ประเทศไทยกับประธานาธิบดีทรัมป์

ชวนท่านผู้อ่านมาวิเคราะห์ 3 นโยบายหลักของทรัมป์ ที่น่าจะมีผลกับประเทศไทยไม่มากก็น้อย

1. การถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership -TPP)

ทรัมป์ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ในการหาเสียงแล้วว่า TPP จะเป็นตัวสร้างหายนะให้กับประเทศ เขาไม่ต้องการเขตการค้าเสรีแบบนี้ เขาต้องการการเจรจาทางการค้าแบบตัวต่อตัว หรือแบบทวิภาคีมากกว่า

หากทรัมป์จะให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจาก TPP ขึ้นมาจริงๆ การณ์อาจจะกลายเป็น 3 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 คือ TPP ล้มเลิกลงไปเลย รูปแบบที่ 2 ยังมี TPP โดยไม่มีสหรัฐอเมริกา และรูปแบบที่ 3 คือ สามารถเจรจาจนมีสหรัฐอเมริกาอยู่ แต่ลดความเข้มข้นในระดับความร่วมมือลง

Advertisement

ไม่ว่าจะในรูปแบบใด TPP ก็จะถูกลดความสำคัญลง ข้อเสียก็คืออาจทำให้การค้าโลกอยู่ในภาวะไม่แน่นอน แต่ข้อดีก็คือ ลดการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจาก TPP ถูกมองว่าเป็นความร่วมมือทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีไว้ขึ้นเพื่อปิดล้อมจีน

สำหรับประเทศไทยที่ยังสองจิตสองใจว่าจะเข้า TPP ดีไหม ถึงจังหวะนี้ก็คงมีเวลาชั่งใจได้อีกพักใหญ่

2. มีเจรจาเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ใหม่

Advertisement

อีกเรื่องที่ทรัมป์หาเสียงไว้ก็คือ ต้องการให้ NAFTA เป็นองค์กรที่ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์มากขึ้น ทรัมป์ย้ำว่า “NAFTA ต้องมีการเปลี่ยนแปลง”

ฟังแล้วก็พอเข้าใจได้ เพราะ NAFTA เป็นเขตการค้าเสรีที่มีอายุ 22 ปีแล้ว สถานการณ์โลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าในสมัยนั้นเยอะ จึงน่าจะมีการเจรจาใหม่

แม้ทรัมป์จะพูดชัดเจนว่าต้องมีอะไรใหม่ แต่ก็ยังไม่มีพิมพ์เขียวว่าจะปรับ NAFTA ไปในแนวทางไหน แต่สหรัฐอเมริกาจะถอนตัวออกไปเลยก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันนี้ทั้ง 3 ประเทศผูกพันกันด้วยห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อน (Complex Supply Chain System) คือ มีชิ้นส่วนของสินค้าผ่านเข้าออกชายแดนของทั้งสามประเทศหลายครั้ง กว่าจะเป็นสินค้าที่ตกไปถึงมือของผู้บริโภค

แม้ประเทศไทยจะอยู่ไกลจากห่วงโซ่การผลิตของ NAFTA แต่การเปลี่ยนแปลงของ NAFTA หากมันจะเกิดขึ้นจริงๆ ก็ควรจะอยู่ในโฟกัสของผู้กำหนดนโยบาย ไม่ว่าจะภาครัฐหรือภาคเอกชนไม่ใช่น้อย เพราะจริงๆ แล้ว ห่วงโซ่การผลิตมันเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียวทั่วโลก และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของ NAFTA เกิดขึ้นจริงๆ มันจะเป็นแบบอย่างให้กับการค้าเสรีในโลกยุคสมัยใหม่ด้วย

3. ลดการขาดดุลการค้า

ตอนหาเสียง ทรัมป์ประกาศว่าจะแก้ปัญหาการขาดดุลการค้ากับ 3 ชาติหลักคือ เม็กซิโก จีน และญี่ปุ่น แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยากที่สุด

ในเรื่องการค้าระหว่างประเทศนั้น “รัฐ” ไม่ได้เป็นผู้ค้าขาย แต่ “แต่ประชาชนและธุรกิจ” เป็นผู้ดำเนินกิจการการค้าดังกล่าว การค้าระหว่างประเทศถูกกำหนดด้วยราคาที่ผู้ขายและผู้ซึ้อที่พึงพอใจในการตกลงกัน

