9.00 INDEX อะไร คือ “ปัญหา” กรณี “ปรองดอง” ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตอบชัดตรงเป้า

หากตัดกรณีอันเกี่ยวกับ “รัฐประหาร” ออกไป ถือได้ว่าแถลงล่าสุดจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
CLEAR
เพราะที่ใครๆมีปัญหากับคำว่า “MOU” นั้นเมื่อนำเอาคำว่า”ข้อตกลง” มาแทนที่
ทุกอย่างก็เริ่ม “ชัด”
“ต้องตกลงร่วมกันก่อนว่า ต้องอยู่ร่วมกันในอนาคตอย่างสันติ ต้องการแค่ให้เกิดความปรองดอง”
เมื่อนำเอาคำ “MOU” ซึ่งเป็น “ศัพท์สูง” มาใช้ เพราะเป็นศัพท์ในทางการเมืองระหว่างประเทศ คำว่า “บันทึกช่วยจำ”ก็เดินหน้ากระดานเรียง 1 เข้ามา
กลายเป็น “เรื่องใหญ่” ขึ้นมาโดยพลัน
จึงไม่แปลกที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะปฏิเสธ จึงไม่แปลก ที่ นายถาวร เสนเนียม จะต้องรีบแห่ตาม
ทั้งๆที่จริงแล้วเป็นเพียง “ข้อตกลง” เท่านั้น

รู้สึกหรือไม่ว่า คำว่า “MOU” ชวนให้นึกถึงอะไรที่ยุ่งยากยิ่งในทาง การเมือง
นึกถึงเรื่อง “กัมพูชา” นึกถึงเรื่อง”ลาว”
ที่เกิดเรื่องขัดแย้งระหว่างกัมพูชา-ไทยเด่นชัดยิ่งก็จาก MOU ในเรื่องดินแดน มิใช่หรือ
ระหว่างลาว-ไทยก็เรื่องเกาะแก่งแม่น้ำโขง
แต่สิ่งที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หยิบยกมาเสนอให้พิจารณา มิใช่เรื่องของดินแดน มิใช่เรื่องของเกาะแก่ง หรือเรียกว่า “อธิปไตย”อะไร
หากแต่เป็นเรื่องที่ทะเลาะวิวาทกัน หากแต่เป็นเรื่องที่ทำให้ภายในสังคมเกิดความไม่สงบ
ไม่สงบอย่างไร แทบไม่ต้องอธิบาย แทบไม่ต้องพรรณา
คนที่ผ่านสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ย่อมรู้เป็นอย่างดี คนที่ผ่านสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ย่อมรู้เป็นอย่างดี
ความหมายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ชัดเจนแจ่มแจ้งไม่มีอะไรอ้อมค้อม วกวน
“อยากอยู่ร่วมกันอย่างสงบหรือไม่”

ต้องยอมรับว่าที่คสช.ต้องออกโรงทำงานในเรื่อง”ปรองดอง”ด้วยตนเอง คือ ความจำเป็น
ด้าน 1 เท่ากับว่าสังคมไทยยัง “ไม่ปรองดอง”
แม้ว่าเป้าหมายที่ “คสช.”เข้ามาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือ สิ่งนี้ก็ตาม
ด้าน 1 เมื่อยัง”ไม่ปรองดอง”ก็จำเป็นต้อง “ปรองดอง”
หากถามว่าเหตุใดรัฐประหารผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว “คสช.”จึงยังทำไม่สำเร็จ คำตอบจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึง “ชัด”
หากไม่สามารถแปรความยุ่งเหยิงจาก “MOU” ให้กลายเป็น”ข้อตกลง”ได้ ปัญหาก็จะยังดำรงอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image