สัมภาษณ์พิเศษ ‘สุวิทย์ เมษินทรีย์’ แม่บ้านปฏิรูป แก้ปากท้อง-ลุยปรองดอง

หมายเหตุ – นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงการเดินหน้างานด้านยุทธศาสตร์ ปฏิรูป ปรองดอง ตามแนวคิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

รัฐบาลบริหารงานเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว เหตุใดจึงต้องมี ป.ย.ป.

พล.อ.ประยุทธ์มองว่าปีนี้เป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล จึงต้องเดินหน้าปฏิรูป เพราะภารกิจของรัฐบาล-คสช.คือการปฏิรูป ทำยุทธศาสตร์ชาติและสร้างความปรองดอง ก่อนรัฐประหารเรามีความขัดแย้งรุนแรง และมีปัญหามากมาย หากปล่อยให้เป็นอยู่อย่างนั้นประเทศจะเดินต่ออย่างไร ขณะที่การทำงานของรัฐบาลใน 2 ปีแรก ได้มีเรื่องให้ต้องเก็บกวาดเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาประมงผิดกฎหมาย (IUU) ปัญหาองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ปัญหาคอร์รัปชั่น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ส่วนเศรษฐกิจไทยเองก็ค่อนข้างซึม เมื่อขณะนี้ปัญหาเหล่านี้เริ่มทุเลาลง พล.อ.ประยุทธ์ จึงเดินหน้าเน้นสิ่งที่เราได้สัญญาไว้กับประชาชน จึงนำมาสู่การจัดตั้ง ป.ย.ป.อันหมายถึงปฏิรูปยุทธศาสตร์ ปรองดอง แต่ไม่ใช่ว่าเราเพิ่งทำ เราทำมาโดยตลอด เพียงแต่วันนี้เรามองในเชิงบูรณาการ ทำให้มีความเข้มข้น เป็นรูปธรรม โดยนำเรื่องสำคัญๆ มาร้อยเรียง เพื่อ 1.เตรียมส่งมอบให้รัฐบาลหน้า ซึ่งจะมีทั้งภารกิจตามรัฐธรรมนูญ เช่น การปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ การสร้างความปรองดอง 2.ดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งจะมีการซ่อม เสริม สร้าง ขับเคลื่อนโดยมินิคาบิเน็ต

โครงสร้างของ ป.ย.ป.เป็นอย่างไร

Advertisement

มีคณะกรรมการ ป.ย.ป. โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งใน ป.ย.ป.จะมีคณะกรรมการย่อย 4 คณะได้แก่ 1.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และ 4.คณะกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ ใน 4 คณะย่อยนี้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มงาน 1.กลุ่มงานซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรง คือกลุ่มบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ กลุ่มนี้จะมีการตั้ง 10 ทีมเพื่อแก้ไขปัญหา 10 ประเด็นยุทธศาสตร์และนโยบายระดับบัญชาการ โดยจะหาคนที่เก่งที่สุดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนมาร่วมงาน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เปิดกว้างให้หาคนเก่งมาช่วย เพราะหากเรายังใช้คนของราชการ ก็อาจมีข้อจำกัด ไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร

2.กลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำ 3 สายคือคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตรงนี้หมายถึงคณะกรรมการชุดที่ 1 2 3 คือกลุ่มบริหารยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูป ปรองดอง อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 คณะย่อยจะมีความเชื่อมต่อกันหมด เช่น การปรองดองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเวทีพูดคุย บางขณะการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการปลดล็อก อาทิ กฎหมายบางฉบับที่ไม่เป็นธรรม โดยจะต้องใช้ สปท.และ สนช.เข้ามาช่วยดูกฎหมาย ซึ่งแต่ละคณะจะมีประชารัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมงาน อย่างไรก็ตาม ป.ย.ป.จะอยู่ในสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาถึงโครงสร้าง

