บทความวิชาการ : จัดการความเครียดด้วยกีฬากอล์ฟ จากแนวคิด ทฤษฎี สู่การปฏิบัติ

ภาพประกอบจาก AFP

นักบริหารอาจใช้กีฬากอล์ฟจัดการความเครียด (stress management) ของตนเองได้อีกวิธีหนึ่ง เนื่องจากวิธีนี้สอดคล้องกับหลักและวิธีการเปลี่ยนถ่ายทิศทางพลังความเครียด (stress diversion technique) ซึ่งหมายถึง การถ่ายเทพลังลบออกจากร่างกายผ่านเหล็ก หรือหน้าไม้ ปล่อยไปกับการเดินทางของลูกกอล์ฟความเครียดเป็นพลังงานทางลบ เมื่อเป็นพลังงานย่อมไม่สูญหายตามหลักของไอน์สไตล์ หากไม่ถ่ายเทพลังทางลบนี้ออกไป จะสะสมอยู่ในร่างกาย

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อารมณ์เครียดเป็นพลังทางลบหากสะสมอยู่ตามกล้ามเนื้อส่วนใดก็จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นเกิดอาการตึงเครียด (tense) การตีกอล์ฟจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดการลดระดับความเครียด (stress reduction) กีฬากอล์ฟจึงมิได้เป็นกีฬาที่เพียงแต่ให้ความสนุกสนาน แต่เป็นการบริหารร่างกายหรือออกกำลังกายเกือบทุกส่วน และเป็นการบริหารจิตใจของตนเองด้วยการฝึกสมาธิให้จดจ่อกับลูกกอล์ฟหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ด้วยการฝึกจิตให้นิ่ง กล่าวคือใบหน้าและดวงตาจะต้องหยุดนิ่งอยู่กับลูกกอล์ฟที่อยู่ตรงหน้าในจังหวะที่หน้าเหล็กหรือหัวไม้กระทบกับลูกกอล์ฟ

การเล่นกอล์ฟที่ดียังต้องฝึกจิตและใช้ปัญญา ซึ่งเรียกว่าการจัดการทางปัญญา และการเจริญสติ (wisdom management and mindfulness meditation) โดยเฉพาะหากเจอคู่เล่นที่มีฝีมือเหนือกว่า และถูกสถานการณ์บีบรัดขณะเล่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาจิตให้มีสมาธิอยู่กับตนเองให้มากที่สุด มิให้ว้าวุ่นใจ รวมทั้งพัฒนาจิตมิให้คิดปรุงแต่งฟุ้งซ่านจนเกินไปกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่เผชิญหน้า ในจุดนี้หมายถึงการทำให้ความคิดและสนามการรับรู้ของตนเอง ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ณ ช่วงเวลานั้น นักกอล์ฟเองสามารถพัฒนาสติหรือเจริญสติได้ด้วยการละความโลภ ความโกรธ ความหลง เช่นไม่เล่นด้วยความโลภ อยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่โกรธตนเองเมื่อตีไม่ได้ดั่งใจ ไม่โกรธผู้อื่นเมื่อตีช้าไป เร็วไป และ/หรือตีดีกว่า ไม่เล่นด้วยความหลง หมายรวมถึงไม่หลงตนเอง ไม่หลงมัวเมา เสพติดการพนัน เพราะจะนำสู่บรรยากาศของการเล่นที่เต็มไปด้วยความเครียดแทนการผ่อนคลายอย่างแท้จริง

หลักการเล่นกอล์ฟที่ทำให้ผ่อนคลายคือ การเล่นที่เป็นไปตามธรรมชาติ เล่นตามเกม เน้นการควบคุมจิตใจตนเองและการอยู่กับตนเองให้มากที่สุด การใช้ปากเป็นอาวุธแทนไม้กอล์ฟ (mouth wedges) ทำได้บ้างเพื่อความสนุกสนาน แต่ต้องเป็นไปในลักษณะกัลยาณมิตร เพราะเกมกอล์ฟนั้นหากนักกอล์ฟที่ตีดีกว่าคู่เล่นสถานการณ์ที่เป็นไปย่อมกดดันผู้ที่เล่นด้วยอยู่แล้ว การเล่นแบบกัลยาณมิตรจะช่วยให้ผู้เล่นด้วยมีความรู้สึกที่ดี เพิ่มสีสัน และช่วยส่งเสริมความมั่นใจให้กับตนเองและผู้อื่นได้

Advertisement

ผู้เขียนในฐานะนักกอล์ฟและอยู่ในแวดวงนักวิชาการเคยมีความคิดที่จะทำวิจัยโดยใช้ EEG & EMG biofeedback training programs เพื่อดูการทำงานของคลื่นสมอง (brain-wave lengths activities) โดยเฉพาะในนักกอล์ฟ (golfers) ที่พัตต์ได้ดีก่อนและหลังการเล่นว่ามีคลื่นสมองประเภทใด และการทำงานของกล้ามเนื้อตึงหรือผ่อนคลาย (muscles tense or relax) ระดับใดก่อนและหลังการเล่นกอล์ฟ ร่วมกับการใช้ self-report measures โดยให้นักกอล์ฟเป็นผู้ตอบด้วยตนเองร่วมกับการใช้อุปกรณ์ไบโอฟีดแบคเป็นเครื่องมือในการประเมินภาวะเครียดของสมองและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ เพื่อศึกษาว่ากีฬากอล์ฟนั้นช่วยลดระดับความเครียดได้อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ช่วยผ่อนคลายและสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมทำให้ไม่เจ็บป่วยได้หรือไม่ และเก็บเป็นข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence base) เนื่องจากมีหลักฐานอ้างอิงบางชิ้นที่พบว่า นักกอล์ฟพัตต์ได้ดีหลังจากการฝึกสมาธิและการเจริญสติ

การพัตต์ดีขึ้นและคลื่นสมองจะเป็นคลื่นอัลฟ่า หลักฐานการศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงการกล่าวพาดพิงในหนังสือต่างประเทศบางเล่ม และมีหลักฐานการวิจัยน้อยมากหรือแทบไม่พบหลักฐานการวิจัยเลยว่ากีฬากอล์ฟช่วยสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างไร ซึ่งยังไม่ได้นำสู่การพัฒนาด้วยการวิจัยอย่างจริงจังในประเทศไทย

ในมุมมองของผู้เขียนซึ่งเริ่มต้นจากการที่ไม่เคยจับไม้กอล์ฟมาก่อนเลย แต่พัฒนาการเล่นด้วยการฝึกฝนความอดทนอย่างหนัก จริงจัง หลังจากเลิกงานและในวันหยุดจนย่างเข้าสู่การเล่นในปีที่ 2 จึงค้นพบว่ากีฬากอล์ฟเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นกีฬาที่มีเสน่ห์ และเสน่ห์ของการเล่นกอล์ฟจึงอยู่ที่ผู้เล่นจะจัดการตนเองด้วยการคิดให้ได้ว่าจะลด scores ได้อย่างไร ด้วยการวางแผนอย่างชาญฉลาดที่สามารถเป็นผู้ควบคุมเกมการเล่นด้วยตนเองและเอาชนะตนเองให้ได้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image