บทความวิชาการ : บทพิสูจน์กีฬากอล์ฟกับการเยียวยาสุขภาพ

ภาพประกอบจาก AFP

ตามที่ได้เขียนไว้ในบทความชิ้นก่อน (บทความวิชาการ : จัดการความเครียดด้วยกีฬากอล์ฟ จากแนวคิด ทฤษฎี สู่การปฏิบัติ) ว่าผู้เขียนเล่นกีฬากอล์ฟเป็นที่ 2 และค้นพบว่ากีฬากอล์ฟเป็นศาสตร์และศิลป์ และนอกจากเป็นกีฬาที่สร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมแล้วยังช่วยเยียวยาสุขภาพ ทำให้ปลอดโรค สุขภาพโดยรวมดีขึ้น บทพิสูจน์ที่เป็นประสบการณ์ของผู้เขียนคือ กีฬากอล์ฟเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยให้ผู้เขียนมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจากการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2

เนื่องจากก่อนการฝึกหัดเล่นกีฬากอล์ฟนั้น ผู้เขียนมีน้ำหนักตัวประมาณ 90 กิโลกรัมและมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร 8 ชั่วโมง (fasting blood sugar) อยู่ในระดับที่สูง ถึงแม้ว่าจะพยายามลดอาหารประเภทแป้ง ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ยังคงสูงกว่าปกติ

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในวงการแพทย์ว่า การประเมินผลการรักษาและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานระยะยาวมักใช้ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลสะสมหรือ HbA1C เป็นค่าในการประเมิน เนื่องจากหากน้ำตาลที่สะสมในเลือดอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน ย่อมมีผลต่อการทำลายระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ไตเสื่อม ตาเสื่อม พบปัญหาต่อระบบหลอดเลือดหัวใจและระบบปลายประสาท

โดยทั่วไปเป้าหมายในการลด HbA1C จะต้องน้อยกว่า 7 mg% จึงจะลดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ในระยะยาวได้ สำหรับผู้เขียนนั้น ก่อนการเล่นกีฬากอล์ฟอย่างจริงจังค่า HbA1C อยู่ในระดับที่เกิน 7 mg% อย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่รับประทานยาลดน้ำตาลในเลือดหลายชนิดและในขนาดที่สูง กล่าวคือ รับประทานยา Actos (30  mg) 1 เม็ดเช้าก่อนอาหาร และ Metformin (500 mg) ครั้งละ 2 เม็ด หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น รวม 6 เม็ดต่อวัน พร้อมกับการควบคุมดูแลในเรื่องการรับประทานอาหารและมีการออกกำลังกายบ้างตามสมควร ระดับน้ำตาลในเลือดยังคงสูงมาโดยตลอด

Advertisement

จนกระทั่งได้บทพิสูจน์จากกีฬากอล์ฟ ที่นอกจากช่วยให้เกิดความเพลิดเพลินกับกีฬาประเภทนี้แล้ว ยังช่วยเยียวยาโดยการควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ระดับปกติ ในขณะเดียวกันได้ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการรับประทานอาหารร่วมด้วย ในปัจจุบันน้ำหนักตัวลดลงเหลือ 77 กิโลกรัม และได้งดการรับประทานยา Actos ก่อนอาหาร พร้อมทั้งลดยา Metformin (500 mg) จากวันละ 6 เม็ด เหลือเพียงวันละ 2 เม็ด (1 เม็ดเช้า-เย็น) ตรวจน้ำตาลหลังงดอาหาร 8 ชั่วโมงทุกวันด้วยตนเองพบว่าอยู่ในช่วง 90-115 mg%  และเมื่อตรวจ HbA1C พบว่าอยู่ในระดับปกติมาโดยตลอด หน้าตาสดใสขึ้น มีสมาธิ ทำกิจกรรมต่างๆ ได้คล่องแคล่วว่องไวขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย จึงคิดว่าการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่าน เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพในลักษณะเดียวกัน และต้องการลดน้ำหนัก หรือต้องการส่งเสริมสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงขึ้น รวมทั้งป้องกันการเกิดโรคโดยเฉพาะจากกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อแต่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคและขาดการออกกำลังกาย (Non-communicable diseases; NCDs) ซึ่งได้แก่ 1) กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง 2) กลุ่มโรคเบาหวาน 3) กลุ่มโรคมะเร็ง และ 4) กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมถึงโรคปอดอุดกลั้นเรื้อรังและโรคหอบหืด ซึ่งพบว่าผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO, 2012) NCDs คร่าชีวิตประชากรโลกสูงถึงร้อยละ 68 ของการตายจากสาเหตุอื่นๆ รวมกันทุกสาเหตุ

ในความเห็นของผู้เขียนนั้น ถึงแม้ว่ากีฬากอล์ฟจะไม่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของโรคในกลุ่ม NCDs ได้ทั้งหมด แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะลดปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มโรคที่ 1 และ 2 ซึ่งจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ด้วยการวิจัยที่อาจดำเนินการในลักษณะของการวิจัยเชิงคุณภาพ หากจำนวนกลุ่มตัวอย่างไม่เพียงพอ เพื่อเป็นหลักฐานหรือข้อมูลเชิงประจักษ์ต่อไป

สำหรับกรณีศึกษาของผู้เขียนนั้นเกิดขึ้นจากการทดสอบด้วยตนเองในการซ้อมไดรฟ์ทุกวันและการออกรอบที่สม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ร่วมกับการควบคุมดูแลการรับประทานอาหารอย่างเข้มงวดและระมัดระวัง ด้วยความเชื่อที่ว่าภายในระยะเวลา 1 ปี สุขภาพของท่านผู้อ่านที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับผู้เขียนน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน

Advertisement

เอกสารอ้างอิง
World Health Organization. (2012).  The top 10 causes of death. Retrieved from http://www.who.int

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image