ขำขื่น ซับซ้อน ย้อนแย้ง ประเด็นร้อนแรงของ ‘เกาะรัตนโกสินทร์’

จากซ้าย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, ทำนุ เหล็งขยัน, เฉลิมชัย พันธ์เลิศ, ปองขวัญ ลาซูส, ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

ยังคงเป็นปัญหาที่มีเงื่อนปมซับซ้อนยากจะคลายออกโดยง่าย สำหรับประเด็นที่เกี่ยวโยงกับโบราณสถานและการพัฒนาประเทศ พื้นที่อันทับซ้อนจากการถูกใช้อย่างต่อเนื่องหลากยุคสมัย นอกจากจะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่า ยังมีมิติของการพัฒนาที่ดูเหมือนแต่ละฝ่ายจะมีตรรกะคนละชุด แว่นคนละอัน หลักการคนละแบบ

โครงการศิลป์เสวนา ม.ธรรมศาสตร์ จึงร่วมกับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดเสวนาหัวข้อ “เกาะรัตนโกสินทร์ การทับซ้อนและมิติของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” ที่มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ ในช่วงบ่ายของวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา

 

ท้องถิ่นอยู่ไหนในระบบการศึกษา ?

Advertisement

แปลกแต่จริง และน่าสนใจ ที่งานนี้ เริ่มต้นด้วยวิทยากรที่ดูเผินๆ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับประเด็นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่าง ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผอ.สถาบันสังคมศึกษาของ สพฐ. ที่ยังคงความตรงไปตรงมาเหมือนเช่นทุกครั้ง ด้วยการเกริ่นว่า ตนเป็นคนร้อยเอ็ด แม้จะตั้งหลักปักฐานทำงานในกรุงเทพฯ แต่มีความผูกพันกับเกาะรัตนโกสินทร์ไม่มากเท่าไหร่ ดังนั้น ในฐานะนักวิชาการด้านการศึกษา จึงขอนำเสนอในประเด็นที่ว่า การให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ชุมชนท้องถิ่นอยู่ตรงไหนในระบบการศึกษาไทย ?

ว่าแล้ว ก็โชว์พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 27 ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลาง เพื่อความเป็นไทย และความเป็นพลเมืองดีของชาติ โดยสถานศึกษาจัดสาระหลักสูตรที่เกี่ยวกับท้องถิ่น ทว่า สิ่งที่น่าครุ่นคิดคือ ไม่เคยมีการให้คนท้องถิ่นลุกขึ้นมาบอกว่าอะไรคือคุณค่าในท้องถิ่นของตัวเอง นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงประเด็นการทัศนศึกษา ที่มีความแตกต่างกับการ “พาเด็กไปเที่ยว” ซึ่งในบางครั้งเกิดการตั้งคำถามว่า การเรียนรู้อยู่ที่ไหนในการเดินทางครั้งนั้น

“ในการจัดการศึกษา พอคิดว่านี่คือสิ่งดี ก็จัดให้เด็ก แต่ไม่เคยให้คนท้องถิ่นลุกขึ้นมาบอกว่า อะไรคือคุณค่าในท้องถิ่นตัวเอง เราไม่เคยให้ค่า เพราะไม่เคยอยู่ในข้อสอบ รู้ไปก็เท่านั้น มีผู้ปกครองเด็กสะท้อนมาว่าบางเรื่องทำไมต้องเรียน เรียนไปก็ไม่รู้จะเอาไปใช้ตอนไหน เรื่องการเรียนรู้นอกสถานที่ สพฐ.มีงบจำนวนมาก แต่ปรากฏการณ์คือครูต่างจังหวัดพาเด็กมากรุงเทพฯ มาดูวัดพระแก้ว จากนั้นอาจจะไปทะเลแถวพัทยาแล้วกลับ ถามว่ามิติการเรียนรู้อยู่ที่ไหน ปัญหาในแง่โครงสร้างคือ คนให้เงินดูว่าครูใช้เงินไหม แต่ไม่ได้มาดูกระบวนการเรียนรู้” นักการศึกษาท่านนี้กล่าวอย่างไม่อ้อมค้อม พร้อมตบท้ายว่า ครูเอง ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้มองว่าแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น คือโลกของการศึกษา เช่นเดียวกับสังคมไทยที่ยังมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของโรงเรียน แต่แท้จริงแล้ว เป็นเรื่องของคนทุกคน