ความคาดหวังคือต้องการให้ PMDU คงอยู่ถาวรถึงรัฐบาลหน้าเลยหรือไม่

PMDU มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ดูว่าทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ มีอำนาจพอสมควรที่จะบอกว่าจะปลดล็อกข้อติดขัดอย่างไรให้เดินตามยุทธศาสตร์ได้ มีลักษณะคือ 1.สามารถตั้งง่ายยุบง่าย หากรัฐบาลใหม่เข้ามาพบว่าไม่ดีก็สั่งยุบง่าย แต่ถ้าดีก็ขอให้อยู่ต่อ เราไม่ได้บอกว่านี่เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานราชการ เราก็ไม่ยากผลักภาระให้ 2.ยืดหยุ่น เพราะเป็นส่วนที่เชื่อมต่องานสำคัญๆ ของชาติ ต้องมีงบประมาณของตัวเองที่ชัดเจน ดังนั้น หากเราต้องการได้คนดีคนเก่งเข้ามาทำงาน เราก็อาจจะต้องสู้ราคาพอสมควร ซึ่งอาจต้องใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้องค์กรนี้มีความยืดหยุ่น สามารถดึงคนเก่งๆ เข้ามา 3.การหาตัวบุคลากรไม่ว่าจะมาจากรัฐหรือเอกชน คนที่ถูกวางตัวเข้ามานั้นต้องสามารถทำให้เชื่อได้ว่า เข้ามาแล้วจะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงแน่นอน มาแล้วต้อง Big changes

การทำงานของ ป.ย.ป.จะสามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมเมื่อใด

นายกฯคิดอยู่ในกรอบการซ่อม เสริม สร้าง วันนี้มีหลายอย่างในประเทศที่ต้องซ่อม เสริม และสร้างขึ้นมา เนื่องจากเราไม่มี งานทุกชิ้นทั้งยุทธศาสตร์ ปฏิรูป ปรองดอง เราต้องทำวันนี้ประเทศไทยมีเรื่องให้ต้องซ่อมมากถึง 70%-80% เพราะเรามีแค่ 20%-30% การซ่อมนี้จะต้องเห็นผลขั้นต้นใน 6-12 เดือน โดยนายกฯเทใจให้ปี 2560 หนักที่สุดเพราะรัฐบาลยังทำงานอยู่ ส่วนการเสริมมีเรื่องให้ต้องทำ 20%-30% เพราะดีอยู่แล้ว 70%-80% ต้องเห็นผลขั้นต้น 6-12 เดือน และเห็นผลต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี ส่วนการสร้างใหม่ เนื่องจากเราไม่มีและไม่ทำก็ไม่ได้ โดยต้องทำใหม่ทั้ง 100% จึงคาดว่าจะเห็นผลให้ระยะต้นที่ 1 ปี เห็นผลสัมฤทธิ์เต็มที่ภายใน 3-5 ปี

ปีนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้างจากการซ่อม เสริม สร้าง

นายกฯมอบหมายให้นำ 2 เรื่องมาประชุมก่อนเป็นการประเดิม คือประชุมคณะกรรมการเตรียมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) การผลักดันการลงทุนกลุ่มจังหวัดด้วยงบประมาณ 1 แสนล้านบาท และจากนั้นจะเสนอนายกฯประชุมเรื่องการเตรียมคนไทยสู่ทศวรรษที่ 21 และการปฏิรูปการศึกษา แรงงาน 4.0 ยกระดับเกษตรกร ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เราอยากจะเห็นอนาคต แต่จะให้เขียนโดยละเอียดว่าอีก 20 ปี ประเทศจะมีน่าตาอย่างไรคงตอบลำบาก แต่เราจะดูใน 5 ปีแรก ซึ่งรัฐบาลอยู่แค่ปี 2560 อาจจะเลยไปปี 2561 บ้างเล็กน้อย แต่เราจะเน้นช่วงที่มีเวลาเหลืออยู่ บางอย่างจะเห็นผลในปีนี้ บางอย่างจะเริ่มงอกเงยในถัดไปและเห็นผลต่อเนื่อง

ประเด็นที่คนไทยให้ความสนใจอย่างการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ จะมีแนวทางอย่างไร

