชนเจ้าใดเป็นเจ้าของหรือสปอนเซอร์หลัก ก็จะใช้ชื่อแบรนด์นั้นๆ เป็นชื่อทีม เช่น เซบุ ไลออนส์ (บริษัทรถไฟเซบุเป็นเจ้าของ), โยมิอุริ ไจแอนต์ส (หนังสือพิมพ์โยมิอุริเป็นเจ้าของ), นิปปอน แฮม ไฟเตอร์ส (บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป นิปปอนแฮม เป็นเจ้าของ) กระทั่งช่วงหลายปีให้หลังจึงเพิ่มชื่อเมืองท้องถิ่นเข้าไปในชื่อทีมด้วย เช่น ไซตามะ เซบุ ไลออนส์, ฮอกไกโด นิปปอน แฮม ไฟเตอร์ส เป็นต้น

เพื่อให้การก่อตั้งเจลีกตอบสนองนโยบายที่ว่านี้ ทีมงานจึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังบริษัท โซนี่ ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าชื่อดังซึ่งทำสื่อวิดีโอเกมของตัวเอง กับ เดนสึ แอดเวอร์ไทซิ่ง บริษัทด้านโฆษณาและการตลาดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศให้ช่วยออกไอเดียตั้งชื่อทีมต่างๆ ขึ้นมา

ว่ากันว่าช่วงนั้น เดนสึไม่เชื่อน้ำยาว่าเจลีกจะไปได้สวยในสังคมแดนปลาดิบ จึงปฏิเสธที่จะร่วมโปรโมตด้านการตลาดให้ กระทั่งเห็นกระแส “ฟีเวอร์” ในเวลาต่อมา จึงกระโดดเข้าไปร่วมวงเต็มตัว

ทั้งโซนี่และเดนสึไม่เพียงช่วยคิดชื่อทีม แต่ยังช่วยวางแผนเรื่องโลโก้และแมสคอตหรือตัวนำโชคให้กับแต่ละสโมสรอีกด้วย

ดังนั้น บรรดาทีมสังกัดบริษัทจึงได้ชื่อใหม่ที่เน้นความเป็นท้องถิ่นนิยมมากขึ้น จาก นิสสัน กลายเป็น โยโกฮาม่า มารินอส, จาก พานาโซนิค หรือที่ญี่ปุ่นคือแบรนด์ มัตสึชิตะ ก็กลายเป็น กัมบะ โอซากา, จาก ยามาฮ่า เป็น จูบิโล่ อิวาตะ, จาก โยมิอุริ เป็น แวร์ดี้ คาวาซากิ และอีกมากมาย

บนอกเสื้อยังปรากฏโลโก้สปอนเซอร์หลักชัดเจน (เครดิตภาพ The Japan Times)
บนอกเสื้อยังปรากฏโลโก้สปอนเซอร์หลักชัดเจน (เครดิตภาพ The Japan Times)

แม้จะเปลี่ยนชื่อ แต่สปอนเซอร์และกรรมสิทธิ์เจ้าของทีมไม่ได้เปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น สโมสรเจลีกเหล่านี้จึงยังคงผูกพันกับบริษัทแม่ของตัวเองอย่างลึกซึ้ง เช่น นาโกยา แกรมปัส เอท (หรือที่เรียกย่อๆ เป็น นาโกยา แกรมปัส ในปัจจุบัน) ยังคงคาดสปอนเซอร์ โตโยตา ขนาดใหญ่บนหน้าอก หรือ อุราวะ เรด ไดมอนด์ส ก็จะร่วมโฆษณารถยนต์รุ่นใหม่ของ มิตสุบิชิ อย่างสม่ำเสมอ เรียกว่าเป็นการใช้แบรนด์กีฬาในมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งหลายทั้งปวงข้างต้นคือกำเนิดชื่อที่แสนจะไม่ธรรมดาของบรรดาทีมในเจลีก หนึ่งในลีกลูกหนังที่ประสบความสำเร็จที่สุดของทวีปเอเชีย

ในคราวหน้า เราจะมาลงลึกในรายละเอียดว่าด้วยเหตุผลเบื้องหลังการตั้งชื่อของแต่ละทีมใน “เจวัน” และ “เจทู” ว่ามีไอเดียสุดบรรเจิดขนาดไหน เหมือนกับที่อธิบายไปตั้งแต่ต้นว่า “คอนซาโดเล่ ซัปโปโร” นั้น เป็นการผสมคำ “โดซังโกะ” ที่อ่านกลับหลังกับคำว่า “โอเล่” นั่นเอง

งานนี้รับประกันเรื่องความคิดสร้างสรรค์ระดับสิบ โปรดติดตาม…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image