เปิดใจ’พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์’ แม่ทัพดีอียุคดิจิทัล กับสารพัดโปรเจ็กต์ดันไทยเข้ายุค4.0

ปี 2560 ถือเป็นปีแรกที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ปรับบทบาทหน้าที่มาจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเดิม ได้มีโอกาสทำงานได้เต็มปี หลังจากกระทรวงได้ถูกก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายนปี 2559 โดยมีนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็นเจ้ากระทรวง จึงเป็นที่น่าสนใจว่าด้วยบทบาทของกระทรวงดีอีที่ถูกรัฐบาลกำหนดให้เป็นอีกหนึ่งกระทรวงที่มีหน้าที่สำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม เพราะกระทรวงดีอีจะเป็นผู้สนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้านดิจิทัล ไปจนถึงการสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ประชาชนโดยตรง

“มติชน” มีโอกาสได้สัมภาษณ์ “นายพิเชฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ถึงแผนงานต่างๆ ที่จะดำเนินการในปี 2560

ลุยวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตครบ 70,000 หมู่บ้าน

นายพิเชฐบอกว่าปีนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องการวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ให้ครอบคลุมทั้ง 70,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเหมือนกับคนเมือง โดยมีบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งโครงข่ายไปยังหมู่บ้านที่ยังเหลืออีก 24,700 แห่ง ภายใต้กรอบระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน หรือเสร็จสิ้นปี 2560

Advertisement

“ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยโตก็จริง แต่ไม่ได้โตอย่างยั่งยืน แต่เมื่อมีการนำเรื่องดิจิทัลมาพัฒนาประเทศจะช่วยด้วยการให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเตอร์เน็ตที่เข้าถึงทุกพื้นที่ จะทำให้เรามีทางหลวงแผ่นดิน จากนั้นจะมีสิ่งที่ตามมากับถนนคือดิจิทัล ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้มีปริมาณ หรือมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และท้ายสุดสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวส่งให้เราหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้”

แทรก 3 โครงการย่อยในเน็ตหมู่บ้าน

นายพิเชฐระบุอีกว่า นอกจากนี้จะสร้างดิจิทัลชุมชนควบคู่ไปกับการวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ 70,000 หมู่บ้าน ภายใต้ 3 โครงการย่อย จากการใช้ประโยชน์จากโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน คือ 1.วิลเลจ คอมมูนิตี้ ตอบโจทย์ภาคเศรษฐกิจ โดยการลงไปให้องค์ความรู้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งคนทั่วไป ชาวนา เกษตรกร สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อาชีพและธุรกิจของตนเอง เช่น แต่เดิมชาวบ้านปลูกผลไม้ก็จะขายเฉพาะแต่ในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียง แต่หลังจากนี้จะมีการแนะนำตลาดให้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ

Advertisement

“การนำเรื่องอีคอมเมิร์ซลงสู่ชุมชน จะช่วยให้ตลาดกลายเป็นโลกทั้งใบ รวมทั้งการกระจายอีคอมเมิร์ซยังช่วยแก้ปัญหาแรงงาน ให้แรงงานได้กลับไปทำงานและพัฒนาระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นของตนเอง แทนที่จะหวังมุ่งเข้ามาทำงานกันแต่ในเมือง”

2.อีเฮลท์ ตอบโจทย์ภาคสังคม ในการสนับสนุนด้านการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีหมอน้อยเพียง 1-2 คนเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อรักษาผู้ป่วยเฉพาะทางอาจจะเป็นการยากในการวินิจฉัย แต่หลังโครงข่ายบรอดแบนด์ไปถึง สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรืออีจีเอ จะเข้าไปวางระบบเครือข่าย ระบบไอที และแอพพลิเคชั่น เพื่อให้เชื่อมโยงศูนย์บริการทางการแพทย์ของไทยทั่วประเทศ ส่งผลให้หมอในที่ห่างไกลสามารถส่งข้อมูลผู้ป่วยให้หมอที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางช่วยอ่านเคส หรือวินิจฉัยอาการได้โดยใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น

3.โลคอล อีกอฟเวอร์เมนต์ ตอบโจทย์ในด้านบริการภาครัฐ โดยจะให้บริการภาครัฐในแต่ละพื้นที่นำเรื่องของเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และลดเวลาในการทำธุรกรรมต่างๆ ของประชาชน อีกทั้งมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ เช่น ระบบอ่านสมาร์ทการ์ดบัตรประชาชน แทนการกรอกข้อมูลในเอกสาร หรือการเชื่อมโยงประวัติผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล

