คนชั้นกลางไทยกับประชาธิปไตย(1) : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

นับตั้งแต่อริสโตเติลถึงนักวิชาการปัจจุบัน ต่างมีความเห็นตรงกันว่า คนชั้นกลางเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สังคมหนึ่งๆ เปลี่ยนระบอบปกครองมาเป็นประชาธิปไตยได้ แต่โชคร้ายที่นักวิชาการสมัยปัจจุบันมองเห็นด้วยว่า นอกจากประชาธิปไตยแล้ว คนชั้นกลางยังเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้สำหรับอุดมการณ์ทางการเมืองอื่นด้วย เช่น ชาตินิยม, ศาสนานิยม หรือแม้แต่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (ซึ่งเป็นเผด็จการรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีคนชั้นกลางจำนวนมากพอสมควร เพราะตามทรรศนะของ Hannah Arendt คนชั้นกลางเท่านั้นที่จะกลายเป็นอณูได้ และอณูเท่านั้นที่ในบางสถานการณ์อาจถูกชักจูงไปโดยลุงฮิตเลอร์ หรือลุงประเภทอื่นที่สามหาวและ
อำมหิตพอๆ กันได้) อุดมการณ์ทางการเมืองเหล่านั้น ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมหรือสอดคล้องกับประชาธิปไตยเสมอไป

หรือการเมืองเชิงอัตลักษณ์บางอย่างก็อาจเป็นอริกับประชาธิปไตยได้ เช่น หน้ากากขาว, คนไทย (ประเภทคนไทยหรือเปล่า), ข้ารองบาท, นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, กัมมันตพลเมืองคนดี, นักชาตินิยมพลังงาน ฯลฯ

คนชั้นกลางในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้น 20 ในยุโรปและอเมริกาเหนือ หันมาสนับสนุนผลักดันประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อคนชั้นกลางกลายเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศไปแล้ว ในขณะที่คนชั้นกลางจำนวนมากแต่ไม่ถึงครึ่งอย่างที่เกิดในประเทศอาหรับ, ละตินอเมริกา, จีนและไทยในระยะ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา อาจกลับหลังหันให้แก่ประชาธิปไตยเมื่อไรก็ได้ หาก
หวั่นวิตกว่าเสรีภาพและสิทธิเลือกตั้งอันเป็นสากล อาจนำมาซึ่งการกระจายทรัพยากรไปให้คนจนมากและเร็วเกินไป

ข้ออ้างของคนชั้นกลางในกรณีเช่นนี้เหมือนกันทั้งโลก นั่นคือคนจนหรือคนที่ได้รับการศึกษาไม่มากนั้น อาจใช้สิทธิเลือกตั้งของตนไปสู่ความหายนะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ อย่าลืมว่าคนชั้นกลางเหล่านี้ล้วนอาศัยอยู่ในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนชั้นกลางในระดับเดียวกับตน ต่อเมื่อคนชั้นกลางระดับเดียวกันได้กลายเป็นพลเมืองส่วนใหญ่แล้วต่างหาก ที่ประชาธิปไตยจะให้ความปลอดภัยและมั่นคงแก่สถานะทางเศรษฐกิจของตนได้ดีที่สุด

Advertisement

แต่ข้อที่ว่าเมื่อคนชั้นกลางกลายเป็นส่วนใหญ่ของพลเมืองแล้ว ประชาธิปไตยจึงสามารถตั้งมั่นขึ้นได้นี้ ก็ไม่เป็นหลักประกันที่แน่นอนตายตัวในปัจจุบันไปเสียแล้ว สิงคโปร์และมาเลเซียมีคนชั้นกลางเกินครึ่ง แต่จะให้เสี่ยงขยายประชาธิปไตย เช่นมีการเมืองหลายพรรคที่มีโอกาสทางการเมืองใกล้เคียงกัน กว่าครึ่งของคนชั้นกลางมาเลเซียและสิงคโปร์คงไม่เอา เพราะเสี่ยงเกินไป หรือในประเทศจีนซึ่งมีคนชั้นกลางไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของพลเมือง นักเคลื่อนไหวสิทธิประชาธิปไตยซึ่งมาจากคนชั้นนี้ ไม่เคยสามารถดึงดูดการสนับสนุนจากคนชั้นเดียวกับตนได้อย่างกว้างขวางเลย

