พ่อแม่”อ้วน” กระทบถึงพัฒนาการ”ลูก”

(ภาพ-neurosciencenews)

สถาบันพัฒนามนุษย์และสุขภาพเด็กแห่งชาติ ยูนีซ เคนเนดี้ ชรีเวอร์ (เอ็นไอซี เอชดี) ในสังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (เอ็นไอเอช) ของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดของคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบัน นำโดย เอ็ดวินา เยือง ซึ่งพบว่าพ่อและแม่ที่มีปัญหาน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนจะส่งผลกระทบถึงพัฒนาการของเด็กทารกในครรภ์

งานวิจัยซึ่งใช้วิธีการทบทวนข้อมูลจากการวิจัยในอดีตดังกล่าว อาศัยข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเด็กๆ จากรัฐทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งเดิมเป็นงานวิจัยที่มีเป้าหมาย เพื่อตรวจสอบว่าลักษณะการบำรุงครรภ์ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 3 ขวบหรือไม่ โดยมีสตรีมากกว่า 5,000 คนเข้าร่วมอยู่ในการศึกษาวิจัยดังกล่าวที่กินเวลาราว 4 เดือนหลังจากคลอดบุตรในรัฐนิวยอร์ก (ไม่รวมนครยินยอร์ก) ระหว่างปี 2008-2010 โดยที่ทั้งสามีและภรรยาที่คลอดบุตรดังกล่าวต้องกรอกแบบสอบถามหลังจากผ่านการทำชุดกิจกรรมร่วมกับทารกของตนเอง การทดสอบดังกล่าวไม่ได้ทำเพื่อวิเคราะห์สภาวะทุพพลภาพ แต่ถือเป็นการคัดกรองผู้ที่คาดว่าจะมีปัญหา ดังนั้นเด็กๆ แต่ละรายจะถูกเก็บเป็นข้อมูลอ้างอิงไว้เพื่อการทดสอบครั้งต่อๆ ไป

เด็กทารกที่ร่วมอยู่ในกระบวนการทดสอบดังกล่าวเริ่มต้นทดสอบเมื่ออายุ 4 เดือน จากนั้นจะมีการทดสอบซ้ำอีก 6 ครั้ง จนกระทั่งอายุครบ 3 ขวบ ข้อมูลสุขภาพและน้ำหนักทั้งก่อนและหลังการตั้งครรภ์ของเด็ก ตัวผู้เป็นมารดาจะเป็นผู้ให้ข้อมูล เช่นเดียวกับน้ำหนักของผู้เป็นพ่อและแม่ของเด็กแต่ละรายด้วย

เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับเด็กที่มีแม่มีน้ำหนักปกติ เด็กที่มีแม่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มไม่ผ่านการทดสอบทักษะของกล้ามเนื้อเล็ก (ไฟน์ มอเตอร์ สกิล) สูงกว่าถึงเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เด็กที่มีพ่อมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน มีแนวโน้มไม่ผ่านการทดสอบบุคคล-สังคมสูงกว่า 75 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเด็กที่มีพ่อน้ำหนักปกติ แบบทดสอบดังกล่าวเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าบุคคลดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงหรือมีปฏิกิริยากับผู้อื่นในสังคมได้ดีหรือไม่หลังอายุ 3 ขวบแล้ว

Advertisement

สุดท้ายกลุ่มเด็กๆ ที่ทั้งพ่อและแม่มีน้ำหนักเกินหรือป่วยเป็นโรคอ้วน มีโอกาสสูงกว่าเกือบ 3 เท่าตัวที่จะไม่ผ่านการทดสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเมื่ออายุครบ 3 ขวบ เมื่อเทียบกับเด็กที่มีพ่อแม่มีน้ำหนักปกติ

ผู้วิจัยยอมรับว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่รู้กันว่าเพราะเหตุใดพ่อแม่ที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนก่อให้เกิดการชะลอพัฒนาการในเด็ก แต่ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าก่อนหน้านี้มีงานวิจัยในสัตว์ที่แสดงให้เห็นว่าความอ้วนขณะตั้งครรภ์ก่อให้เกิดอาการอักเสบที่สามารถส่งผลกระทบต่อสมองของเด็กทารกในครรภ์ ทำให้มีข้อมูลส่งไปถึงสมองของเด็กน้อยเกินไปและกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ในขณะที่ผลวิจัยบางชิ้นชี้ว่าโรคอ้วนส่งผลกระทบต่อยีนในสเปิร์ม ทำให้เกิดการชะลอในพัฒนาการของเด็กดังกล่าว

หากมีการยืนยันการเชื่อมโยงระหว่างโรคอ้วนกับการชะลอพัฒนาการในทารกจริง ในอนาคตแพทย์ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงน้ำหนักของพ่อและแม่ก่อนตั้งครรภ์ด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image