มูลนิธสืบฯจัดเสวนาค้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขง นักวิชาการชี้ทำปลาหายปีละ 7 แสนตัน

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเวทีเสวนาวิพากษ์โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง โดยมี น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา นายชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านการประมง และ น.ส.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และเข้าร่วมเสวนา

น.ส.เพียรพร กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชาชนหลายล้านคนใน 4 ประเทศน้ำโขงตอนล่างจับปลาและสัตว์น้ำประมาณ 1.9-4 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากมีการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจะสร้างผลกระทบข้ามพรมแดนสู่พรมแดนไทย – ลาว กระทบต่อวงจรอพยพของปลา เนื่องจากระดับน้ำโขงผันผวนขึ้นลงผิดฤดูกาล ปลาน้ำโขงร้อยละ 70 เป็นปลาอพยพทางไกล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า ปัจจุบันไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ที่จะบรรเทาผลกระทบได้ เนื่องจากปลาร้อยละ 70 เป็นปลาที่อพยพเพื่อขึ้นไปวางไข่ทางตอนบนตั้งแต่ปากน้ำ – ทะเลสาบเขมร ขึ้นไปจนถึงพรมแดนไททย-ลาวที่สามเหลี่ยทองคำจ.เชียงราย นั่นแปลว่าจะทำให้ปลาแม่น้ำโขงหายไป 7 แสน – 1.4 ล้านตัน ต่อปี

ด้านนายสมเกียรติ กล่าวว่า โครงการปรับปรุงร่องน้ำ หรือการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อให้การเดินเรือมีความสะดวกนั้น มีระยะทาง 886.1 กิโลเมตร ซึ่งนั่นแปลว่า แหล่งอาหาร สัตว์น้ำ พืช นก จะต้องได้รับผลกระทบทั้งสิ้น โดยโครงการดังกล่าวมีขั้นตอนการดำเนินการเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 จะต้องระเบิดแก่ง 11 แก่ง กลุ่มหินใต้น้ำอีก 10 แห่ง เพื่อให้เรือระวางบรรทุกอย่างต่ำ 100 ตันสามารถเดินเรือได้ ส่วนระยะที่ 2 ต้องระเบิดแก่งและขุดลอกสันดอนทรายในแม่น้ำโขงเพิ่มอีก 51 เกาะแก่ง ให้เรือบรรทุกอย่างต่ำ 300 ตัน สามารถเดินเรือได้ และระยะที่ 3 ปรับปรุงลุ่มน้ำโขงให้มีลักษณะคล้ายคลอง เพื่อให้เรือบรรทุกอย่างต่ำ 500 ตันสามารถเดินเรือได้ ซึ่งลุ่มแม่น้ำโขงจะกลาย เป็นแม่น้ำสำหรับเดินเรือเท่านั้น และจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง คือไม่มีกลุ่มแพจับปลา หรือห้ามวางอวนจับปลา นับเป็นหายนะของชาวบ้าน วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องพึ่งพิงลุ่มแม่น้ำโขงจะต้องสูญหาย

“ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดน เนื่องจากการปักปันเขตแดนไทย-ลาว ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศสใช้ร่องน้ำลึกเป็นตัวชี้วัด หากมีการระเบิดแก่งปรับปรุงรอ่งน้ำ ก็จะทำให้ไทยสูญเสียดินแดนเป็นบริเวณกว้างเช่นเดียวกัน เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นทำให้คนท้องถิ่นเกิดความเป็นกังวล ชาวบ้านทุกข์ร้อนใจ จึงอยากให้สาธารณชนรับรู้ถึงความเดือนร้อนของคนท้องถิ่นบ้าง”นายสมเกียรติ กล่าว

Advertisement

ขณะที่นายชวลิต กล่าวถึงความสำคัญของเกาะแก่ง และผลกระทบจากการระเบิดเกาะแก่งต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงว่า เกาะแก่งแม่น้ำโขง มักมีนกอพยพมาอาศัยอยู่และหากินตามเกาะแก่งกลางลำน้ำโขงเป็นจำนวนมาก เช่น นกเป็ดน้ำ หากระเบิดเกาะแก่งจะทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เพราะนอกจากนกแล้ว ยังส่งผลต่อวงจรชีวิตสัตว์น้ำ แหล่งอาศัยและวางไข่ของปลาและนก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่หาปลาของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ทำลายแหล่งพืชพรรณบนแก่งริมฝั่งน้ำ ชุมชนไม่สามารถเพาะปลูกพืชใกล้ลุ่มแม่น้ำโขงได้อีก ซึ่งการระเบิดเกาะแก่งเท่ากับทำลายบ้านของปลา นก และแหล่งอาหารของชุมชนริมฝั่งโขง โครงการดังกล่าวคงมีแต่เจ้าของโครงการเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ส่วนชุมชนรากหญ้าจะต้องเผชิญกับปัญหาที่กำลังจะตามมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image