ข้อมูลของคุณไม่ใช่ของคุณ FamilyTreeNow กับปัญหาความเป็นส่วนตัว

ข่าวที่จุดระเบิดระดับย่อมๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาในแวดวงอินเตอร์เน็ตในสหรัฐ คือข่าวของ “เว็บค้นหาข้อมูลบุคคล” ที่ความสามารถในการค้นหาอลังการมากจนทำให้เกิดปัญหาความเป็นส่วนตัว

เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อสัปดาห์ก่อน Anna Britain ที่เป็นนักเขียนนิยายสำหรับวัยรุ่น ได้รับเมสเสจจากพี่สาวของเธอ ความที่ว่าพี่สาวของเธอมักจะเสิร์ชชื่อตัวเองออนไลน์บ่อยๆ ไม่ใช่เพราะว่าเธอหลงตัวเองนะครับ-แต่เป็นเพราะว่าเธอทำงานเกี่ยวกับสิทธิเด็กซึ่งอาจไปเหยียบเท้าใครเข้าโดยไม่รู้ตัว-จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เธอจะต้อง “ทิ้งรอยเท้าดิจิทัล” (digital footprint) ไว้ให้น้อย เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยส่วนตัว ในวันนั้นพี่สาวของ Anna ก็ค้นหาชื่อของเธอตามปกติ เธอเพิ่งได้ยินว่ามีเว็บไซต์ใหม่ที่สามารถสืบค้นประวัติได้ฟรีๆ ชื่อว่า FamilyTreeNow เธอเลยลองใส่ชื่อเธอเข้าไปดู ก็พบว่าข้อมูลของเธอหลายอย่างถูกเปิดเผยออกมา รวมไปถึงชื่อและประวัติของหลานสาวของเธอ (ลูกของ Anna) ก็ถูกรายงานออกมาด้วย

เธอรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องไม่สมควร นอกจากการที่ชื่อของใครคนใดคนหนึ่งจะถูกค้นหาข้อมูลได้ง่ายขนาดนี้แล้ว นี่ยังเป็นชื่อของเด็กๆ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย เธอจึงพยายามเรียกร้องให้เว็บไซต์ลบชื่อพวกเขาออก ซึ่งก็พบว่าทำได้ยากมาก เมื่อทำเสร็จ เธอจึงทวีตขั้นตอนการลบรายชื่อตัวเองออกจากเว็บ FamilyTreeNow ให้คนอื่น ซึ่งทวีตของเธอก็ถูกรีทวีตหลายพันครั้งจนเป็นข่าวในเวลาต่อมา

อันที่จริงเว็บไซต์ทำนอง “สืบค้นประวัติ” ในอเมริกา ก็มีมานานแล้วนะครับ อย่างเช่นเว็บ MyFamilyTree, Ancestry, Whitepages, Spokeo หรือเว็บอื่นๆ แต่ว่าสิ่งที่ทำให้ FamilyTreeNow แตกต่างและรุนแรงกว่าเว็บอื่นคือที่ FamilyTreeNow คุณไม่ต้องเสียเงินเพื่อที่จะค้นข้อมูลใครสักคน ในขณะที่บริการอื่นจะมีค่าธรรมเนียม ซึ่งทำให้การค้นหาเป็นเรื่องยากขึ้น

Advertisement

การซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลเป็นปัญหาหนักในอเมริกา และจริงๆ แล้ว ก็เป็นปัญหาหนักไปทั่วโลกด้วย ยิ่งข้อมูลของพวกเราถูกทำให้เป็นดิจิทัล (digitized) มากขึ้นเท่าไร มันก็มีโอกาสถูกนำไปวางบนอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อข้อมูล (ที่ควรจะถูกเก็บไว้อย่างดี) พวกนี้รั่วออกมาครั้งหนึ่งด้วยความตั้งใจ (เช่น มีการซื้อขายข้อมูลด้วยดาต้าโบรกเกอร์) หรือไม่ตั้งใจ (เช่น ระบบไม่ปลอดภัย ถูกแฮก) ก็ยากมากที่เราจะเก็บข้อมูลทั้งหมด หรือลบข้อมูลทั้งหมดให้หายไปได้

ในปี 2014 นักข่าวคนหนึ่งพยายามที่จะลบข้อมูลส่วนตัวของเธอออกจากฐานข้อมูลของทุกดาต้าโบรกเกอร์ (ซึ่งก็มีจำนวนมาก คือมากถึง 212 ราย) ปรากฏว่านี่เป็นงานที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ ไม่มีนโยบายใดๆ ให้คุณลบข้อมูลออกจากฐานข้อมูลของเขา และอีกครึ่งหนึ่งที่ยอมให้ลบ ก็เป็นไปด้วยขั้นตอนที่ยากเย็นมาก เช่น คุณต้องยืนยันตัวตนด้วยการส่งข้อมูลหลักฐานเพิ่มให้ เช่น ใบขับขี่ (ซึ่งก็น่ากลัวเข้าไปอีก ว่าการที่จะลดข้อมูลของเรา เรายิ่งต้องใส่ข้อมูลให้เขาเพิ่มเข้าไป – ตลกร้ายนะครับ) หรือบางที ก็ใช้วิธีส่งเอกสารให้มันยากลำบากเข้าไว้ เช่น ต้องส่งเอกสารขอลบข้อมูลด้วยไปรษณีย์ หรือกระทั่งแฟกซ์

