สุจิตต์ วงษ์เทศ : ศิลาจารึกไม่ได้ทำให้คนอ่าน เพราะคนทั่วไปสมัยนั้น เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก

อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง มีฉากสุดท้ายปลุกใจรักชาติ (ไทย) บทประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ (กิม เหลียง วัฒนปฤดา หรือ วิจิตร วิจิตรวาทการ) แสดงครั้งแรกเมื่อปี 2497 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนนั้นหลวงวิจิตรวาทการเคยแต่งบทเพลงดนตรีประวัติศาสตร์ พิมพ์แจก พ.ศ. 2482 มีความตอนหนึ่งว่า เลือดของไทยเข้าไปปนเขมร ทำให้เด่นเกียรติไทยได้ส่งเสริม เลือดเขมรปนไทยไกลจากเดิม ไทยยิ่งเพิ่มเขมรกลายเป็นไทยแท้

“ศิลาจารึกเป็นประกาศ” นักปราชญ์ครูบาอาจารย์ไทยสั่งสอนอบรมสืบทอดกันมาอย่างนั้นนานมากแล้ว และยอมรับนับถือเป็นที่ยุติตามนั้นโดยไม่มีคำถาม จึงใช้ในการเรียนการสอนทั่วประเทศ

แต่ชุมชนวิชาการนอกระบบ มีคำถามว่าศิลาจารึกเป็นประกาศให้ใครอ่าน? ใครอ่านประกาศที่เป็นศิลาจารึก? ฯลฯ

 

คนทั่วไป เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก

คำตอบมีนานแล้วจากนักวิชาการ ว่าศิลาจารึกเป็นประกาศให้ผีกับเทวดารับรู้เรื่องราวที่ทำจารึกนั้น โดยไม่หวังให้คนอ่านทั่วไป พบทั่วไปในไทยและในอุษาคเนย์

Advertisement

ที่สำคัญต้องเข้าใจตรงกันก่อน คือ

  1. ศิลาจารึกตั้งอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระราชา เป็นเขตหวงห้าม สามัญชนเข้าถึงไม่ได้
  2. จารึกไม่เป็นศิลา มักสลักหรือเขียนไว้ในที่มิดชิด หรือซ่อนเร้นเป็นพิเศษ บางทีไม่มีใครรู้เห็นด้วยซ้ำ
  3. คนส่วนมากในรัฐจารีต อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าพระราชาทุกองค์จะอ่านออกเขียนได้

ข้อทักท้วงถกเถียงรายละเอียดมีอีกมาก ขอแนะนำให้อ่านข้อเขียนเรื่อง “ลายสือไท พ่อขุนรามคำแหง ประดิษฐ์ไว้ให้ใครอ่าน?” ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (ในสุดสัปดาห์ มติชน ฉบับ 13-19 มกราคม 2560 หน้า 74-75)

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีพิรุธมากนับไม่ถ้วนว่าไม่ได้ทำสมัยพ่อขุนฯ มีคำอธิบายเป็นเล่มเพื่อชี้ข้อพิรุธทีละบรรทัด ในหนังสือ จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม โดย ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ [อดีต ผอ. สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2547)]

 

อักษรไทยไม่มีใครประดิษฐ์? ถ้าถกเถียงกันได้ คุณภาพการศึกษาสูงขึ้น

อักษรไทย คืออักษรเขมรหรือมอญที่ถูกทำให้ง่ายขึ้น (Simplified) เท่านั้น

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คืออักขรวิธี นับเป็นอักขรวิธีที่ง่ายที่สุดในบรรดาตัวอักษรที่ใช้กันอยู่ในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปทั้งในช่วงนั้นและสืบมาจนทุกวันนี้

และตรงอักขรวิธีนี่แหละที่ทำให้ผมไม่เชื่อว่ามีบุคคลคนใดคนหนึ่ง ‘ประดิษฐ์’ ขึ้นได้ ต้องอาศัยความคุ้นชินของคนอื่นที่อ่านหนังสือออกเป็นฐาน”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนบอกเรื่องอักษรไทยและอักขรวิธีไทยในหนังสือ ความไม่ไทยของคนไทย (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2559)

การศึกษาไทยไม่อนุญาตให้นักเรียนและครู ใช้ระบบคิดด้วยเหตุและผล ทักท้วงถกเถียงเรื่องความเป็นมาของอักษรไทยและอักขรวิธีไทย เพราะคำตอบมีทางเดียวเท่านั้นของทางการ สื่อไทยก็ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลามาอย่างเดียวกัน

ใครไม่ตอบตามนั้นก็สอบไม่ผ่าน ถ้าใครไม่เชื่อตามนั้นจะถูกสื่อรุมประณามว่าไม่รักชาติ และอาจเข้าข่าย ม.112

ประวัติศาสตร์ คืออนาคต ถ้าเปิดกว้างให้นักเรียนและครูตลอดจนคนทั่วไปใช้ระบบคิดด้วยเหตุผล ทักท้วงถกเถียงประวัติศาสตร์ไทย ไม่ว่าเกี่ยวข้องกับสงครามหรือสังคม โอกาสที่การศึกษาคุณภาพสูงขึ้นก็มีมาก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image