นาซาเปิดตัวต้นแบบ บ้าน “บนดาวอังคาร”

NASA

ศูนย์วิจัยแลงก์ลีย์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแฮมป์ตัน รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เปิดตัว “มาร์ส ไอซ์ โฮม” ที่เชื่อว่าสามารถใช้เป็นที่พักที่ปลอดภัยของมนุษย์อวกาศเป็นเวลานานได้ในสภาพแวดล้อมบนพื้นผิวของดาวอังคารที่แตกต่างจากสภาพแวดล้อมของโลกโดยสิ้นเชิง ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาหลายๆ ด้านที่เคยเป็นอุปสรรคในการสร้างที่พักบนดาวอังคารก่อนหน้านี้

แนวคิด “บ้านน้ำแข็งบนดาวอังคาร” นี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ของแลงก์ลีย์พัฒนามาจากแนวคิดของ 2 กลุ่มที่ได้รับชัยชนะในการประกวด “นาซา เซนเทนเนียล ชาลเลนจ์” เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา คือกลุ่มสถาปัตยกรรมเพื่อการสำรวจอวกาศกับกลุ่มสำนักงานสถาปัตยกรรมคลาวด์ ซึ่งชนะเลิศสำหรับแนวคิดสร้างที่พักบนดาวอังคารด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

เควิน ไวปาเวทซ์ วิศวกรระบบอาวุโสของแลงก์ลีย์ ระบุว่าบ้านน้ำแข็งที่ได้เกิดจากการประมวลการแก้ปัญหาข้อจำกัด และความต้องการหลายๆ อย่างเข้าด้วยกันแล้วหาทางออกด้วยแนวความคิดแหวกแนวนอกแบบหลายต่อหลายอย่างด้วยกัน จนในที่สุดก็กลายเป็นบ้านน้ำแข็งดังกล่าวนี้ เนื่องจากการออกแบบบ้านพักบนดาวอังคารนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาและข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ไม่เหมือนกับบ้านปกติทั่วไปบนพื้นโลก หรือแม้แต่การออกแบบสำหรับที่พักบนดวงจันทร์ ทั้งนี้ เนื่องจากระยะห่างระหว่างโลกกับดาวอังคารนั้นไกลกว่ากันมาก มนุษย์อวกาศชุดแรกที่เดินทางไปถึงจึงจำเป็นต้องพักอาศัยอยู่บนดาวอังคารนานกว่ามนุษย์อวกาศของยานอพอลโลมาก

ชีลา แอนน์ ทีโบลท์ ทีมวิจัยของแลงก์ลีย์ ระบุว่าการต้องใช้ชีวิตอยู่นานๆ ทำให้จำเป็นต้องมีพื้นที่ว่างสำหรับเก็บเสบียงให้มากพอที่จะเลี้ยงชีพอยู่ได้นานหลายเดือน และต้องมีพื้นที่ในการใช้ชีวิตขยายต่อจากที่พักอาศัยทั่วไป ซึ่งทำให้ที่ว่างบนยานลงจอดบนดาวอังคารที่จำกัดมากไม่เพียงพออย่างแน่นอน ในเวลาเดียวกัน วัสดุที่นำมาใช้ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่างมาก เช่น ต้องทนทานได้นานหลายๆ ปีในสภาพแวดล้อมทารุณอย่างบนดาวอังคาร ที่นอกจากจะมีการแผ่รังสีของอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าแล้วยังมีการแผ่รังสีอัลตราไวโอเลต และเป็นไปได้ที่จะมีอะตอมิกออกซิเจน, เพอร์คลอเรต กับพายุฝุ่นอีกด้วย

Advertisement

ปัญหาเหล่านั้นวัสดุก่อสร้างบนพื้นโลกอาจแก้ไขได้ไม่ยาก แต่การใช้วัสดุดังกล่าวจำเป็นต้องใช้แรงงานมหาศาล ต้องขนส่งด้วยยานที่มีระวางบรรทุกมากๆ ไปจากโลก ทำให้ทีมวิจัยหันมาสนใจน้ำแข็ง ที่เชื่อกันว่ามีอยู่มากมายบนดาวเคราะห์ดวงนี้โดยไม่จำเป็นต้องขนไปแต่อย่างใด

ดร.เควิน เคมป์ตัน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ของแลงก์ลีย์ เปิดเผยว่า “มาร์ส ไอซ์ โฮม” มีโครงสร้างภายในเป็นวัสดุที่พองลมได้ ทำนองเดียวกับยางในรถจักรยาน เพื่อสร้างที่ว่างขึ้นให้มากพอสำหรับมนุษย์อวกาศใช้อยู่อาศัยได้ ผิวด้านนอกเป็นเปลือกที่ทำจากน้ำแข็ง ทำหน้าที่หลักเพื่อปกป้องโครงสร้างภายในจากปัญหาต่างๆ ตั้งแต่รังสีคอสมิกไปจนถึงปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมของที่นั่น วัสดุที่ใช้เป็นโครงสร้างทั้งภายในและภายนอกล้วนโปร่งแสง เพื่อให้แสงข้างนอกผ่านเข้ามา และทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยภายในรู้สึกเหมือนอยู่ภายในบ้านมากกว่าจะอยู่ในถ้ำ

ดร.เคมป์ตันชี้ว่า บ้านน้ำแข็งนี้มีข้อดีหลายอย่าง ตั้งแต่สามารถขนย้ายจากโลกได้ง่ายในลักษณะแฟบแล้วไปเติมลมภายหลัง ทั้งยังเคลื่อนย้ายจุดที่ตั้งบนดาวอังคารได้ง่าย ทำจากวัสดุที่มีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขนไปจากโลก

Advertisement

และวัสดุเดียวกันคือ “น้ำ” ก็สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานสำรวจพื้นผิว “มาร์ส แอสเซนต์ เวฮิเคิล” ที่ใช้เชื้อเพลิงจรวดเหลวซึ่งผลิตจากน้ำ (H2O) ได้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image