พบ “ผ้าไหม 8,500 ปี” เก่าแก่ที่สุดในโลกที่จีน

(ภาพ-Xinhua)

ทีมขุดค้นทางโบราณคดีของจีนตรวจสอบพบร่องรอยที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ผ้าไหมมีใช้กันในจีนตั้งแต่เมื่อ 8,500 ปีก่อนในยุคหินใหม่ (นีโอลิธิค) เก่าแก่กว่าที่เคยคิดกันไว้หลายพันปี

ผ้าไหมซึ่งทำจากใยของตัวไหมถือเป็นสินค้าหรูหรามาตั้งแต่ยุคโบราณ และเป็นที่มาของชื่อเส้นทางการค้าระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกในเวลานั้น ที่เรียกกันว่า เส้นทางสายไหมŽ หรือ ซิลค์โรดŽ เชื่อมต่อทางการค้าระหว่างจีนกับอาณาจักรโรมโบราณ

มีการค้นพบความลับในการทอผ้าไหมเป็นครั้งแรกในจีนเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นจีนยังมีตำนานเก่าแก่ที่เล่าถึงที่มาของการค้นพบเส้นไหมว่าเกิดขึ้นจากเหตุบังเอิญเมื่อรังไหมรังหนึ่งร่วงลงไปในถ้วยชามเหสีของจักรพรรดิเหลือง หรือ จักรพรรดิหวงตี้ (กงซุน) ซึ่งปกครองจีนระหว่าง 2696-2598 ก่อนคริสตกาล เหตุดังกล่าวทำให้มเหสีผู้นั้นพบว่าใยไหมจากรังไหมรังนั้น สามารถสาวออกมาได้เป็นใยต่อเนื่องกันไม่ขาดตอนถึง 1 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงใดรองรับทำให้นักวิทยาศาสตร์ยังคงเสาะหาที่มาของไหมไม่หยุดยั้ง และในการเข้าไปตรวจสอบวิจัยแหล่งขุดค้นสำคัญทางโบราณคดีที่ เจียหู หมู่บ้านยุคหินใหม่ อายุเก่าแก่ถึง 9,000 ปีอยู่ในพื้นที่มณฑลเหอเฟย ตอนกลางของจีน ทำให้นักโบราณคดีจีนได้หลักฐานใหม่ที่แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของการทอผ้าไหมมากยิ่งขึ้นไปอีก แหล่งขุดค้นเจียหูดังกล่าวนี้ เป็นแหล่งโบราณคดีเก่าแก่ที่มีการค้นพบสิ่งของล้ำค่าทางโบราณคดีเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง-ขลุ่ยทำจากกระดูกปีกนกกระสา ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้งานได้ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบกันมาในโลก รวมถึงอักขระจีนยุคเริ่มแรก และไหที่บรรจุไวน์ ซึ่งหมักจากข้าวผสมกับน้ำผึ้งและผลไม้ ที่ถือกันว่าเป็นไวน์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน

Advertisement

กง เต๋อไข่ นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งจีน ในเหอเฟย ระบุว่าข้อมูลจากตำนานเก่าแก่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ในบริเวณนี้มีการเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมกันมาเนิ่นนาน มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่เจียหูและบริเวณใกล้เคียงมีอากาศอบอุ่นและชื้น ซึ่งเหมาะกับการเติบโตของต้นหม่อน ที่ตัวไหมใช้ใบของมันเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ทีมวิจัยของจีนเก็บตัวอย่างดินจากหลุมศพ 3 หลุมในเจียหูนำมาตรวจสอบด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและพบร่องรอยของไหมในดินตัวอย่างจาก 2 ใน 3 หลุมดังกล่าว หนึ่งในจำนวนหลุมศพที่พบร่องรอยของไหมนั้นมีอายุเก่าแก่ถึง 8,500 ปี ซึ่งกง เต๋อไข่ ชี้ว่าเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของผ้าไหมในจีนโบราณ และชี้ว่าหลักฐานของผ้าไหมที่เก่าแก่ที่สุดก่อนหน้านี้ก็พบในจีนเช่นเดียวกัน แต่มีอายุย้อนหลังไปเพียง 5,000 ปีเท่านั้นเอง

ทีมวิจัยยอมรับว่ายากมากที่จะค้นหาข้อเท็จจริงว่าผ้าไหมมาปรากฏในหลุมศพได้อย่างไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร แต่สันนิษฐานว่าผู้ที่ถูกฝังในหลุมศพดังกล่าวอาจสวมชุดผ้าไหมขณะถูกกลบฝัง ข้อสันนิษฐานนี้มีหลักฐานแวดล้อมช่วยประกอบ นั่นคือการที่ทีมขุดค้น ค้นพบเข็มทำจากกระดูก และเครื่องมือในการทอในแหล่งขุดค้นเดียวกันนี้ด้วย

กง เต๋อไข่ เชื่อว่าชาวเจียหูน่าจะมีทักษะพื้นฐานในการทอและเย็บผ้า และเป็นไปได้ที่สถานที่นี้อาจเป็นแหล่งทอผ้าไหมในยุคโบราณ แต่ต้องมีการหาหลักฐานบ่งชี้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image