อัยการโพสต์เฟซ ยกกรณี”ครูจอมทรัพย์” แนะวิธีทำอย่างไร”แพะ”จึงพ้นบ่วงกรรมที่ไม่ได้กระทำ!!

เมื่อวันที่ 14 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก”โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง”ของนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โพสต์ข้อความการแก้ข้อกล่าวหากรณีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีอาญาทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิดหรือตกเป็น”แพะ” เพื่อให้พ้นจากข้อกล่าวหา ว่า “ร้องขอความเป็นธรรม บทเรียนในสังคม ที่เกิดขึ้นประจำ เกิดขึ้นอีกแล้วก็โทษกันไปโทษกันมา โลกของเราเปลี่ยนเข้าสู่ยุคโซเชียลนานแล้ว ข้อมูลข่าวสารหาง่าย ติดต่อใคร หน่วยราชการ จนถึงนักข่าวก็ง่ายดาย บทเรียนมากมายอ่านกันไม่รู้จบ เรื่องคุณครูถูกตัดสินจำคุกก็เป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันมาดู เราเห็นตัวอย่างกันมาแล้วเช่น พูดเล่นบนเครื่องบิน เกิดเรื่องกันดังเป็นระยะๆ เป็นข่าวกันโดงดังตลอดมา แต่ทำไมยังเกิดขึ้นอีกบ่อยๆ หรือสังคมไม่จดจำทั้งคดีอาญา คดีแพ่งตามมา เรียกค่าเสียหายกันเป็น 1,000,000

“กรณีของคุณครู สำนวนการสอบสวนที่ตำรวจส่งให้อัยการ คุณครูให้การว่าไม่ขอให้การในชั้นสอบสวนจะขอไปให้การในชั้นศาล ซึ่งก็ไม่ทราบว่าใครแนะนำคุณครู แปลว่าต้องการไปต่อสู้คดีในศาล ถ้าให้การเช่นนี้ ตำรวจ และอัยการ จะพิจารณาว่า พยานหลักฐานพอฟ้องหรือไม่ ถ้าพอก็จะยื่นฟ้อง เพราะจะไม่มีพยานหลักฐานฝ่ายผู้ต้องหาปรากฏอยู่ในสำนวนเลย อัยการก็จะคิดว่า ผู้ต้องหาไม่ต้องการให้การต้องการไปให้การในศาล แต่ถ้าหลักฐานไม่พอฟ้องอัยการก็จะไม่ฟ้องมีปรากฏมาแล้วมากมาย

“ทางปฏิบัติที่ถูกต้องขอฝากกันไว้ก็คือ ถ้าต้องตกเป็นผู้ต้องหาและเราไม่ได้กระทำความผิดต้องขอให้การในชั้นตำรวจเลย มีพยานบุคคลพยานเอกสารหรือหลักฐานใดยืนยันว่าเราไม่ได้กระทำความผิดควรจะนำเข้าสำนวนตั้งแต่ชั้นตำรวจเลย เพราะเป็นหน้าที่ของตำรวจตาม กฏหมายวิอาญา ม.134 ที่จะต้องสอบพยานหลักฐานทั้งฝ่ายผู้กล่าวหาและผู้ต้องหา หากไม่สอบตำรวจผิด ละเว้นปฏิบัติหน้าที่เองครับ ซึ่งถ้าตำรวจไม่สอบวิธีการคือเข้าพบผู้กำกับเข้าพบผู้การ และมีสิทธิ์ดำเนินคดีกับตำรวจตามกฎหมาย ต่อมาสำนวนถึงอัยการ ก็ยังสามารถร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ให้สอบสวนเพิ่มเติม

“ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ จากประสบการณ์ที่รับเรื่องมามากมาย เวลารับเรื่องขอความเป็นธรรมผู้ร้องมักจะบอกแต่ว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่ไม่อ้างพยานหลักฐานไม่ว่า คน เอกสารหรือวัตถุพยานให้อัยการไปดำเนินการ สั่งสอบสวนเพิ่มเติมเขียนอย่างเดียวว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถ้าไม่อ้างหรือร้องขอให้สอบสวนอะไรเพิ่มเติม อัยการก็จะพิจารณาจากสำนวนว่าควรต้องทำอะไรบ้างพยานหลักฐานเป็นอย่างไรบ้าง ฉะนั้นการร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการควรระบุมาให้ชัด ขอให้สอบสวนเพิ่มเติมใคร ขอเอกสาร ขอวัตถุพยานใดเข้ามาสู่สำนวนอัยการจะได้พิจารณาสั่งให้ เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม เพราะถ้าความจริงผู้ต้องหาไม่ผิดตำรวจและอัยการก็จะได้ดำเนินการสั่งไม่ฟ้องไม่นำคดีขึ้นสู่ศาลตั้งแต่ต้น ฉะนั้นหากผู้ต้องหาไม่ยอมให้การ เพราะไม่รู้ หรือทนายแนะนำว่าให้ไปสู้ในศาล คดีก็คงได้ขึ้นศาลครับ

Advertisement

“ข้อแนะนำเมื่อตกเป็นผู้ต้องหา นำพยานหลักฐานที่เราจะต่อสู้ให้พนักงานสอบสวนเลยครับ แต่ถ้ามีใครแนะนำว่าให้ไปสู้ในชั้นศาลไม่ต้องให้การ ก็จำกันไว้ด้วยนะครับ ถ้าเชื่อแล้วก็ต้องยอมรับเพราะเราเลือกเอง และถ้าเมื่อนำหลักฐานต่อสู้แล้ว ยังมีสิทธิ์ขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ทำเป็นเอกสารระบุไปเลยครับว่าต้องการให้สอบสวนเพิ่มเติมใคร พยานวัตถุพยานเอกสารอะไรที่ต้องการให้เข้ามาในสำนวนเพื่อมาพิจารณากันว่าเราไม่ผิด อ้างไปเลยครับอัยการจะได้สั่งให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม ไปพบครับ ตำรวจ อัยการ เราตกเป็นผู้ต้องหาถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไปพบ ไปร้องไม่มีใครเล่าเรื่องของเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง ไม่ว่าตำรวจหรืออัยการก็มีผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น สามารถยื่นคำร้องกันไปตามลำดับ อย่าท้อถอยนะครับไม่ใช่ไปแล้วไม่พบกลับเลย เดินต่อครับ ทุกคดีควรต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพียงแต่สู้ให้ถูกทาง แล้วอย่าเชื่อใครง่ายๆที่จะมาหลอกเอาทรัพย์สินไป

“สำนักงานอัยการก็มีหน่วยงานให้คำปรึกษา ไปพบครับไปขอคำแนะนำ กระทรวงยุติธรรมก็มี ก่อนตัดสินใจ ปรึกษาได้หลายที่นะครับ ไม่ต้องไปเชื่อคำว่าไปสู้ในศาลเถอะ อาจไม่ใช่คำแนะนำที่ถูกต้องเสมอไป หลายคดีที่ผ่านมาย่อมเป็นบทเรียน เช่น คดีหญิงไก่ ลูกของสาวใช้บ้านหญิงไก่ออกจากเรือนจำได้ก็เพราะลูกไปร้อง เด็กยังช่วยแม่ได้ ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนตลอดจนทนายความทำหน้าที่ของตนด้วยความสุจริต ไม่คิดแสวงหาประโยชน์ กระบวนการยุติธรรม จะได้เป็นกระบวนการยุติธรรมสมชื่อ และขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนนะครับ”เฟซบุ๊กระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image