มนต์รัก ‘ทรานซิสเตอร์’ โดย ปราปต์ บุนปาน

ออมสิน ชีวะพฤกษ์

ประเด็นที่รัฐบาลมีแนวคิดจะแจก “วิทยุทรานซิสเตอร์” ให้ประชาชนภาคใต้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ไว้ใช้รับฟังข่าวสารของทางราชการ

คงจะค่อยๆ จางหายไปพร้อมกับสถานะของข่าวที่เข้าข่าย “เรื่องโจ๊ก” มากกว่า “เรื่องจริง”

คุณออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียง “แนวคิด” ที่มีการเสนอกันในที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี

โดยเทียบเคียงกับกรณีน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งมีการแจก “วิทยุทรานซิสเตอร์” ให้ผู้ประสบภัยใช้เป็นช่องทางรับฟังข่าวสารของทางราชการ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียอมรับว่าแม้การแจก “วิทยุทรานซิสเตอร์” อาจเป็นข้อดีต่อประชาชนในพื้นที่ห่างไกล

แต่หากนำไปแจกให้ประชาชนในเขตเมือง ซึ่งมีอุปกรณ์สื่อสารครบถ้วนอยู่แล้ว พวกเขาก็คงไม่เปิด “วิทยุทรานซิสเตอร์” ฟังกัน

เรื่องที่น่าคิดมากกว่าการหัวเราะหรือส่ายหน้าใส่ข่าว “วิทยุทรานซิสเตอร์” ก็คือ หากนี่เป็น “ไอเดีย” ที่มีอยู่จริง

Advertisement

แล้วสิ่งที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดดังกล่าว คือ วิธีคิดหรือฐานคิดแบบไหน?

น่าสนใจที่รัฐบาลยกกรณีการแจก “วิทยุทรานซิสเตอร์” ช่วงเหตุการณ์อุทกภัยปี 2554 ขึ้นมาเทียบเคียง

หรือถ้าจำไม่ผิด แม้แต่สปอตโฆษณาประชาสัมพันธ์รัฐบาล “ไทยรักไทย” ในยุคเฟื่องฟู ก็เคยมีภาพชาวบ้านรับฟังข่าวสารของภาครัฐผ่านเครื่องเล่นวิทยุ

ในวงจรการสื่อสารระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชาชน” “วิทยุทรานซิสเตอร์” ถือเป็น “เครื่องมือ” ที่ “รัฐ” จะใช้เผยแพร่ข่าวสารไปสู่ “ประชาชน” ด้วยลักษณะ “ทางตรง” และ “ทางเดียว”

สำหรับปัจจุบัน ปัญหาอาจมิได้อยู่ที่รัฐบาลชุดนี้ควรใช้ “วิทยุทรานซิสเตอร์” เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารกับประชาชนส่วนใหญ่ ดังเช่นรัฐบาลชุดก่อนๆ หรือไม่?

แต่น่าจะอยู่ตรงที่การใช้ “วิทยุทรานซิสเตอร์” เป็น “เครื่องมือสื่อสารทางเดียว” นั้นยัง “ทำงาน” ได้ดีแค่ไหน? มากกว่า

หรือจะเป็นเหมือนที่คุณเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ บอกเอาไว้ว่าการแจก “วิทยุทรานซิสเตอร์” คือเรื่อง “ล้าสมัย” ขัดแย้งกับการขับเคลื่อนประเทศในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งข่าวด่วนจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติควรส่งถึงประชาชนผ่านหลากหลายช่องทางการสื่อสาร รวมทั้งโซเชียลมีเดีย

หรือจริงๆ แล้ว ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่การแจกหรือไม่แจก “วิทยุทรานซิสเตอร์” แต่อยู่ตรงลักษณะ “ตกยุค” ของ “รูปแบบการสื่อสารทางเดียว” ท่ามกลางยุคสมัยของ “สื่อใหม่” ที่ผู้ผลิตสารและผู้รับสารสามารถมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันได้อย่างรวดเร็ว

การพยายาม “เฝ้าประตู” และกลั่นกรองข่าวสารถือเป็น “เรื่องยาก” มากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับการพลิกสถานะมาเป็น “ผู้ผลิต” หรือ “ผู้ผลิตซ้ำ” ข่าวสารต่างๆ ของ “(อดีต) ผู้บริโภค” ที่กลายเป็นปรากฏการณ์สามัญดาษดื่น

ข่าวคราวการแจก “วิทยุทรานซิสเตอร์” ในสถานการณ์อุทกภัย 2560 ยังอาจทำให้บางคนย้อนนึกถึง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” นิยายผลงานการประพันธ์ของ “วัฒน์ วรรลยางกูร” (พ.ศ.2524) ซึ่งถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ.2544 โดย “เป็นเอก รัตนเรือง”

นิยาย/หนังพูดถึงตัวละครชายหนุ่มชาวต่างจังหวัด ที่เสียงเพลงลูกทุ่งจาก “วิทยุทรานซิสเตอร์” ผลักดันให้ชีวิตของเขามีความฝันและเตลิดไกลไปกับ “มายา” ต่างๆ ในสังคมเมือง

แต่เมื่อ “มายา” เหล่านั้นค่อยๆ ล่มสลายลง สิ่งที่ชายหนุ่มสามารถทำได้ก็คือการย้อนกลับไปหาเมีย ลูก บ้านหลังเดิม และ “วิทยุทรานซิสเตอร์” เครื่องเก่า ที่ต่างจังหวัด

น่าสนใจที่ “ประสบการณ์พ่ายแพ้จากการต่อสู้ฯ” อันเป็นบริบทแวดล้อมของ “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ฉบับนิยาย สามารถกลืนกลายเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “ประสบการณ์พังพินาศหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” อันเป็นบริบทแวดล้อมของหนัง ได้อย่างลงตัว

อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ทั้งสองชุดที่ปรากฏผ่าน “สื่อกลาง” แห่งความฝัน ความหวัง และความล้มเหลว เช่น “วิทยุทรานซิสเตอร์” ล้วนถ่ายทอดถึง “สารซ่อนเร้น” บางประการที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน

นั่นคือ หลายครั้ง ชีวิตคนเราก็ไม่ได้มี “ทางเลือก” มากนัก หรืออาจไม่มี “ทางอื่นๆ” ให้ได้เลือกเลยด้วยซ้ำไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image