ปกรณ์ พงศ์วราภา… เปิดมุมมองว่าด้วย “หนังสือ” ในโลกที่เปลี่ยนไป

ภาพจากเฟซบุ๊ก ขจรฤทธิ์ รักษา

ปกรณ์ พงศ์วราภา คือผู้ก่อตั้ง “GM Group” บริษัทผลิตแม็กกาซีนรายใหญ่ของไทย จีเอ็ม กรุ๊ปเป็นพี่ใหญ่ที่คร่ำหวอดในวงการนิตยสารมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี โดยมีนิตยสารจีเอ็มเป็นหัวหอกหลักตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ในวันที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจัดเสวนาและระดมความคิดเห็นประเด็น “การอ่านในศตวรรษที่ 21” ปกรณ์ พงศ์วราภา คือหนึ่งในองค์ปาฐกที่กล่าวปาฐกถาถึงประเด็นดังกล่าว และมุมมองของเขาคือสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะต่อวงการหนังสือทั้งในแง่การอ่าน การเขียน และธุรกิจหนังสือโดยรวม

ธุรกิจหนังสือในโลกที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

“หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่ผมเขียนเรื่องสั้น 30-40 เรื่อง ก็ไม่ได้เขียนอีกเลย ผันตัวมาเป็นคนทำหนังสือและไม่เคยกลับไปเขียนอีก วันนี้ผมก็สบายใจว่าไม่ได้มาในฐานะที่มีประสบการณ์ในวงการวรรณกรรม แต่มาในฐานะธุรกิจ ทำให้ผมมีอิสระในการพูดมากขึ้น แต่เชื่อว่าการเขียนของบ้านเราตอนนี้ก็คงขรุขระแบบนี้ต่อไป

Advertisement

การทำนิตยสารทำให้รู้ว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือมานานแล้ว เพราะทำมา 30-40 ปี ยอดขายหนังสือไม่เพิ่มขึ้น มีแต่ลดลงไป ผมอยากรู้ว่าใครเป็นคนริเริ่มให้คนไทยอ่านหนังสือ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาผมเห็นว่าหลายประเทศก็รณรงค์ให้คนอ่านหนังสือ แต่ทำไมคนอ่านจึงมีอยู่แค่นี้

แต่จริงๆ แล้วคนอ่านไม่อ่านไม่ใช่เรื่องใหญ่ ปัญหาคือจะอ่านอะไรมากกว่า ผมมีประสบการณ์ตรงอยู่อย่างหนึ่ง ผมมีคนรับใช้มาจากประเทศเพื่อนบ้าน มาหลายคนเปลี่ยนกันมาเรื่อย มีอยู่คนหนึ่งชื่อแก้ว ตอนกลางคืนหลังจากเลิกงาน เธอจะนั่งเรียนภาษาไทยด้วยตัวเอง ทุกเสาร์-อาทิตย์ผมจะอยู่บ้าน แก้วก็จะมีหน้าที่เอาหนังสือพิมพ์ขึ้นมาให้ผมอ่านที่ชั้นบน วันหนึ่งผมเดินออกมานอกห้อง พอดีเห็นแก้วตรงบันได เขากำลังเดินขึ้นบันไดมา ถือหนังสือพิมพ์เดินอ่านด้วย กางอ่านมาเลย แล้วก็ยืนอ่านตรงที่พักบันได ผมก็บอกว่า อ้าวแก้ว… เธออ่านหนังสืออย่างนี้ด้วยหรือ สนใจเรื่องหุ้นหรือยังไง

เธอบอกไม่ใช่ แก้วอ่านข่าวทอง อยากรู้ว่าทองราคาเท่าไร เพราะชีวิตฝันว่าอยากมีทอง ผมถามว่า แล้วทำไมเธอไม่ไปอ่านหนังสือประเภทซุบซิบดาราล่ะ เธอบอกว่าหนังสืออย่างนั้นแก้วไม่อ่านหรอก แก้วยิ่งโง่ๆ อยู่ อ่านพวกนั้นยิ่งโง่เข้าไปใหญ่ เขาตอบอย่างนั้นจริงๆ นี่คือประเด็นที่ว่า ถ้าเราส่งเสริมให้อ่านยังไม่สำคัญเท่ากับจะให้เขาอ่านอะไร

