รายงานพิเศษ : หลากทรรศนะ”ปรองดอง” ต้องเกิดก่อนเลือกตั้ง จริงหรือ?


หมายเหตุ – ความเห็นกรณีคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) จัดตั้งสำนักงานบริหารนโยบายนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งคณะกรรมการย่อยอีกจำนวนมาก มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ การทำงานอาจส่งผลกระทบต่อโรดแมปที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งให้ล่าช้าออกไปหรือไม่

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ได้ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ต้นแล้วว่า การปรองดองที่กำลังพูดถึงอยู่นี้เป็นกระบวนการที่ไม่เหมือนกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งทำแล้วได้รับการยอมรับ เพราะใช้อำนาจของคณะรัฐประหารที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเช่นกันเข้ามาดำเนินการ

ยิ่งแต่งตั้งแม่ทัพนายกองมากมายเป็นคณะทำการปรองดอง จะยิ่งทำให้กระบวนการเกิดคำถามมากขึ้น เวทีที่จะเชิญหลายฝ่ายเข้าไปพูดคุย บรรยากาศจะคล้ายกับเวทีปรับทัศนคติในช่วงแรกๆ ของการยึดอำนาจ อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่าเมื่อผู้มีอำนาจประกาศเรื่องปรองดองเต็มตัว ทุกฝ่ายก็ควรมีท่าทีตอบสนอง ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร เป็นความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจเอง เนื่องจากประกาศมาตลอดว่าต้องทำให้สำเร็จ

Advertisement

ส่วนที่ห่วงว่าจะเป็นการยื้อเวลาให้โรดแมปขยับออกไป ส่วนตัวไม่กังวล หากภารกิจไม่สำเร็จแล้วจะใช้ตรงนี้มาอ้างเพื่อขยับโรดแมป คิดว่าไม่ง่ายที่จะอธิบายกับประชาชน จะเกิดคำถามว่าเศรษฐกิจก็แก้ไม่ได้ ปฏิรูปก็ไม่ถึงไหน ปรองดองก็ล้มไม่เป็นท่า แล้วจะอยู่ต่อกันทำไม จึงเรียกร้องความจริงใจของฝ่ายผู้มีอำนาจเป็นตัวตั้งก็ยังพอมีความหวัง แต่ถ้าไม่มีความจริงใจ เรื่องแบบนี้ตบตาประชาชนไม่ได้

เพราะฉะนั้นจะเลื่อนโรดแมปหรือไม่ จึงไม่กังวล เพราะทุกอย่างเป็นความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจอยู่แล้ว ที่มีการพูดถึงการสร้างความปรองดองก่อนการเลือกตั้ง คำนี้มีสถานะเท่ากับคำว่าปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง คือทั้งคำว่าปรองดองและปฏิรูป ไม่สามารถทำให้สำเร็จลุล่วงได้ในระยะเวลาอันสั้น จะทำ 5 เดือน 7 เดือน แล้วบอกว่าปรองดองสำเร็จแล้ว คิดว่าทำไม่ได้อย่างนั้น มีแต่จะขับเคลื่อนอย่างไรให้เป็นรูปธรรมในระดับหนึ่ง แล้วให้กระบวนการที่มาจากการเลือกตั้งเดินหน้าต่อไป หากจะมาตั้งเงื่อนไขว่าต้องปรองดองก่อนเลือกตั้ง ประชาชนก็จะรู้ทันว่า นี่คือข้ออ้างแบบเก่า เพราะถ้าจะเอาให้สำเร็จจริงๆ ก็ต้องพูดความจริงกันว่า อีก 10 ปีข้างหน้าก็ยังเลือกตั้งไม่ได้

เพราะการปรองดองคือการเดินทางไกล แต่โรดแมปเป็นการเดินระยะใกล้ จะเอามาเป็นเงื่อนไขของกันและกันไม่ได้

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ป.ย.ป.จะทำงานด้านการปรองดองให้เกิดขึ้นได้ คือ 1.ต้องตั้งโจทย์ให้ถูก 2.คนที่ทำงานก็ต้องเหนื่อยเป็นพิเศษในการที่จะพยายามสร้างความยอมรับในกระบวนการต่างๆ และ 3.อาจจะเรียกว่าต้องทำใจก็ไม่เชิง แต่ต้องยอมรับว่า หากการปรองดองหมายถึงต้นทุนที่สูงขนาดทำให้สังคมมองไม่เห็นความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายก็ไม่คุ้ม หากเป็นการปรองดองกันในหมู่คนที่ได้ประโยชน์ แล้วสุดท้ายสังคมจะกลับมาขัดแย้งหนักขึ้นในอนาคต ทั้งหมดนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงอยากจะเห็นมีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมก่อนมีการเลือกตั้ง ก็ต้องมีคนมาเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อน