Advertisement

“ต้องเห็นใจว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นยักษ์ใหญ่เคลื่อนตัวช้า ผมก็ประสบปัญหาในเรื่องกลไกรัฐ ซึ่งไม่ได้ดั่งใจ ต้องหาวิธีวินวิน บางอย่างเป็นปัญหา แต่คนตัดสินใจไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหา ก็ต้องใช้ยุทธศาสตร์เพื่อทำให้เห็นว่านี่คือปัญหาส่วนรวม เป็นปัญหาของทุกคน ที่ผ่านมาก็พยายามขับเคลื่อน ทำอย่างไรให้บ้าน วัด และโรงเรียนเชื่อมโยงเข้าหากันในการเป็นพื้นที่การเรียนรู้”

ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ จาก สพฐ.
ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผอ.สถาบันสังคมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

 

คนกรุงรุ่นเก่าบอกเล่าวิถีชีวิต

ด้าน ทำนุ เหล็งขยัน จากชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน เขตพระนคร ซึ่งนับว่าเป็นชาวเกาะรัตนโกสินทร์ตัวจริง ขึ้นมาเล่าถึงความเป็นมาของชุมชนมุสลิมเก่าแก่ของตน พร้อมทั้งบรรยายถึงบรรยากาศในวัยเด็กอย่างเห็นภาพ รวมถึงความพยายามในการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชุมชนให้เด็กรุ่นใหม่ได้รับรู้และเห็นถึงความสำคัญ

“เดิมแยกคอกวัว มีแขกเลี้ยงวัว สมัยเด็กเลยได้กินนมวัวไปด้วย ตอนนี้อายุ 60 ปีแล้ว ก็มาถ่ายทอดให้เด็ก พยายามให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้ เอาประวัติศาสตร์แทรกเข้าไป” ลุงทำนุเล่า ก่อนโยงเข้าสู่ประเด็นร้อนแรงอย่างกรณีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งยืดเยื้อยาวนานเข้าสู่ปีที่ 25 โดยชาวบ้านได้พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้อยู่พื้นที่ร่วมกับโบราณสถาน และพร้อมจะอนุรักษ์และพัฒนาไปพร้อมๆ กับการเจริญเติบโตของเมือง

“การเข้าไปป้อมมหากาฬ เหมือนได้เรียนหลายสาขา ทั้งกฎหมาย วิศวะ และอื่นๆ ชุมชนนี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ไม่ได้รักษาเฉพาะวัตถุ แต่รักษาความมีชีวิตเอาไว้ด้วย ชาวบ้านออกมาช่วยกันทำตั้งแต่เด็ก ยันคนแก่ ถ้าเราชาวมัสยิดบ้านตึกดินไม่ทำเหมือนเขา ต่อไปจะโดนรัฐซึ่งใช้กฎหมายมากระทำบ้างหรือไม่?”

 

การพัฒนาไม่ได้หมายความว่าต้องรื้อสร้างใหม่

มาถึง ปองขวัญ ลาซูส สถาปนิกชื่อดัง ผู้เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ชุมชนและย่านเก่า วิเคราะห์ถึงปมปัญหาที่ซับซ้อนว่า การทำงานภาครัฐของไทยเป็นแบบแยกส่วน พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เหตุใดจึงไม่มีคณะอนุกรรมการชุดอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ มีแต่เพียงชุดกลั่นกรองแผนพัฒนาฯเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการทำงาน “เชิงรุก”

“ท่องเที่ยวก็จะเอา อุตสาหกรรมก็จะเอา จะเอาทุกอย่างมันเป็นไปไม่ได้ การพัฒนาไม่ได้หมายความว่าต้องรื้อสร้างใหม่ อย่างฝรั่งเศสให้ความสำคัญว่า สิ่งใดมีคุณค่าอยู่แล้ว ก็ทำให้มีคุณค่ามากขึ้นไปอีก กรณีป้อมมหากาฬถูกกำหนดให้เป็นสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นทฤษฎีการอนุรักษ์ในยุคนั้นซึ่งเก่ามาก ปกติแผนแม่บทต้องการปรับเปลี่ยนทุก 5-10 ปี แต่กรุงรัตนโกสินทร์กลับไม่มีการปรับเลย ไม่ทราบว่าทำไม กรรมการกรุงฯไม่ได้มีคณะอนุกรรมการชุดอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ มีแต่ชุดกลั่นกรองแผนพัฒนาฯเท่านั้น พอมีเรื่องส่งเข้ามาถึงจะพิจารณา คือ ไม่ได้ทำงานเชิงรุก”