Advertisement

ผมไม่รู้ว่าอนาคตคนเราจะเป็นอย่างไร ถ้าถามว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยไหม น้อยลง คนซื้อหนังสือน้อยลงไหม น้อยลง คือคนเราเริ่มอ่านหนังสือน้อยลงแต่ไปใส่เวลากับอย่างอื่นมากกว่า ผมเคยขึ้นไปเชียงใหม่ ไปทำหนังสือเล่มหนึ่งในเชียงใหม่ ทำแจกฟรีให้ฝรั่งอ่าน พบผู้ประกอบการคนหนึ่งกำลังทำรีสอร์ตแห่งใหม่ เขาก็เรียกคนขายทีวี กำลังซื้อทีวี และเขาต้องการซื้อ 42 นิ้วติดในโรงแรม เพราะโรงแรมอื่นแค่ 32 นิ้ว เราต้องใหญ่กว่าจะได้ชนะเขา ผมก็นึกในใจว่าปีหน้ามีโรงแรมใหม่มาเขาติดทีวี 52 นิ้วคุณก็แพ้แล้ว แต่ไม่มีใครคิดถึงว่าจะเอาหนังสือเข้าไปอยู่ในห้องเลย เพื่อให้ห้องนั้นมีคุณค่าขึ้น เพราะว่าโรงแรมตั้งอยู่ติดแม่น้ำ บรรยากาศน่าอ่านหนังสือมาก อย่าว่าแต่คนทั่วไปไม่อ่านหนังสือเลย แม้แต่ผู้ประกอบการยังไม่สนใจเลย ขนาดผมเอาหนังสือฟรีมาให้เขายังไม่สนใจเลย เขาแค่บอกว่ายังไม่มีงบ แต่คุณมีงบกับทีวี 42 นิ้ว ไม่เข้าใจ

ประเทศไทยไม่ซื้อหนังสือ แต่ต่างประเทศคนอ่านหนังสือ ทำให้สำนักพิมพ์และคนเขียนอยู่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งแค่โฆษณาเพียงอย่างเดียว ประเทศญี่ปุ่นมีประชากร 120 ล้านคน หนังสือพิมพ์ที่ขายพิมพ์วันหนึ่ง 30 ล้านเล่ม รองลงมารวมทั้งหมดเกือบๆ 100 ล้านฉบับ ทำให้เห็นว่าเขาซื้อกันทุกคน แต่ประเทศเราพิมพ์ 1 ล้าน ต่อประชากร 60 ล้านราย การอ่านที่ลดลง ยอดขายที่ลดลง การทำหนังสือลดลง พฤติกรรมการทำหนังสือจึงเปลี่ยน

ทุกวันนี้นิตยสารแจกฟรี ผมทำนิตยสารแจกฟรี (Free Copy) มาตลอด 9 ปี มีอยู่ในแผงเต็มไปหมด คำถามคือทำไมต้องแจกฟรี เพื่อตีตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ อนาคตสื่อสิ่งพิมพ์จะไปทางแจกฟรีมากขึ้น แต่ก็ไม่ง่าย มีไม่กี่เล่มที่ประสบความสำเร็จ เพราะการทำหนังสือแจกฟรีรายได้ต้องมาจากโฆษณาหมด โฆษณาก็มีงบจำกัด ถ้าทำแจกฟรีแล้วคนไม่อ่านปวดใจกว่าทำหนังสือมีราคาเสียอีก เพราะถ้าทำขายยังโทษฟ้าโทษดินได้ เช่น แผงหนังสือวางไม่ดี คนไม่ออกมาซื้อเพราะฝนตกก็ว่ากันไป แต่พอแจกฟรีแล้วคนไม่หยิบไปอ่านจะไปโทษใคร ส่วนใหญ่นิตยสารแจกฟรีจะอยู่ในที่ที่คนรุ่นใหม่อยู่ แล้วเขาไม่หยิบไปหมดหรอกอย่างมากก็หยิบไป 3 เล่ม บางทีไม่หยิบเลยด้วยซ้ำอ่านอย่างเดียว