ฮับดิจิทัลอาเซียน

ส่วนอีกโครงการสำคัญที่กระทรวงดีอีมีแผนจะผลักดันคือ การก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม “ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์” หรือเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัล เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างสรรค์งานด้านดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ อาทิ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น ศูนย์บริการจัดเก็บข้อมูล (ดาต้าเซ็นเตอร์) นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะต่างๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต (ไอโอที) หรือนวัตกรรมดิจิทัลแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมด้านดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

โดยดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์จะตั้งบนเนื้อที่ราว 500 ไร่ ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ติดทะเล ใกล้กรุงเทพฯ และใกล้แหล่งอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะแหล่งอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มสูงที่จะมีการเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่เข้ากับนวัตกรรมยานยนต์ โดยภายในนิคมจะแบ่งเป็นโซนๆ ประกอบด้วย ศูนย์นวัตกรรมด้านดิจิทัล สถาบันวิจัยด้านดิจิทัล ที่ตั้งบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลก สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัล ที่พักอาศัยสำหรับนักวิจัยและผู้ปฏิบัติงาน พื้นที่สีเขียวเพื่อสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ คาดว่าหากดำเนินการแล้วเสร็จพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นชุมชนดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน

“ผมอยากให้นำบริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และศูนย์วิจัย มาตั้งร่วมกัน เพราะเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกใช้รูปแบบนี้แล้วประสบความสำเร็จ ทั้งฝั่งอเมริกาหรือยุโรป ฉะนั้นผมจึงเชื่อว่าถ้ารัฐและเอกชนจับมือกันแน่นๆ ประเทศไทยเจริญแน่”

จูงใจลงทุนด้วนสิทธิประโยชน์เต็มเพดาน

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะจูงใจให้เอกชนเข้ามาใช้พื้นที่นิคมนั้นคือ จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานด้านต่างๆ เช่น การสร้างสภาวะแวดล้อมที่ทุกอย่างต้องเป็นดิจิทัล การเป็นที่ตั้งของอินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ซึ่งสามารถใช้งานอินเตอร์บนความกว้าง (แบนด์วิธ) ไม่จำกัด และจะขอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้สิทธิประโยชน์อัตราสูงสุด คือ ยกเว้นภาษี 8 ปี และลดหย่อนเพิ่มเติมอีก 50% ต่ออีก 5 ปี ยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์วิจัยหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมทุกชนิด อำนวยความสะดวกในการเข้ามาทำงานของนักวิจัยระดับโลก และยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนักวิจัยที่ทำงานในดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์

คาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดของโครงการได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน เพื่ออนุมัติต่อไป โดยเชื่อว่าโครงการน่าจะได้รับความเห็นชอบ เพราะสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ได้ดำเนินโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ดอินโนโพลิส จึงรู้กับดักที่มาเป็นอุปสรรคเป็นอย่างดี

เปิดบ้านโชว์นวัตกรรมดิจิทัลของไทย

นอกจากนี้ในปี 2560 กระทรวงดีอียังมีแผนจัดงาน “ไทยแลนด์ ดิจิทัล บิ๊กแบง” ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงดีอี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงอุตสาหกรรม ในระหว่างวันที่ 25-28 พฤษภาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในงานดังกล่าวจะมีทั้งการจัดสัมมนา การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความก้าวหน้าของประเทศไทยเมื่อเทียบกับปีก่อนและเทคโนโลยีของภูมิภาค การแสดงเทคโนโลยีของกลุ่มสตาร์ตอัพ และการจัดแสดงนวัตกรรมด้านดิจิทัลที่ทันสมัยในรูปแบบต่างๆ จากประเทศและหน่วยงานชั้นนำของโลก เบื้องต้นมีประเทศที่ตอบรับแล้ว 20 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น รวมถึงมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ตอบรับเข้าร่วมงานแล้วคือ อาลีบาบาและหัวเว่ย เป็นต้น

“ไฮไลต์ของงานนี้คือ เป็นครั้งแรกของไทยและอาเซียนที่สามารถเชิญกลุ่ม The Global Entrepreneurship Network (GEN) ที่เป็นกลุ่มสตาร์ตอัพระดับโลกซึ่งมีสมาชิกรวมกัน 165 ประเทศ มาให้ความรู้สตาร์ตอัพได้สำเร็จ เรียกว่าโอกาสแบบนี้ไม่ได้หากันได้ง่ายๆ” นายพิเชฐกล่าวทิ้งท้าย

ดูแล้วกระทรวงดีอียุคนี้มีโปรเจ็กต์ดีๆ อยู่ในมือเพียบ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถเดินตามแผนงานที่ร่างไว้ได้หรือไม่…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image