สถาปนิกท่านนี้ยังบอกอีกว่า กรณีป้อมมหากาฬนั้น ตนเคยมีโอกาสได้ร่วมเข้าประชุม ซึ่งก็ได้เสนอไปว่าน่าจะรอให้ปรับแผนก่อน แต่กรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ มีคนนอกเพียง 2 ราย จากกรรมการ 20 ราย เสียงที่ออกไปจึงไม่ดังพอ

“เคยมีการประชุมหลายหนให้ปรับแผน แต่เขาเพิ่งได้รับงบปรับแผนปีนี้ เลยไปเสนอว่าน่าจะปรับแผนก่อน แต่เสียงไม่ดังพอ น่าแปลกที่มีการเชิญที่ปรึกษาซึ่งกำลังจะเข้ามาปรับแผน 4-5 หน่วยงาน เสนอวิธีการทำงาน ทุกหน่วยพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าฟังเสียงประชาชน แต่กลับให้ไล่รื้อ นอกจากกรณีป้อมมหากาฬ ยังมีอีกเรื่องที่น่าห่วงคือ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฯ ซึ่งในด้านการศึกษา ก็น่าจะมีภารกิจที่ปกป้องแหล่งเรียนรู้”

 

นอกเหนือจากกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ อีกหนึ่งประเด็นที่ปองขวัญกังวลคือ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเสียงคัดค้านจากหลายภาคส่วน
นอกเหนือจากกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ อีกหนึ่งประเด็นที่ปองขวัญกังวลคือ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเสียงคัดค้านจากหลายภาคส่วน


มรดกวัฒนธรรมหลากหลาย ใครกำหนด ?

ต่อด้วย ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ นักวิชาการอิสระ ซึ่งมาเล่าถึงมรดกวัฒนธรรมในสิงคโปร์ ซึ่งมีความพยายามที่จะฉายให้เห็นถึงสังคมและวัฒนธรรมอันหลากหลายที่ประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งซึ่งกันและกัน

“สิงคโปร์กลัวมากเรื่องความขัดแย้งชาติพันธุ์ เพราะเป็นประเทศที่มาจากการเคลื่อนย้ายผู้คน จึงพยายามให้เด็กรู้จักรากเหง้า ในพิพิธภัณฑ์มีการเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ การขยายตัว รวมถึงวิถีชีวิตของคนกลุ่มต่างๆ เช่น ชุมชนอินเดีย ซึ่งมีส่วนที่บอกเล่าว่า คนกลุ่มนี้ทำประโยชน์อะไรบ้าง ลูกหลานที่สืบมาหลายรุ่น สร้างคุณูปการอะไรให้ประเทศนี้”

ชีวสิทธิ์ยังปิดท้ายด้วยประเด็นที่คมคาย ชวนตั้งคำถามและขบคิดเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งใดบ้างที่ได้รับการกำหนดไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่ควรได้รับการสืบทอด แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ ใครเป็นผู้ที่บอกว่าสิ่งนั้นๆ คือมรดกที่ควรได้รับการสืบทอด

คุณค่าที่ (ไทย) ยังไม่ได้เลือก

วิทยากรบอกเล่าประสบการณ์จบไป ก็มาถึงคิวของผู้ร่วมฟังเสวนา

ยศพล บุญสม ภูมิสถานิก ซึ่งหลายคนคงคุ้นหน้าจากบทบาทการคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระบุว่า ผู้ที่กำหนดคุณค่าวัฒนธรรมของสิงคโปร์คือรัฐ ซึ่งเลือกแล้วว่าจะสร้างความเท่าเทียมในสังคม ทัศนคติเป็นไปในรูปแบบของความกลัว กล่าวคือ กลัวไม่รักชาติ ส่วนประเทศไทย ชุดคุณค่านี้ยังไม่ได้ถูกเลือกอย่างชัดเจน