ก็กลายเป็นว่า เวลาจะค้นข้อมูลใครสักคน เป็นเรื่องง่ายดายมากๆ แต่เวลาข้อมูลของเราถูกเปิดเผย เราขอไม่ให้เปิดเผยได้ไหม ก็กลับเป็นเรื่องที่ยากเย็นเข็ญใจมากๆ ทั้งๆ ที่ข้อมูลเหล่านั้นมันควรจะเป็นของเราแท้ๆ และควรจะเป็นสิทธิของเราด้วยใช่ไหม ในการที่เราจะอนุญาตให้ใครเปิดเผยหรือไม่
ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมาย (สหรัฐอเมริกา) ที่ห้ามไม่ให้บริษัทต่างๆ ใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์เหล่านี้ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครงาน แต่ก็เป็นเรื่องยาก ที่เราจะพิสูจน์ได้ว่าบริษัทต่างๆ ทำตามกฎหมายจริง และข้อมูลเหล่านี้ “มีผล” ต่อการพิจารณาคุณสมบัติหรือไม่ อย่างไร (เช่นเดียวกับที่เราบอกว่า บริษัทไม่ควรตัดสินใจรับคนหรือไม่รับคนจากสเตตัสในเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ในความเป็นจริง หลายบริษัทก็ค้นชื่อผู้สมัครเสียก่อน เพื่อทำ “รีเสิร์ช” เกี่ยวกับตัวผู้สมัครนั้นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจ)

Advertisement

กฎหมายยังห้ามไม่ให้บุคคลใดสตอล์ค (หรือติดตาม) คนที่พวกเขาค้นหาด้วย แต่ก็นั่นอีกแหละครับ – มันบังคับใช้ได้ยาก

การค้นหาข้อมูลบุคคลที่ง่ายขึ้น ทำให้คนที่ทำงานในที่สาธารณะ (เช่น นักแสดง นักร้อง พิธีกร
ทุกระดับ) และคนที่ทำงานประเด็นสาธารณะ (เช่น นักรณรงค์ คนทำงานด้านกฎหมาย คนทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน) ตกเป็นเป้าเสี่ยง ยิ่งพวกเขาสร้าง “โจทก์” มากเท่าไร (ซึ่งด้วยเนื้องาน ก็ต้องมีโจทก์อยู่แล้ว – และด้วยความที่เราอยู่ในโลกออนไลน์ พวกเขาจะมีโจทก์ทางอ้อมคือสาธารณชนด้วย) ชีวิตของพวกเขา และคนรอบๆ ข้างทั้งครอบครัวและญาติก็จะ
สุ่มเสี่ยงยิ่งขึ้น นี่เป็นหนึ่งคำตอบของวาทกรรมที่ว่า “ไม่ผิดทำไมต้องกลัว”

ย้อนกลับมามองที่ไทย – ผมลองค้นหาชื่อ และนามสกุลตัวเองบนเว็บไซต์ทั้งหลายเหล่านี้แล้วยังโชคดีที่ไม่พบข้อมูลตัวเองอยู่ที่เว็บไซต์ไหนเลย (อาจเพราะฐานข้อมูลของรัฐไทยไม่เชื่อมกัน) แต่ข่าวนี้ก็อาจสะท้อนเหตุการณ์ในบ้านเราได้อยู่ดี เมื่อในบ้านเราเอง ก็มีข่าวที่ว่าแอพพ์ หรือเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ ทำข้อมูลรั่วหลายต่อหลายครั้ง เช่นแอพพ์ประกันสังคม หรือแอพพ์ดาวเหนือ (ค้นหาคูหาเลือกตั้ง) ที่ออกแบบระบบความปลอดภัยมาไม่ดีพอ

ถึงแม้ว่าข้อมูลเหล่านี้อาจมีความซับซ้อน และเชื่อมโยงน้อยกว่าข้อมูลที่เรา (ทั้งยินดีและไม่ยินดี) มอบให้บริษัทโซเชียลมีเดียอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กแบบเทียบไม่ติด แต่รัฐก็มีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องข้อมูลของพวกเราไม่ให้รั่วไหล ไม่เช่นนั้นความฝันเรื่องดิจิทัลอีโคโนมี หรือประเทศไทย 4.0 ก็อาจมาตกม้าตายง่ายๆ ได้ด้วยเรื่องทำนองนี้

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image