แนวโน้ม การเมือง โรดแมป เลือกตั้ง 2560 กลายเป็น ‘อดีต’

ณ วันนี้ เสียงทวงถามในเรื่อง “การเลือกตั้ง” ตามที่เคยกำหนดไว้ใน “โรดแมป” อย่างที่เรียกว่า “ปฏิญญา นิวยอร์ก” ได้หายไปจากวงจรของข่าวโดยอัตโนมัติ

ไม่ว่า “เพื่อไทย” ไม่ว่า “ประชาธิปัตย์” ล้วนไม่มีการเอ่ยถึง

บรรยากาศในทางการเมืองกำลังตลบอบอวลด้วย 2 บรรยากาศสำคัญ

2 บรรยากาศ นั่นก็คือ 1 บรรยากาศแห่งการรอคอยจากการแก้ไขเพิ่มเติม“ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับผ่านประชามติ

Advertisement

และ 1 บรรยากาศแห่ง “การปรองดอง”

การแก้ไขเพิ่มเติม “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับผ่านประชามติตามที่บทบัญญัติใหม่ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 เปิดทางให้

ทำให้ย้อนกลับไปสู่ “เงื่อนไข” ก่อนการลงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

Advertisement

ส่งผลให้การประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ” ทอดยาวออกไป แทนที่จะเป็นในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

กลายเป็น ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นเมื่อใด

ขณะเดียวกัน การเปิดประเด็นในเรื่อง “ปรองดอง” โดย คสช.และรัฐบาล ทำให้การรอคอยทั้ง “รัฐธรรมนูญ” และ “การเลือกตั้ง” มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น

นี่แหละคือ “รูปธรรม” แห่ง “ตัวแปร”

 

การเลือกตั้งที่เคยเชื่อกันว่าจะต้องเกิดขึ้นภายในปลายปี 2560 ตาม “โรดแมป” เริ่มดำรงอยู่ในสภาพ “ใหม่” ของการยอมรับหนักแน่นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

เท่ากับมี “ความเชื่อ” ใหม่ว่าน่าจะเป็นในปี 2561

แม้การโยนหินถามทางอันมาจาก นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย กับ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ที่ว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณกลางปี 2561 จะไม่เป็นที่ยอมรับเท่าใดนักในเบื้องต้น แต่มาถึง ณ วันนี้ เริ่มรู้สึกว่า ยิ่งนานวันยิ่งมีความเป็นไปได้

เหมือนกับจะเป็นเรื่องบังเอิญ เหมือนกับจะเป็นไปตามวิถี

กระนั้น หากลองทบทวนแต่ละกระบวนท่าที่ปรากฏออกมาก็อาจจะมีความเข้าใจหนักแน่นและจริงจังมากยิ่งขึ้นว่า มิได้เป็นเรื่องบังเอิญ

ตรงกันข้าม ดำเนินไปอย่างมีการวางแผน

เพราะว่ากระแสผลักดันในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับผ่านประชามติมิได้เป็นเรื่องเพิ่งเกิดขึ้น

หากแต่ปรากฏออกมาตั้งแต่ปลายปี 2559 แล้ว

ขณะเดียวกัน บรรยากาศแห่งการปรองดองซึ่งกลายเป็น “กระแส” อย่างหนึ่งในทางสังคมก็มิได้หมายความว่า อุบัติขึ้นอย่างไร้ต้นสายปลายเหตุ

ตรงกันข้าม ล้วนดำเนินไปอย่างมีการวางแผน

 

ความน่าสนใจมิได้อยู่ที่มีการมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามารับผิดชอบในเรื่อง “ปรองดอง”

หากแต่อยู่กับท่าทีอันมาจาก “เพื่อไทย”

ผู้คนอาจจับตามองอย่างเป็นพิเศษว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะมีท่าทีอย่างไรต่อการปรากฏขึ้นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะคนทำงานเรื่อง “ปรองดอง”

เพราะประเมินว่ามีความใกล้ชิด สนิทสนม มาอย่างยาวนาน

แต่พลันที่สัมผัสได้ในท่าทีจาก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ประสานเข้ากับท่าทีจาก นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล

ก็เริ่มมองเห็น “อะไร” หลายอย่างในทาง “การเมือง”

ท่าทีจาก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ตั้ง “ความหวัง” ไว้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ค่อนข้างสูง

ถึงกับนำคำว่า “พี่ใหญ่” มา “การันตี”

 

ท่าทีอันมาจากแกนนำสำคัญของพรรคเพื่อไทยแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกระบวนการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มากกว่า แนบแน่นกว่า ท่าทีอันมาจากแกนนำสำคัญจากพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ

ยิ่งท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งมีความเด่นชัด

นี่คือ แนวโน้ม “ใหม่” ในทางการเมือง ท่ามกลางบรรยากาศแห่ง “ปรองดอง”

 

จากนี้จึงเห็นอย่างเด่นชัดยิ่งว่ากระบวนการของ “โรดแมป” กระบวนการของ “การเลือกตั้ง” จะดำเนินไปอย่างไร

จะไม่มีการเลือกตั้งในปี 2560 อย่างแน่นอน

แนวโน้มและความเป็นไปได้จึงน่าจะอยู่ที่ปี 2561 มากกว่า อาจจะเป็นต้นปี และอาจจะเป็นกลางปีแต่ไม่น่าจะเป็นปลายปี

ยอมรับหรือยังว่า “คสช.” เริ่มเล่นการเมือง “เป็น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image