“สิงคโปร์กลัวคนอพยพออกนอกประเทศ กลัวคนไม่รักชาติ จึงปลูกฝังในเรื่องนี้ โดยผู้กำหนดคุณค่าวัฒนธรรมก็คือรัฐบาลของเขา สำหรับในไทย ยังไม่ได้ถูกเลือกชัดเจน ซึ่งข้อดีคือ คุณค่ายังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ ปัญหายังไม่ได้ข้อยุติ ไทยยังอยู่ในจุดที่เลือกได้ ถึงจุดที่รัฐต้องฟัง เพื่อให้เกิดความหลากหลายในคำตอบ เราต้องให้คนในสังคมมากำหนดร่วมกัน ไม่ใช่ให้นายกรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์เป็นผู้ตัดสิน แต่ต้องเป็นคนในสังคม ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้เกิดมรดกวัฒนธรรม”

จบเมนต์นี้ของสถาปนิกหนุ่ม ก็มีเสียงหนุนทันที

ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกผู้มีบทบาทในการคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกผู้มีบทบาทในการคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ประกอบการในเกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งเข้าร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมมากมายกับชุมชนป้อมมหากาฬ ลุกขึ้นบอกว่า ในฐานะคนนอกที่คลุกคลีกับชาวบ้าน ได้มองเห็นปรากฏการณ์ของความรู้สึกอยากมีส่วนร่วม ทั้งในภาคประชาชน รวมถึงสื่อทั่วโลก

“ประชาชนกระหายอยากออกเสียง อยากแสดงความเห็นเกี่ยวกับเมืองของตัวเอง หลังจากบ้านโดนรื้อไป 12 หลัง ระหว่างวันที่ 3-4 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากนั้น มีคนเข้ามาที่ชุมชนเยอะมาก อยากมีส่วนร่วม อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ ทำไมรัฐต้องรื้อ สื่อทั้งไทยและต่างชาติก็ให้ความสนใจมาก ล่าสุด นิวยอร์กไทมส์ก็เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการต่อสู้ของชุมชนป้อมมหากาฬ ส่วนกิจกรรมอย่างงานโค-ครีเอท มหากาฬ ก็มีสถาปนิกเข้ามาในชุมชน 300-400 คน โดยไม่ได้พูดว่าควรจะรื้อหรือไม่ แต่พูดในบริบทที่ว่า อยากเห็นที่นี่เป็นอย่างไร จนเกิดเป็นแผนที่ทำโดยประชาชน ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ทันสมัยมาก ไม่ใช่ว่าฉันจบสถาปัตย์ฉันออกแบบ แต่ออกแบบเพื่อมรดกทางวัฒนธรรมของตน”

ป้อมมหากาฬใน "สื่อนอก"
ป้อมมหากาฬใน “สื่อนอก”


ตลกขำขื่น ความกล้ำกลืนของประวัติศาสตร์ชุมชน

อีกหนึ่งผู้ฟังที่ลุกขึ้นแสดงความเห็นชวนฟังคือ นักเขียนและนักสร้างสรรค์งานศิลปะอิสระ นามว่า เฌ นวลชาวนา

เฌ คิดว่าปัญหาอยู่ที่การศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงภาครัฐ ไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชุมชนคนรากหญ้า ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นสมาชิกของประเทศ เน้นแต่ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ตัดเรื่องของผู้คนทิ้งเกือบหมด จึงเกิดปัญหาอย่างที่เห็น ดังเช่นกรณีป้อมมหากาฬ

เฌ นวลชาวนา ศิลปินอิสระ
เฌ นวลชาวนา ศิลปินอิสระ

 

“ในการสร้างจิตวิญญาณให้เป็นชาติ ไปเน้นประวัติศาสตร์หลัก ตัดประวัติศาสตร์ชุมชน ผู้คนทิ้งเกือบหมด สิ่งที่น่าหัวเราะในการพิกลพิการของการบริหารนั้น นอกจากไม่สนใจศึกษาวิถีชีวิต ยังแสดงอาการกลืนน้ำลายตัวเอง มีการใช้อำนาจไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬโดยชาวบ้านไม่สมัครใจ แต่หลังจากนั้น กทม.กลับขึ้นป้ายขอบคุณชุมชนว่าให้ความร่วมมือในการคืนพื้นที่ ซึ่งไม่จริง นี่คือเรื่องน่าตลก”

ทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งของความคิดเห็นในประเด็นสุดซับซ้อน ซึ่งไม่ว่าจะมีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดอย่างไร ท้ายที่สุด คงเป็นดังเช่นคำกล่าวของผู้ดำเนินรายการอย่าง พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ว่า…

ความรู้คือสิ่งนำสังคมไทยมากกว่าการใช้อำนาจ

บรรยากาศงานเสวนา
บรรยากาศงานเสวนา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image