‘องอาจ’ ดันปรองดอง ‘วาระแห่งชาติ’ ชง’ป.ย.ป.’ 7 ข้อผลการศึกษาอดีตถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 22 มกราคม เวลา 10.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคปชป. กล่าวถึงการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองว่า ตนเห็นด้วยที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พูดถึงประเด็นเรื่องปรองดองว่า ไม่ใช่เดิมพันของรัฐบาล หรือ คสช. แต่เป็นเดิมพันของคนไทยทุกคน ซึ่งนอกจากจะเป็นเดิมพันของคนไทยแล้วยังเป็นเดิมพันของประเทศ เพราะถ้าการปรองดองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ก็จะมีส่วนอย่างสำคัญที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศของเราไปในทางที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเดิมพันของคนไทยและประเทศไทยแล้ว จึงขอเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีทำเรื่องการปรองดองให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการทำเรื่องปรองดองซึ่งเป็นเรื่องสำคัญนี้ร่วมกัน เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาความขัดแย้ง แตกแยก ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันไปกับเกือบทุกภาคส่วนของสังคมไทย ทั้งนักการเมือง กลุ่มการเมือง ภาคประชาชน ตำรวจ ทหาร นักวิชาการ นักธุรกิจ รวมทั้งประชาชนทั่วไปด้วย จึงควรระดมความร่วมมือ ร่วมใจ จากทุกภาคส่วนในสังคมไทย ให้มาช่วยกันทำให้การปรองดองของคนในชาติปรากฎเป็นจริงขึ้นได้

นายองอาจ กล่าวต่อว่า ส่วนการที่บางฝ่ายออกมานำเสนอเรื่องเอ็มโอยู หรือเรื่องนิรโทษกรรม ขณะที่คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.) ยังไม่เริ่มทำงาน ก็ล้วนสร้างความสับสนให้สังคมเป็นอย่างมาก เพราะเอ็มโอยู หรือนิรโทษกรรมเป็นเพียงวิธีการรูปแบบหนึ่งที่อาจนำไปสู่การปรองดองแต่ไม่ใช่หลักการ ดังนั้นทางที่ดีควรเปิดโอกาสให้ ป.ย.ป.ได้ทำงานกำหนดหลักการ รวมทั้งแนวทางการทำงานและวิธีการต่างๆ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายให้ชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตาม การนำเสนออะไรล่วงหน้าก่อนที่ป.ย.ป.จะลงมือทำงานโดยเฉพาะข้อเสนอจากแม่น้ำ 5 สายของ คสช. อาจจะก่อให้เกิดการเข้าใจผิด และอาจถูกมองว่า มีธงล่วงหน้าจาก คสช. ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อการทำให้เกิดการปรองดองแต่อย่างใด

นายองอาจ กล่าวอีกว่า เพื่อให้การทำงานของ ป.ย.ป.ด้านปรองดองมีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด ตนขอเสนอให้ ป.ย.ป.ด้านปรองดอง นำผลงานการศึกษาด้านการปรองดองจากอดีตถึงปัจจุบันของคณะกรรมการชุดต่างๆ มาเป็นพื้นฐานในการทำงานดังนี้ 1. การทำงานด้านการปรองดองของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนาย คณิต ณ นคร เป็นประธาน 2. การศึกษาแนวทางปรองดองของคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน 3. ผลการศึกษาเรื่องการปรองดอง สมานฉันท์ สันติวิธี ของสถาบันพระปกเกล้า 4. ผลงานของสำนักงานคณะกรรมการปรองดอง และการปฏิรูป สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบ 5. ผลงานของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) จัดตั้งโดย กอ.รมน. ตามที่ คสช. มอบหมาย 6. รายงานเรื่องความปรองดองของคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ7. ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง เรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดอง

“การนำผลการทำงานศึกษาเรื่องการปรองดองของคณะกรรมการชุดต่างๆ น่าจะมีส่วนอย่างสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ ป.ย.ป. ด้านปรองดอง เพื่อเป็นพื้นฐานนำข้อมูลไปต่อยอดการทำงานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดีกว่าไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ ผมหวังว่าข้อเสนอนี้จะช่วยการทำงานของ ป.ย.ป.ด้านปรองดอง ให้สามารถทำงานได้ผลสำเร็จตามเจตนารมณ์มากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน” นายองอาจ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image