09.00 INDEX คู่แห่งความสัมพันธ์ของคำ”ปรองดอง”คือสิทธิ เสรีภาพ และ”ประชาธิปไตย”

ไม่ว่าใครก็ตามที่นำเสนอคำว่า “ปรองดอง” คำว่า “สมานฉันท์”ขึ้นมาในสังคม

ล้วนเป็นเรื่องดี มีลักษณะ “สร้างสรรค์”

เช่นเดียวกันกับเมื่อคำว่า “ปรองดอง” คำว่า “สมานฉันท์” ได้มีที่ยืนบน “พื้นที่”ที่แน่นอน

ก็ล้วนนำไปสู่การ”ถกแถลง”และ”อภิปราย”

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นเสียงอันมาจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ว่าจะเป็นเสียงอันมาจาก นายถาวร เสนเนียม

ล้วนมี “ประโยชน์”

โดยพื้นฐานแล้ว “เสียง” เหล่านั้นแสดง “ตัวตน” ของคนพูด สะท้อนให้เห็น “ความคิด” และ”ความรู้สึก”

Advertisement

จับได้ว่าเขาเห็นอย่างไรกับ “ปรองดอง”

นี่คือคุณูปการอันใหญ่หลวงของคำว่า “ปรองดอง”ของคำว่า “สมานฉันท์”

เพราะนี่คือ “สีสัน”แห่ง”ประชาธิปไตย”

คสช.ไม่จำเป็นต้อง “ปลดล็อก” ของประกาศและคำสั่งที่ห้ามมีการ ประชุมของ “พรรคการเมือง”

เพราะคำว่า “ปรองดอง” ได้”เปิด”ให้แล้ว

เมื่อเข้าสู่บรรยากาศของ “ปรองดอง” จึงมิได้มีแต่เสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หรือเสียงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เท่านั้น

หากยังมีเสียงของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ยังมีเสียงของ นาย ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ

กระทั่ง นายประชา ประสพดี ก็ดังมาจาก”พระประแดง”

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องกล่าวถึงเสียงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเสียงของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

เห็นหรือไม่ว่า ฤทธิ์เดชของ “ปรองดอง” เป็นอย่างไร

แม้กระทั่งข้อเสนอในเชิงเรียกร้องให้ “กองทัพ” ต้องเข้ามาร่วม เข้ามารับผิดชอบในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในห้วงกว่า 1 ทศวรรษของประเทศ

ก็เริ่มมีการตั้ง “คำถาม” และนำไปสู่การ”อภิปราย”

ใครก็ตามที่หวังว่าจะมีเพียง “ความเห็น”เดียว และ”บทสรุป”เดียว ดำรงอยู่

ก็ควรเตรียม “ความผิดหวัง” เอาไว้

เพราะคำว่า “ปรองดอง”และคำว่า “สมานฉันท์”มิได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว ว่างเปล่า

ตรงกันข้าม มีรากฐานมีความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ทำไมต้องปรองดอง ทำไมต้องสมานฉันท์

คำตอบก็คือ เพราะมี”ปัญหา”

คำถามที่ตามมาอย่างฉับพลันทันใดก็คือ อะไรคือ “ปัญหา” อะไรคือสิ่งที่จะต้องบริหารจัดการภายใต้คำว่าปรองดอง

คำตอบจะได้มาก็แต่จากบรรยากาศ”ประชาธิปไตย”เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image