ก็มันเสี่ยงเกินไป

ทําไมคนชั้นกลางจึงไม่กล้าเสี่ยงเอามากๆ เช่นนี้? คำตอบก็คือคนชั้นกลางเป็นกลุ่มคนที่อ่อนแอมากในการรักษาและสืบทอดสถานะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเข้มแข็งทางการเมืองบางอย่างที่คนชั้นอื่นในสังคมไม่มี เรามาดูด้านความอ่อนแอกันก่อน

Advertisement

คนชั้นกลางครอบครองทรัพย์สินที่มีลักษณะผันผวนอย่างยิ่ง เช่น ที่ดินบ้านเรือนขนาดเล็ก มูลค่าของมันแปรผันไปตามลักษณะของทำเลที่ตั้งของเมือง ซึ่งไม่มีหลักแน่นอนที่คนชั้นกลางอาจกำหนดได้ (เช่นขโมยชุม), รถยนต์และยานพาหนะอื่นซึ่งเสื่อมราคาลงอย่างรวดเร็ว, หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งอาจล่มสลายลงได้ในชั่วข้ามคืน, หรือเงินสดในธนาคารซึ่งมักจะผลิตดอกเบี้ยได้น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากคนชั้นสูง ซึ่งมักครอบครองทรัพย์สินที่มีความผันผวนน้อยกว่า (แม้แต่ที่อยู่อาศัยก็เป็นปราสาท บนเนื้อที่หลายๆ ไร่ ซึ่งทำให้เกิดมูลค่าในตัวของมันเองมากกว่าผันผวนไปตามสภาพแวดล้อม) และแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากคนชั้นล่าง ซึ่งแทบไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินมีค่าอะไรเลย ความผันผวนด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเหมือนลมหายใจอยู่แล้ว

สถานะทางสังคมของคนชั้นกลางก็ไม่มั่นคงอีกเหมือนกัน โดยมากมักสัมพันธ์กับสถานะทางเศรษฐกิจซึ่งผันผวนอย่างมากดังที่กล่าวแล้ว คนชั้นกลางไม่มีเลือดสีอื่นใดนอกจากสีแดง ไม่มีเหรียญตราหรือยศถาบรรดาศักดิ์ที่อาจส่งต่อในตระกูลได้ ที่เผยอหน้าขึ้นไปได้ก็เพราะมีเงิน ฉะนั้นเมื่อหมดเงินก็จะตกลงมาสู่จุดที่ไม่เหลืออะไรในทางสังคมเลย เท่ากับคนชั้นล่างซึ่งไม่เคยมีอะไรจะเผยอได้อยู่แล้ว ความไม่มั่นคงด้านสถานะทางสังคมนี้กระมัง ที่ทำให้คนชั้นกลางจำเป็นต้องบริโภคสัญญะ (ทางสังคม) ของสินค้าและบริการที่มีขายในท้องตลาดอย่างหนัก

เนื่องจากขาดความมั่นคงด้านสถานะดังที่กล่าวข้างต้น คนชั้นกลางจึงไม่อาจสืบทอดสถานะของตนไปยังบุตรหลานได้สะดวก วิถีทางเดียวที่พอจะประกันการสืบทอดสถานะได้คือการศึกษา ซึ่งต้องประกอบด้วยการแข่งขันอันเป็นสิ่งที่คนชั้นกลางเองต้องการ ด้วยเหตุดังนั้นการศึกษาจึงไม่เป็นหลักประกันว่า คนชั้นกลางจะสามารถสืบทอดสถานะของตนแก่บุตรหลานได้ทุกครอบครัว