สิ่งที่รัฐจะขัดขวางการค้าขายและลดการขาดดุลได้คือ กลไกของภาษีและกลไกที่ไม่ใช่ภาษี ทรัมป์ประกาศว่าจะเพิ่มภาษีนำเข้าจากเม็กซิโก และเพิ่มอัตราภาษีเป็น 45% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากจีน ทั้งนี้เพื่อให้สินค้าที่มาจากจีนมากขึ้น ดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมายังประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเพิ่มผลิตภาพ และ งานให้คนอเมริกัน

แต่ผลที่จะปรากฏขึ้นไม่ได้ง่ายแบบที่หาเสียง เพราะการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า จะทำให้สินค้าภายในประเทศมีราคาแพงขึ้นมาก สินค้าแม้จะผลิตในประเทศ แต่หากมีชิ้นส่วนที่ผลิตมาจากประเทศจีนก็จะทำให้สินค้าชิ้นนั้น ๆ ราคาแพงขึ้นมาก นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของราคาจากภาษีก็ไม่ได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของค่าแรงของคนในประเทศ เพราะเป็นเพียงภาวะชั่วคราวจากราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นกะทันหัน ชิ้นส่วนของสินค้าที่ผลิตในประเทศจีนมีราคาสูงขึ้นจากภาษี ไม่ได้หมายความว่าค่าแรงของคนอเมริกันจะเพิ่มขึ้นอย่างไรเลย

ความตั้งใจของทรัมป์ที่ต้องการให้ผู้ผลิตผละออกจากประเทศจีน และหันมาผลิตสินค้าในประเทศจะไม่สำเร็จอย่างหอมหวานอย่างที่หาเสียง เพราะสินค้าที่แพงขึ้น ส่งผลต่อเงินเฟ้อและค่าแรงที่ขึ้นสูงตามไปด้วย และไม่ใช่ค่าแรงที่แท้จริงที่เพิ่มสูงขึ้น

เรื่องที่ไม่น่าจะประสบความสำเร็จที่สุดของทรัมป์นี้แหล่ะ ที่จะกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะหากมีการขึ้นกำแพงภาษี 45% แล้ว ทำให้ประเทศจีนต้องจัดการตอบโต้ทางการค้าแน่นอน การตอบโต้จากจีนเป็นสิ่งที่ไทยต้องจับตามอง เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไทยผูกพันอยู่กับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

แม้จะประสบความสำเร็จในการเป็นนักธุรกิจมาตลอดชีวิต แต่ทรัมป์ยังไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายภาครัฐ เรายังไม่แน่ใจว่า นโยบายการต่อต้านการค้าเสรีของทรัมป์จะประสบความสำเร็จได้แค่ไหน แต่พรรครีพับริกันของทรัมป์เป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนการค้าเสรีมาโดยตลอด ก็อาจจะเป็นอีกกลไกหนึ่งนอกเหนือจากกลไกรัฐ ที่เบรกไม่ให้ทรัมป์ทำอะไรก็ได้อย่างที่เขาประกาศไว้อยู่เสมอ

แม้ทรัมป์จะพูดเสมอว่า “เขาชนะอยู่เสมอ” แต่การเมืองไม่เหมือนธุรกิจ เพราะการเมืองเป็นเรื่องประนีประนอมและเป็นคนละเรื่องกับธุรกิจส่วนตัว และธุรกิจส่วนตัวของเขา ยิ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาเพราะระบบมีการตรวจสอบถ่วงดุล ไม่ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นประธานาธิบดีสามารถใช้อำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

อย่างไรก็ตามเราก็ควรจะให้ความสนใจกับวิเคราะห์นโยบายหาเสียงเด่น ๆ ของทรัมป์ ว่าจะมีอะไรที่สำเร็จได้บ้าง และจะกระทบอะไรกับเรา เพราะนโยบายของเขาจะมีส่วนสำคัญในการเตรียมตัวของภาครัฐและภาคธุรกิจในประเทศไทยเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image