คิดว่าทุกคนที่มีบทบาทในทางสังคมเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งสิ้น แน่นอนนักการเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา อันนี้ไม่ปฏิเสธ แต่ก็ต้องตีโจทย์ให้ถูกว่า ความขัดแย้งนี้ไม่ใช่คิดจะจับคู่ว่าเป็นพรรคนั้นขัดแย้งกับพรรคนี้ ยืนยันว่าเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่มีประเด็นของความขัดแย้งอยู่

สิ่งที่สำคัญคือเราจะเดินหน้าประเทศให้มีความยั่งยืนในแง่ของการไม่มีความขัดแย้งในระบบอย่างไร จึงย้ำมาตลอดว่าเรื่องอดีตขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมดีที่สุด เพียงแต่ว่ากรณีประชาชนที่ไปชุมนุมไม่ได้มีความผิดอื่น รวมไปถึงผู้ที่ก่อกระทำความผิดเล็กน้อยก็นิรโทษกรรมเฉพาะกลุ่มนั้นไป ที่เหลือปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงาน

แต่ที่ต้องคิดในแง่ของความขัดแย้งที่จะต้องป้องกันในอนาคตด้วย

ส่วนที่ 1 ความขัดแย้งหรือความแตกต่างในสังคม ยุคไหนก็ต้องมี จะทำอย่างไรไม่ให้ความต่างความขัดแย้งนี้ลุกลามบานปลายจนเป็นความรุนแรง เพราะฉะนั้นต้องไปดูว่าในอดีตสิ่งที่นำไปสู่ตรงนั้น เช่น การสร้างความเกลียดชัง การปลุกระดม การไปยอมรับความรุนแรง หรือการกระทำผิดกฎหมาย ตรงนี้ต้องมาพูดกันให้ชัดว่า กติกาวันข้างหน้าจะดูแลไม่ให้ย้อนกลับได้อย่างไร

ประการที่ 2 ต้องไปดูเนื้อหาสาระของเหตุของความขัดแย้งทั้งในอดีตและในอนาคต ใครไปมองว่าเป็นเรื่องคนนี้ทะเลาะกับคนนั้น พรรคนั้นทะเลาะกับพรรคนี้ เข้าใจผิด มันมีเงื่อนไขของเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งสิ้น และมองไปถึงความขัดแย้งในอนาคตด้วย

ส่วนที่ ป.ย.ป.บอกว่าจะเดินหน้าปรองดองก่อนการเลือกตั้ง อาจจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป แต่จะมีการเชิญนักการเมืองและพรรคการเมืองไปพูดคุยกัน และอาจจะต้องมีการทำสัญญาใจ สัจสัญญา หรือแม้กระทั่งเสนอความคิดในการทำเอ็มโอยูด้วย ถ้า ป.ย.ป.เชิญมาก็ยินดีให้ความร่วมมือ แต่ว่าเท่าที่ฟังตอนนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มีแนวคิดเหมือนกับว่าไม่ใช่ลักษณะการเชิญไปพูดกัน แต่เหมือนกับจะมีการมาพูดคุยสนทนากับแต่ละฝ่าย แต่ละกลุ่ม เพื่อเก็บข้อมูล ส่วนผลลัพธ์สุดท้าย รูปแบบการดำเนินการจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครชัดเจน

อยากจะบอกว่า 1.อย่าไปยึดติดว่ารูปแบบคือความสำเร็จ ไม่มีประโยชน์อะไร หากคนที่ไปลงนามบอกว่าเป็นเอ็มโอยู แต่ว่าไม่ได้มีความตั้งใจจะเป็นอย่างนั้น 2.ต้องย้ำว่าความขัดแย้งอย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องตัวบุคคล หากว่ามีคนไปลงนามเอ็มโอยู แต่ประชาชนที่เคยมาร่วมเคลื่อนไหวเห็นว่า ไม่ใช่สิ่งที่เป็นโจทย์ของเขา ก็ไม่มีประโยชน์อะไร และจะมีผู้นำประชาชนคนอื่นขึ้นมาอยู่ดี

เรื่องเงื่อนไขการเลือกตั้ง ความจริงต้องเป็นไปตามโรดแมป แต่ถ้ามาบอกว่าพรรคการเมืองจะต้องไปยอมรับอะไรกับการปรองดองร่วมกับคณะกรรมการนี้ หากผมเห็นว่าขัดกับประโยชน์ส่วนรวม แต่ทำไปเพียงเพื่ออยากจะไปเลือกตั้ง ผมก็ไม่ทำ และยังไม่อยากเลือกตั้ง เพราะต้องการให้บ้านเมืองอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกว่า

นพดล ปัทมะ
อดีต รมว.การต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย

ไม่แน่ใจว่า กระบวนการปรองดองจะใช้ระยะเวลานานจนกระทั่งไปกระทบกับโรดแมป แต่โดยหลักแล้วการปฏิรูปและการปรองดองสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้เวลานานมากนัก เพียงแต่ต้องรู้ว่าการปรองดองคืออะไร และต้องทำอะไรก่อนหลัง เป็นเรื่องที่มากกว่าการเชิญนักการเมืองหรือคู่ขัดแย้งไปลงนาม แต่ต้องรู้ต้นเหตุของความขัดแย้ง เรื่องเหล่านี้สามารถดูผลการศึกษาเรื่องนี้ทั้งของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) หรือสถาบันพระปกเกล้า จะเป็นการร่นระยะเวลาลงได้

