‘กรมปศุสัตว์’ยันฟาร์มมาตรฐานไม่มีการลักลอบใช้ยาปฏิชีวนะเกินกำหนด

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์
กรมปศุสัตว์ ยืนยันฟาร์มมาตรฐานไม่มีการลักลอบใช้ยาปฏิชีวนะเกินกำหนด ย้ำผลิตเนื้อสัตว์ปลอดภัย100% เตือนเกษตรกรลักลอบใช้ยาเถื่อนมีความผิดทั้งจำทั้งปรับ
 
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ดำเนินการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก โดยกรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินแนวทางการควบคุมยาสัตว์ในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ และกำหนดแผนยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560–2564 เพื่อป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา และกำกับดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์อย่างเหมาะสม ที่สำคัญยังเดินหน้าควบคุมและติดตามการใช้ยาสัตว์ในฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มจากกรมปศุสัตว์ 10,000 แห่งทั่วประเทศ อย่างเข้มงวด ทั้งเรื่องวิธีการใช้ยา คุณภาพของยาสัตว์ และตรวจสอบการตกค้างของยาทั้งก่อนและหลังการเชือดชำแหละ ดังนั้นผู้บริโภคควรเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ที่มาจากฟาร์มมาตรฐานฯ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะและสารตกค้างแน่นอน
ขณะเดียวกันได้เร่งปราบปรามฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ลักลอบใช้ยาเถือน-ใช้เกินขนาด ตลอดจนผู้ประกอบการนำเข้า ผลิต หรือขายผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารสัตว์และยารักษาสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ที่เป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือสินค้าเลียนแบบที่ส่งผลเสียด้านสุขภาพต่อสัตว์โดยตรง ซึ่งผิดกฎหมายตามมาตรา 12 แห่ง พรบ.ยา พศ.2510 ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมาตรา72(4) ขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ที่ผ่านมาชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการลักลอบผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์และยาสัตว์เถื่อนอย่างต่อเนื่อง ขอเตือนผู้ลักลอบให้หยุดการกระทำดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค และขอแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากฟาร์มมาตรฐานกรมฯ ที่มั่นใจในความปลอดภัยได้ 100%” น.สพ.อภัย กล่าว
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560–2564 มีเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถลดอัตราการป่วยจากเชื้อดื้อยาลง ร้อยละ 50, มีปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ลดลง ร้อยละ 20, ปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลดลง ร้อยละ 30, ประชาชนมีความรอบรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและมีความสามารถในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม ในระดับดีมากเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 และระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล ไม่ต่ำกว่าระดับ 4
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image