แง้ม’กม.ปรองดอง’ ฉบับสนช. ‘พักโทษ-สมานฉันท์’

เริ่มเดินหน้าก้าวแรกในการขับเคลื่อนงานด้านการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประเทศกันอีกครั้ง ภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) นัดแรกที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นเลขานุการ ป.ย.ป. เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธาน ป.ย.ป. ได้ประกาศโรดแมปของ ป.ย.ป.ไว้ว่า คณะกรรมการชุดนี้เป็นชุดที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ โดยเป็นคณะที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของประเทศในทุกด้าน เนื่องจากว่าได้มีการหารือกันมาหลายครั้งแล้ว และที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาได้พูดคุยกันมาตลอดในหลายประการด้วยกัน วันนี้ต้องจัดทุกอย่างให้อยู่ในกรอบและสร้างการรับรู้ เพื่อให้สังคมเข้าใจ นำไปสู่แนวทางที่จะเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในอนาคต ที่ผ่านมาได้ทำอะไรหลายอย่างมาตลอด 3 ปี และมีความคืบหน้าเป็นจำนวนมาก ทั้งการแก้ปัญหา การเริ่มต้น การทำใหม่ แต่ทั้งหมดล้วนอยู่ในกรอบของกฎหมายเดิมที่มีอยู่ แต่ยังไม่สมบูรณ์

“ที่ผ่านมากฎหมายหลายฉบับยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้นวันนี้จึงอยากให้ปลดล็อกพันธนาการ เหล่านั้นให้ได้ก่อน แล้วมาหาทางกันว่าประเทศไทยต้องการอะไรอีกในเรื่องของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน และในสิ่งที่ทำแล้วก็ต้องหาด้วยว่ามีปัญหา อุปสรรค อยู่ตรงไหน และอะไรที่ควรทำให้ได้ใน 1 ปี ให้สำเร็จ ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นในทุกมาตรการ นี่คือสิ่งสำคัญ เปรียบคณะกรรมการชุดนี้เหมือนกล่องที่ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ (ECU) เปรียบข้าราชการเป็นกลไกของรถ ที่จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า” ประธาน ป.ย.ป.ระบุถึงโรดแมป

ขณะเดียวกันหลายภาคส่วนทั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการเมือง ได้นำเสนอแนวทางการปรองดอง ผ่านรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านเมือง สปท. ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน กมธ. โดยมีไฮไลต์ คือ “การพักโทษ” ในส่วนคดีความผิดไม่ร้ายแรง มีหลักเกณฑ์สร้างความปรองดอง คือ หากเป็นคดีของประชาชนทั่วไปที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล หากจำเลยยอมรับผิดตามที่ถูกฟ้อง จะเสนอให้ศาลจำหน่ายคดีออกไป แต่ระหว่างนั้น 5 ปี ห้ามไปก่อปัญหาต่อบ้านเมือง ห้ามชุมนุม ปลุกปั่นยุยง สร้างความแตกแยก ถ้าไปก่อเหตุวุ่นวายจะต้องถูกดำเนินคดีตามเดิม

Advertisement

สอดรับกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน กมธ. ที่นำเสนอร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมุลเหตุจูงใจทางการเมือง พ.ศ. … จำนวน 33 มาตรา เข้าสู่การประชุม ป.ย.ป.นัดแรก ให้คณะกรรมการ ป.ย.ป. ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

สำหรับที่มาที่ไปของร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พ.ศ. … นั้น กมธ.การเมือง สนช.ท่านหนึ่งเล่าว่า เป็นร่างที่ กมธ.พิจารณามาตั้งแต่กลางปี 2559 แล้ว ร่างที่ถูกเผยแพร่ออกมาเป็นร่างที่ยังไม่ถือว่าเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ จะต้องพิจารณาทบทวนเพื่อหาข้อสรุปกันต่อไปอีก

แต่หลักการและเหตุผลเบื้องต้น “กมธ.การเมือง” ตั้งใจให้ประโยชน์แก่ “ผู้ถูกดำเนินคดีอาญา” เท่านั้น โดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองจากการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกในทางการเมือง ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2548 ไปจนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งจะไม่นับรวบความผิดอาญาหรือเหตุการณ์รุนแรง ผู้ต้องโทษในความผิดทุจริตประพฤติมิชอบ รวมไปถึงความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

Advertisement

ตามร่าง พ.ร.บ.ที่เผยแพร่ออกมาจะได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ 1 ชุด ที่ชื่อว่า “คณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” จำนวน 11 คน ที่ถือเป็นไฮไลต์ ประกอบด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการอัยการ ผู้ตรวจการแผ่นดิน สถาบันพระปกเกล้า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สภาทนายความ และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยแต่งตั้งฝ่ายละหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสันติวิธีหรือสิทธิมนุษยชน จำนวน 2 คน ซึ่งทำการคัดเลือกกันเอง เป็นกรรมการ และให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการ

กมธ.การเมืองคนดังกล่าวอธิบายต่อด้วยว่า เป็นความตั้งใจที่จะใช้คณะกรรมการชุดดังกล่าว เป็น “กลไก” ในการขับเคลื่อนเสนอความเห็นต่างไปยังผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย นั่นคือศาลกับอัยการ เพราะ กมธ.การเมืองจะเปิดช่องให้มีการร้องขอให้ศาลสามารถหยิบคดีที่ได้พิจารณาเป็นที่สุดไปแล้วมากำหนดโทษใหม่ได้ หรือหากในกรณีที่เป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ก็เปิดช่องให้ผู้ถูกดำเนินคดีอาญาที่เข้าเกณฑ์ของร่างกฎหมายดังกล่าวสามารถยื่นคำร้องเพื่อหาเหตุบรรเทาโทษได้ รวมไปถึงกรณีที่คดีไม่ยังถูกฟ้องร้องต่อศาล ก็สามารถยื่นคำร้องให้อัยการ หาเหตุไม่ต้องยื่นฟ้องต่อศาลก็ได้เช่นเดียวกัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คดีที่จะเข้าเงื่อนไขดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก “คณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” เสียก่อน

ส่วนกระบวนการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาฯ เป็นกฎหมายนั้น กมธ.การเมือง สนช. ระบุว่า หากจังหวะเวลาได้ ทุกฝ่ายมีความพร้อม เชื่อว่านายกล้านรงค์ในฐานะประธาน กมธ.การเมือง จะนำเข้าหารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อขอขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.)

จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สนช.เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image