คนชั้นกลางไทยใช้อำนาจทางการเมืองเท่าที่มี เพื่อประกันว่าระบบการศึกษาของประเทศต้องมีลักษณะแข่งขันเสมอไป แต่ต้องไม่ใช่การแข่งขันเสรี เพื่อแยกแยะการสืบทอดสถานะของคนชั้นกลางด้วยกันให้เกิดความลดหลั่นตามสภาพที่เป็นจริงของครอบครัว ระบบการศึกษาที่เป็นประชาธิปไตยกว่านี้จึงยิ่งคุกคามความอ่อนไหวของการสืบทอดสถานะไปสู่บุตรหลาน

หากเข้าใจความอ่อนแอด้านสถานะของคนชั้นกลางเช่นนี้ ก็ไม่ยากที่จะเข้าใจบทบาทด้านการเมืองของคนชั้นกลางไทยในระยะ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาออกมาต่อต้านเผด็จการทหารบนท้องถนนในปี 2535 ก็เพราะมั่นใจว่า ระบอบทหารไม่อาจนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองได้ พวกเขาสนับสนุนการรัฐประหารของกองทัพในปี 2549 และ 2557 ก็เพราะได้เห็นแล้วว่าระบอบเลือกตั้งทำลายเสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนคนชั้นกลางต้องการเห็นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่นั่นยังมีความสำคัญน้อยกว่าเสถียรภาพทางการเมือง เพราะสถานะอันไม่มั่นคงของตนเองต้องการเสถียรภาพทางการเมืองเหนืออื่นใด โกงบ้าง ทำงานไม่เป็นบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้การเมืองมีเสถียรภาพ (ผมยอมรับว่า อ่าน “เสถียรภาพทางการเมือง” ของคนชั้นกลางไทยได้ยาก เช่นหากตุลาการถูก “ภิวัตน์” ให้ตัดสินคดีไปตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร จึงไม่เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างอำนาจทั้งสอง จะถือว่าเป็น “เสถียรภาพ” หรือไม่ ด้วยเหตุดังนั้นจึงประเมินไม่ได้เหมือนกันว่า คนชั้นกลางไทยยังเห็นว่าเผด็จการทหารชุดนี้นำ “เสถียรภาพ” มาสู่การเมืองอยู่หรือไม่)

แต่คนชั้นกลางก็มีความเข้มแข็งทางการเมืองที่คนชั้นอื่นไม่มี แม้ว่าวิถีชีวิตของคนชั้นกลางจะ “ต่างคนต่างอยู่” ทำให้รวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ยาก แรงงานอุตสาหกรรมในระยะเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น คือคนที่ถูกขับออกมาจากภาคเกษตร เข้ามาชุมนุมกันในแหล่งคนจนของเมืองที่มีโรงงาน แม้อดอยากยากแค้นแสนสาหัสอย่างไร ก็ยังอยู่ในชุมชนเดียวกันซึ่งทำให้รวมตัวกันเพื่อต่อรองได้ง่าย (หากมีผู้นำ) โดยทั่วๆ ไปแล้ว คนชั้นกลางไม่มี “ชุมชน” ถึงจะอยู่ร่วมละแวกเดียวกัน ก็ไม่มีความสัมพันธ์กันทางอื่น สมาคมของคนชั้นกลางข้ามถิ่นที่อยู่ เช่น สมาคมนักเรียนเก่า, สมาคมนักเล่นแสตมป์ ฯลฯ จึงไม่มีความสัมพันธ์อะไรกันมากไปกว่าความสนใจร่วมกัน