ส่วนที่มีการพูดถึงประเด็นปรองดองก่อนการเลือกตั้งนั้น ต้องยอมรับกันก่อนว่าโรดแมปที่รัฐบาลและ คสช.ประกาศไว้ เป็นสัญญาประชาคม สร้างความชัดเจนในกระบวนการประชาธิปไตย หากรัฐบาลทำตามโรดแมปได้ ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและประชาชนก็จะเป็นผลดีต่อประเทศ

ฉะนั้นอยู่ที่รัฐบาลว่าเมื่อประกาศโรดแมป แล้วจะเดินตามโรดแมปจริงหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร คำพูดจะผูกพันตัวเอง

ศุภชัย สมเจริญ
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

การที่รัฐบาลกำหนดกลไกเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ไม่น่าส่งผลกระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง กระบวนการทุกอย่างก็คงเป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลได้กำหนดไว้

การสร้างความปรองดองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เข้าใจว่ารัฐบาลต้องคิดสิ่งดีๆ เพื่อให้สถานการณ์ทางการเมืองเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย หากทุกคนมีความสามัคคีปรองดอง เคารพกฎหมาย และกติกา การจัดการเลือกตั้งก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อีกทั้ง กกต.ก็จะสามารถปฏิบัติงานและควบคุมการจัดการเลือกตั้งได้โดยง่าย แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม

ในความเห็นส่วนตัวมองว่า การเดินหน้าปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองไม่น่าจะมีผลต่อการเลือกตั้ง หรือเป็นการยื้อการเลือกตั้งออกไปแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่ารัฐบาลมีเจตนาที่ดี ไม่เช่นนั้นคงไม่มาตั้ง ป.ย.ป.

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

การปรองดองพูดกันมานานมากแล้ว เป็นเหมือนโฆษณาชวนเชื่อของ คสช. ตั้งเเต่เเรกในการเข้ามาว่า จะก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและการปรองดอง แต่ที่เพิ่งมาทำเรื่องปรองดองตอนนี้มองว่า ตอนเข้ามาใหม่ๆ คงทำไม่ได้ เพราะการเมืองยังกรุ่นกันอยู่

กรณีกังวลกันว่าการตั้งคณะกรรมการเตรียมการปรองดองจะใช้เวลานานมาก จนเป็นข้ออ้างในการยื้อการเลือกตั้งออกไป มองว่าไม่น่าจะเกี่ยวกัน เพราะเงื่อนไขการเลือกตั้งถูกกำหนดไว้โดยรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องปรองดองเป็นตัวกำหนด

ส่วนผลโพลที่ระบุว่าอยากให้ปรองดองก่อนการเลือกตั้ง ส่วนตัวมองว่าเชื่อถือไม่ได้เลย ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างว่าประชาชนสนับสนุน เพราะการทำโพลเป็นเเค่ทำความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ไม่รู้ไปถามใครมา อาจจะไปถามข้าราชการทำเนียบรัฐบาลที่ทำงานใกล้ชิดนายกฯก็ได้ ที่น่าเชื่อถือจริงๆ คือการทำประชามติ

ดังนั้นการจะปรองดองหรือการจะเลือกตั้ง จึงมองว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน เเล้วการเลือกตั้งจริงก็เป็นกระบวนการทำให้ปรองดองอย่างหนึ่ง นี่คือการปรองดองที่เเท้จริงว่า ต่อไปนี้จะต้องกลับมาอยู่ในกติกาเเล้วนะ ไม่เรียกร้องอำนาจพิเศษ ถ้าจะปรองดองควรจะเป็นแบบนี้ ถ้าจะมาอ้างว่าไม่ปรองดองเเล้วการเลือกตั้งอาจจะถูกล้มเหมือนครั้งที่ผ่านมาหรือเสียของ ถือเป็นข้ออ้างค่อนข้างไร้สาระ เพราะการเลือกตั้งก็ไม่ได้อยู่บนเงื่อนไขว่า คนจะต้องมาปรองดองกัน ไม่อย่างนั้นจะหมายความว่าต้องเลือกคนคนเดียวกันทั้งหมดถึงจะปรองดองอย่างนั้นหรือ แม้กระทั่งในครอบครัวเดียวกันก็อาจจะเลือกกันคนละเบอร์ คนละพรรคก็ได้ เเต่ทุกคนต้องยอมรับกติกากัน นี่คือการปรองดอง

สิ่งที่สำคัญต้องถามว่าการปรองดองในที่นี้คืออะไรมากกว่า คือการที่ทุกคนต้องเงียบโดยไม่พูดอะไรถึงความขัดเเย้ง หรือต้องทำตามกฎที่ คสช.วางไว้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image