สธ.สั่งรพ.สังกัดหมื่นแห่ง ปรุงผักปลอดสารพิษให้ผู้ป่วย นำร่อง 16 แห่ง มิ.ย.นี้

จากกรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai PAN) เก็บตัวอย่างผักผลไม้ และตรวจพบผักผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 56 จนทำให้ผู้บริโภครู้สึกเป็นกังวลนั้น

เมื่อวันที่ 23 มกราคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมแก้ไขปัญหาการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักสด และผลไม้สด ครั้งที่ 4 ว่าจากผลการคัดกรองความเสี่ยงได้ทำการเจาะเลือดกลุ่มเกษตรกรที่เป็นผู้สัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2555-2559 อยู่ที่ร้อยละ 33 และในปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 37 จะเห็นได้ว่าเกษตรกรมีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากการสัมผัสสารเคมีสูงขึ้น เนื่องจากมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้มากขึ้น ทำให้ผักผลไม้ที่ขายในท้องตลาดมีสารเคมีตกค้างเพิ่มขึ้นด้วย

นพ.ปิยะสกลกล่าวอีกว่า ที่ประชุมจึงหารือร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ผักผลไม้ปลอดภัย โดยจากการประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีมติร่วมกันว่า ในปี 2560 ให้เป็นปีแห่งการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย ซึ่งการจะก้าวไปสู่มติดังกล่าวได้ จะมีขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดกว่า 10,000 แห่ง ปรุงผักที่ปลอดสารพิษให้ผู้ป่วยรับประทาน โดยให้รับจากเกษตรกรโดยตรง เบื้องต้นดำเนินการ 16 แห่ง อาทิ นครปฐม เชียงราย ตรัง ฯลฯ ก่อนขยายให้ครบทั้งหมด ขณะที่ รพ.สังกัดมหาวิทยาลัยก็จะขอความร่วมมือเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการขอขึ้นทะเบียนสารพิษภาคเกษตรจากกรมวิชาการเกษตร จะยิ่งทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีมากขึ้น สวนกับนโยบายนี้หรือไม่ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า เรื่องนี้จะมีการหารือในคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง แต่ในเรื่องการขึ้นทะเบียนสารเคมีภาคการเกษตรคงต้องสอบถามไปยังกรมวิชาการเกษตร อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯจะควบคุมและลดปริมาณการใช้สารเคมีจากผู้ผลิตต้นทาง กลางน้ำ

Advertisement

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัด สธ. กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมผักปลอดภัยนั้น จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่พร้อมดำเนินการมี 16 แห่ง ดำเนินการได้เลยในเดือนมิถุนายนนี้ 2.กลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่อีก 100 แห่ง และ 3.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะทำได้ภายในปี 2561

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าวิธีลดการตกค้างของสารเคมีในพืชผักดีที่สุด คือ การล้างน้ำไหลผ่าน โดยแกะกลีบ ใบ ตัดส่วนที่ไม่รับประทานออก หรือเคาะดินออกจากราก ก่อนนำไปล้างใช้ความแรงของน้ำพอประมาณ คลี่ใบผัก และถูไปมาบนผิวใบของผัก ผลไม้

thumbnail_IG_ล้างผัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image