สุจิตต์ วงษ์เทศ : มอระกู่ เครื่องสูบยาของอาหรับ ยุคอยุธยา

เครื่องสูบยาที่ชาวมัวร์มีใช้ในประเทศสยามยุคอยุธยา (ในภาพด้านขวา) A.A. หลอดไม้ซางยาว 8 ถึง 9 ฟุต (ภาพจากหนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์)

มีคำถามชวนสูบและสืดเรื่องมอระกู่ว่าเคยเสพบ้างไหม?

ผมงงอยู่นาน เพราะไม่คิดว่าจะได้รับคำถามมีเสน่ห์อย่างนี้

เมื่อตั้งหลักได้จึงบอกว่านอกจากไม่เคยเสพแล้ว ยังไม่เคยเห็นจริงว่าคืออะไร? รูปร่างหน้าตายังไง?

ที่ได้ยินชื่อก็มาจากอ่านจดหมายเหตุลาลูแบร์ว่ามอระกู่เป็นของแขกมัวร์ หรือชาวอาหรับยุคอยุธยา มีลายเส้นวาดไว้ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ (ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส)

Advertisement

แขกมัวร์ ลาลูแบร์อธิบายในวงเล็บว่า “(ข้าพเจ้าเรียกว่า มัวร์ (Mores) ตามอย่างสเปญ มิได้หมายถึงพวกแขกนิโกร แต่เป็นแขกชาติอาหรับนับถือศาสนาพระมะหะหมัด ซึ่งบรรพบุรุษของเราเรียกว่าแขกสาระเซ็น และแขกชาตินี้แผ่ซ่านอยู่ในที่ต่างๆ เกือบทั่วทวีปยุโรป)”

ข้อความในจดหมายเหตุลาลูแบร์ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร (สันต์ เทวรักษ์) สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510 จะคัดมาดังต่อไปนี้

เครื่องสูบยา ซึ่งพวกแขกมัวร์ที่อยู่ในสยามใช้กันอยู่

Advertisement

ชาวมัวร์มีขวดทำด้วยแก้วรูปร่างเหมือนอย่างคนโทน้ำของเรา นอกจากมีตีนเชิงเพื่อให้ตั้งอยู่ได้มั่นคงยิ่งขึ้นเท่านั้น

เขารินน้ำเติมลงไปในขวดแก้วนั้นครึ่งหนึ่ง แล้วเอาหลอดทำด้วยเงินแถบสักหลาดเพื่อให้จุกได้สนิท สอดเข้าไปในคอขวดอันมีขนาดเท่ากันหมดแต่ค่อนข้างยาว แต่หลอดเงินนี้สอดเข้าไปในคอขวดราวสัก 2 นิ้วเท่านั้น แม้จะมีความยาวตั้งครึ่งฟุต

ที่บนยอดขวดนั้นมีถ้วยทำด้วยเงินหรือกระเบื้องเคลือบ ก้นถ้วยเจาะเป็นรูเชื่อมเข้ากับหลอดถ้วยนี้แลเป็นที่ใส่ยาเส้น และบนยาเส้นนี้ก็ใส่ถ่านไฟแดงเข้าไว้

ทางด้านข้างของหลอดนั้นเล่าก็มีหลอดขนาดย่อมกว่าอีกอันหนึ่งเสริมรูปร่างเหมือนหัวนมยางที่เด็ดดูด หรือจะพูดให้ถูกก็ว่าเป็นหลอดเล็กที่สอดเข้าไปในหลอดใหญ่ทางด้านข้าง และทอดลงไปในหลอดอันใหญ่ด้วยความยาวเท่าๆ กัน แต่พอครือๆ ไม่เต็มช่องเนื้อที่ ปล่อยให้มีช่องว่างสำหรับเป็นทางเดินของควันยาเส้นอันถูกเผาอยู่ในถ้วยกระเบื้องให้ลงไปสู่ในขวด

ที่ปลายหลอดเล็กด้านล่างนั้น เขาเสริมหลอดไม้ไผ่ขนาดย่อมพันแถบผ้าเล็กๆ หรือแถบแพร จุ้มลงไปถึงในน้ำ

บัดนี้บุคคลผู้ใคร่จะสูบยาเส้นก็วางขวดแก้วนั้นลงกับพื้น หรือจะพูดให้ถูกก็คือวางเครื่องมือทั้งปวงดังข้าพเจาพรรณนามานี้ลงกับพื้น แล้วสอดหลอดไม้ซางซึ่งลางทีก็มีความยาวตั้ง 7 ถึง 8 ฟุต เข้าในหลอดเงินทางด้านปลายข้างบนปลายหลอดไม้ซางทั้งสองด้านนี้หุ้มด้วยแผ่นทองคำหรือเงิน นอกจากนี้ทางปลายด้านหนึ่งยังเสริมหลอดแก้วเจียระไนเข้าไว้อีก สำหรับผู้สูบจะได้อมเข้าไว้ในปาก

ด้วยประการฉะนี้จึงดูประหนึ่งว่าในขณะที่จะสูบยาเส้นนั้น ผู้สูบจะต้องดูดเอาน้ำในขวดมาเข้าปากของตน ตามช่องทางที่เชื่อมต่อถึงกันตั้งแต่ปากผู้สูบลงไปกระทั่งถึงน้ำในขวด คือโดยทางหลอดไม้ไผ่อันใหญ่ จากหลอดเงินอันย่อมที่เชื่อมกันอยู่ และจากหลอดไม้ไผ่ที่จุ้มลงไปในน้ำโดยเสริมมาจากปลายหลอดเงินด้านล่างนั้น

แต่แทนที่จะเป็นดังนั้น อากาศจากภายนอกหาอาจเข้าไปสู่ภายในขวดได้ไม่ ควันของยาเส้นนั้นก็ลงไปตามหลอดเงินอันใหญ่ไม่เพียงแต่จนกระทั่งถึงในขวดเท่านั้น แต่ยังลงไปถึงในน้ำด้วย แล้วแทรกซึมเข้าไปในหลอดไม้ไผ่อันเล็ก และขึ้นไปจนถึงปากผู้สูบ

โดยนัยนี้บุคคลผู้ประดิษฐ์คิดสร้างเครื่องมือชนิดนี้ขึ้น คงจะตระหนักดีว่าการดูดดึงควันลงไปในน้ำ ย่อมต้องด้วยกฎธรรมดามาก ว่าแล้วจากในน้ำนั้นไปสู่ปากของผู้สูบ ด้วยว่าน้ำนั้นมีน้ำหนักมากกว่าควัน จึงต้องจำนนต่อแรงดึงดูดนั้น

ลางทีก็มีหลอดเล็กอื่นๆ อีกรายรอบหลอดอันใหญ่ เพื่อให้บุคคลหลายคนใช้สูบพร้อมๆกันได้โดยอาศัยมอระกู่อันเดียว และเพื่อให้มอระกู่นี้ตั้งมั่นยิ่งขึ้น เขาก็วางมันลงในถาดทองแดง ใช้ผ้าปูรองรับไว้ที่ตรงนั้นเพื่อกันมิให้ตีนเชิงของขวดเลื่อนไถลไปในถาด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image