เราจะไม่มุ่งไปที่ปัญหาการเมืองเป็นพิเศษเพราะคิดว่านั่นไม่ตอบโจทย์ จึงควรมุ่งไปที่ฐานรากของปัญหา ซึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำ ทั้งเรื่องของความมั่งคั่ง โอกาส อำนาจ และความไม่เป็นธรรม ผมเชื่อว่าถ้าเราสามารถสร้างสังคมที่เป็นธรรม เป็นสังคมแห่งโอกาส นั่นจะสามารถแก้ไขปัญหาความปรองดองได้ 80%-90% คือถ้าคนเรามีอันจะกิน เรื่องปากท้องไม่ได้เป็นปัญหา และรู้สึกว่าลูกหลานมีโอกาส คนก็จะรู้สึกว่าอยู่อย่างนี้ก็มีความสุข เรื่องอะไรจะต้องไปสร้างความขัดแย้ง เหล่านี้นายกฯเน้นว่าทำอย่างไรให้คนอยู่รอดพอเพียงและยั่งยืน ซึ่งจะต้องนำเรื่องสังคมของการเรียนรู้พัฒนาตัวเองเข้ามา การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หากพูดเฉพาะแค่ปัญหาการเมืองก็จะหาทางออกไม่เจอ เพราะการเมืองมักจะวนอยู่ด้วยตัวมันเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่สังคมเป็นธรรมให้แต้มกับคนด้อยโอกาสสังคมก็จะน่าอยู่เอง ไม่จำเป็นต้องมาหาเรื่องกัน ดังนั้น ที่ผ่านมาคลําไม่ถูกจุดหรือเปล่าที่เน้นเรื่องการเมืองก่อน

แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ยุ่งกับปัญหาการเมืองเลย เพราะการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในที่นี้คือการทำควบคู่กันไปกับการแก้ไขปัญหาเรื่องอื่นๆ พล.อ.ประยุทธ์มองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ หากยังมีอยู่โอกาสทุเลาความขัดแย้งคงลำบาก เราจึงต้องมีนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพื่อนำมาสู่เวทีการปรองดอง เวทีการเมืองนี้จะไม่ใช่การถกเถียงกันในประเด็นทางการเมือง แต่จะมาพูดคุยเพื่อตอบโจทย์ผลประโยชน์ของประเทศ จะไม่ใช่เวทีแบบเดิมๆ ผมว่ามันเสียเวลา คือโลกเรามีความผันผวนซับซ้อนมากขึ้น ถ้ามัวแต่ตบตีกันคงไม่มีประโยชน์อะไรเลย

การปรองดองที่พูดถึงนี้มีหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ซึ่งขณะนี้มีพัฒนาการและความขัดแย้งก็ได้ลดน้อยถอยลงมาก หากเทียบกับก่อนรัฐประหาร เราเห็นว่าความขัดแย้งมักมีที่มาจากความไม่เป็นธรรม ความแตกต่างทางความคิด ซึ่งจะต้องเปิดให้มีเวทีเพื่อแก้ไขปัญหาแบบถอนรากถอนโคน แน่นอนความเหลื่อมล้ำไม่มีทางเป็นศูนย์ เพียงแต่จะอยู่อย่างไรให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ความเหลื่อมล้ำต้องไม่เกิดจากการลักลั่นหรือเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย

รัฐบาลมั่นใจว่าเหล่านี้จะนำมาสู่ทางออกของประเทศ

ไทยแลนด์ 4.0 เราต้องหลุดจากกับดับประเทศรายได้ปานกลาง แต่เมื่อรายได้สูงแล้วต้องกระจายไม่ใช่กระจุก ประชาชนต้องรวยอย่างยั่งยืนด้วยสมอง รัฐบาลนี้ทำการบ้านไว้ไม่น้อย และผลงานก็มากด้วยเช่นกัน เวลานี้คือการรวบรวมทุกอย่างมาวิเคราะห์ให้เข้มข้น เพื่อเตรียมส่งมอบยุทธศาสตร์ ปฏิรูป ปรองดองให้รัฐบาลใหม่ ก่อนหน้านี้เรามีปัญหาใต้พรมเยอะแยะ แต่ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะไปสู่อนาคต เมื่อหลายอย่างเริ่มนิ่ง เริ่มอยู่ตัว จึงเป็นโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะนำพาประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปสู่อนาคต ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เน้น 3 คำ 1.สร้างสังคมที่มีความหวัง (hope) 2.สร้างสังคมที่มีความสุข (happiness) 3.สร้างสังคมที่มีความสมานฉันท์ ปรองดอง (harmonious)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image