แม้ว่ายากในการจัดองค์กร คนชั้นกลางไทยกลับเป็นกลุ่มที่สามารถระดมกำลังได้ง่ายที่สุด เพราะไม่มีคนชั้นใดในสังคมที่เข้าถึงสื่อมวลชนได้มากไปกว่าคนชั้นกลาง ดังนั้น หากมีเหตุใดที่คนชั้นกลางสนับสนุนหรือต่อต้าน ก็จะสามารถระดมกันออกมาสู่พื้นที่สาธารณะได้อย่างรวดเร็ว เป็นจำนวนมาก แต่เพราะไม่ได้ออกมาผ่านการจัดองค์กร เป้าหมายทางการเมืองในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนชั้นกลาง จึงมักเป็นการเรียกร้องเชิงรูปธรรมในระยะสั้น เช่นให้นายกฯลาออก ให้ยกเลิกกฎหมายนั้นๆ ให้ปล่อยผู้ต้องหาอย่างไม่มีเงื่อนไข ให้ลดภาษีน้ำมัน ฯลฯ คนชั้นกลางไทยไม่สามารถเคลื่อนไหวเพื่อปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง หรือค่านิยมใหม่ซึ่งต้องใช้การเคลื่อนไหวในระยะยาวได้

ในสังคมที่คนชั้นกลางเป็นคนส่วนใหญ่ และมีการจัดองค์กรทางสังคมจนเป็นที่คุ้นเคยแล้ว เช่นในสหรัฐ คนชั้นกลางจะกลายเป็นกลุ่มประชาสังคมที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงมาก ไม่จำเป็นว่ากลุ่มประชาสังคมของคนชั้นกลางในทุกสังคมจะต้องเอื้อต่อประชาธิปไตยเสมอไป กลุ่มประชาสังคมของคนชั้นกลางในละตินอเมริกาหลายประเทศ รวมทั้งของไทยเอง กลับพยายามล้มล้างรัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งไม่เป็นที่ถูกใจ ในเกือบทุกกรณีเรียกร้องโดยเปิดเผย หรือโดยนัยยะให้กองทัพเข้ามายึดอำนาจเสีย

อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบันพลังทางการเมืองของคนชั้นกลาง เฉพาะความสามารถจะระดมกำลังได้มากและรวดเร็ว โดยไม่มีการจัดองค์กรมาก่อนก็ตาม หรือที่จัดองค์กรมาอย่างดีก็ตาม เป็นพลังทางการเมืองที่ใหญ่มากในทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมประชาธิปไตยหรือไม่ ก่อความสั่นสะเทือนที่ผู้ถืออำนาจรัฐต้องจัดการอย่างสุขุมรอบคอบเสมอ

ควรกล่าวถึงคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ด้วย นั่นคือคนจนใหม่ ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้คือคนที่ล้มละลายมาจากภาคเกษตรหรือภาคประเพณี (หรือลูกหลานของเขา) แต่ด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่สามารถไหลเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมได้เหมือนคนจนรุ่นปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป มีที่อยู่และอาชีพกระจัดกระจายจนไม่อาจจัดเป็นกลุ่มก้อนได้แม้มีจำนวนมากในบางสังคม จึงมีอำนาจต่อรองทางการเมืองเท่ากับศูนย์ คนจนใหม่จึงไม่มีความสำคัญทางการเมือง และถูกทอดทิ้ง

คนกลุ่มนี้มีในสังคมไทยไม่มากเหมือนในบางสังคมของละตินอเมริกาและแอฟริกา ประเทศไทยโชคดีที่ขยายการศึกษาแผนใหม่ได้ทัน (อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา หากไม่นับการขยายครั้งแรกหลัง 2475) แม้ว่าการศึกษาของไทยก้าวไม่ทันเทคโนโลยี แต่อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้ลูกหลานของเกษตรกรจำนวนมาก พอมีรายได้จากโรงงานอุตสาหกรรมและภาคบริการสมัยใหม่บ้าง

เท่าที่อภิปรายมาถึงตรงนี้ หวังว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจบทบาททางการเมืองของคนชั้นกลางไทยที่ผ่านมาในอีกมิติหนึ่งที่ไม่ค่อยพูดถึงกันมากนัก ในตอนต่อไปจะพยายามคาดการณ์ว่าบทบาททางการเมืองของคนชั้นกลางไทยจะเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร โดยอาศัยกรอบการวิเคราะห์อย่างที่กล่าวมาแล้วในตอนนี้

(ประยุกต์ข้อมูลและความคิดบางส่วนจาก Francis Fukuyama ใน Political Order and Political Decay)

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image