ผมเคยไปนั่งดู สังเกตว่าคนอ่านเป็นอย่างไร มีหนุ่มมานั่งสั่งกาแฟประมาณ 10-20 นาที เขาก็ไปแล้ว แปลว่าหนังสือแจกฟรีจะต้องทำหนังสือให้อ่านจบในเวลาประมาณ 15 นาทีนั้นล่ะ ซึ่งส่วนใหญ่คนทำนิตยสารแจกฟรีก็ทำหนังสืออยู่ 45 หน้าไม่เกินนั้น นิตยสารขายคนอ่านน้อยคือเรื่องจริง แต่นิตยสารแจกฟรียังมีข้อเสียคือไม่ได้กระจายอยู่ทั่วประเทศ จะอยู่ในกรุงเทพฯนี้ล่ะ

ทุกวันนี้เวลาเจอคำถามว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่ได้ยังไง ผมว่าคนทำหนังสือทำนิตยสารไม่ได้ตระหนักสิ่งหนึ่งคือ อยู่ได้ก็จริงแต่ไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหน เพราะที่คุมการจัดจำหน่ายสายส่งมีอยู่ 2-3 เจ้า และเขาบอกว่าจะไม่วางหนังสือต่างจังหวัดแล้ว ทำเอาช็อก เพราะอย่างนี้เท่ากับว่าคนต่างจังหวัดถูกตัดขาดจากการอ่านไปหมดแล้ว ผมก็เลยไปพบเขา เขาบอกไม่ได้เลิกวาง แต่ยอดขายตกทำให้เขาขาดกำไร เพราะรายได้สายส่งอยู่ที่ยอดขายแต่ละเล่ม เขาบอกว่าถ้าวางขายต่างจังหวัดแล้วมีส่งคืน เขาจะขายตอนส่งคืนเล่มละ 5 บาท คนทำหนังสือที่ไหนจะไปจ่าย เลยเริ่มไม่วางต่างจังหวัด

บางคนบอกก็ไม่เป็นไรไปทางออนไลน์ แต่ก็เกิดคำถามว่าออนไลน์เป็นคำตอบสุดท้ายจริงๆ หรือ ทุกวันนี้ทางออนไลน์ก็ยังมีปัญหาอยู่ ผมไม่เชื่อหรอกที่วัยรุ่นอยากอ่านคือสิ่งที่เราเขียนๆ กันอยู่ ต้องเข้าใจก่อนว่าที่เราอ่านหนังสือไม่ใช่เพราะสนุกเท่านั้นแต่เราต้องการคิดและได้ความรู้จากที่อ่านด้วย ผมเคยมีคำหนึ่งที่เคยเขียน เราเรียนรู้โลกได้ด้วยการอ่าน มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะผมจบแค่ ม.3 ภาษาอังกฤษก็ไม่ดี แต่อ่านหนังสือเยอะ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีความคิดมีปัญญา แต่คนยุคต่อไปส่วนใหญ่จะอ่านเพื่อความสนุกอย่างเดียว สั้นๆ แป๊บๆ จบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องบ่มเพาะตั้งแต่เด็ก แล้วจะเป็นไปได้เหรอเพราะในเมื่อผู้ปกครองเองก็ยังไม่อ่านเลย แล้วเขาจะสอนลูกได้ยังไง การอ่านหนังสือต้องเลือกการอ่าน ไม่ใช่ไปอ่านที่ยิ่งอ่านยิ่งโง่

เคยมีคนถามว่า ถ้าหนังสือหมดไปเลยคุณจะรู้สึกยังไง ผมก็บอกว่ากระดาษเกิดจากที่จีน 4,000 ปีที่แล้ว ถ้าหมดยุคของผม ผมก็รู้สึกดีนะ

จากยุคนี้ไปผมก็คงอายุ 80 ปี ผมก็พอใจกับสิ่งที่ผมทำแล้ว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image