สุจิตต์ วงษ์เทศ : จระเข้ป่าสัก มีประวัติศาสตร์คลาสสิคของชุมชนท้องถิ่น

ตลาดน้ำลาวเวียง ริมแม่น้ำป่าสัก (ฝั่งซ้าย) หน้าวัดตะเฆ่ ต. ม่วงงาม อ. เสาไห้ จ. สระบุรี (เมื่อบ่ายวันเสาร์ 21 มกราคม 2560 ภาพโดย นราธิป ทองถนอม)

แม่น้ำป่าสัก เป็นแหล่งท่องเที่ยวคลาสสิค มีประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นตลอดสายตั้งแต่ จ. เลย ลงไปจนถึงอยุธยา

ไทยให้ความสำคัญเส้นทางท่องเที่ยว “ทางหลัก” ตามกระแสคนชั้นกลางระดับบนเท่านั้น โดยไม่ใส่ใจ “ทางเลือก” ที่ท่องเที่ยวเลาะลัดตามหมู่บ้านธรรมชาติ ที่ล้วนมีประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

เมื่อบ่ายวันเสาร์ 21 มกราคม ผมนั่งรถตู้ไปตระเวนเส้นทางลาวลงไทย ย่านแม่น้ำป่าสัก

 

Advertisement

จระเข้ป่าสัก

วัดตะเฆ่ อยู่ริมแม่น้ำป่าสัก (ฝั่งซ้าย) ต. ม่วงงาม อ. เสาไห้ จ. สระบุรี

ด้านใต้วัดมีถนนเลียบแม่น้ำป่าสัก จาก อ. เสาไห้ ไป อ. นครหลวง เข้าถึงอยุธยา

คำว่า “ตะเฆ่” ในชื่อวัดตะเฆ่ เป็นภาษาปากที่กลายจากคำว่า จระเข้ สัตว์น้ำจืดขนาดใหญ่ที่คนรู้จักดีว่าเป็น “เจ้าแห่งน้ำ” น่าจะมีชุกชุมตรงโค้งน้ำหน้าวัดตั้งแต่แรกสร้างยุคอยุธยา ตามคำบอกเล่าว่าสร้างราว พ.ศ. 2246 (ตรงกับต้นแผ่นดินพระเจ้าเสือ พ.ศ. 2245-2251)

เครื่องลากเข็น หรือใช้บรรทุกรุนของหนัก รูปร่างเตี้ยๆ ยาวๆ เหมือนหัวและลำตัวจระเข้ (มีล้อหรือราง ใช้สัตว์หรือคนลากจูง) ชาวบ้านจึงเรียกเป็นภาษาปากว่า ตะเข้ แต่บางทีเขียน ตะเฆ่ แม้เครื่องดนตรีใช้ดีดซึ่งมีรูปร่างเหมือนจระเข้ ก็เรียก จะเข้

สอดคล้องกับป้ายท้องถิ่นตั้งไว้ในวัดมีข้อความดังนี้

 

วัดตะเข้

วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายประมาณ พ.ศ. 2246 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2514 สร้างขึ้นโดยเชื้อพระวงศ์ที่อพยพมาจากเวียงจันทร์ประเทศ เดิมมีรูปจระเข้ปูนปั้นอยู่คู่หนึ่ง หน้าพระอุโบสถ หันหัวลงสู่แม่น้ำป่าสัก ชาวบ้านจึงพากันเรียกติดปากว่า “วัดตะเฆ่”

 เจดีย์สมัย ร.3 ในวัดตะเฆ่
เจดีย์สมัย ร.3 ในวัดตะเฆ่

 

เส้นทางลาวลงไทย

ลำน้ำป่าสัก มีต้นน้ำอยู่พื้นที่ จ. เลย แล้วไหลลงรวมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

เป็นเส้นทางคมนาคมตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ระหว่างลุ่มน้ำโขง, ชี, มูล กับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่น้อยกว่า 2,000 ปีมาแล้ว

ยุคทวารวดี พุทธศาสนาแบบทวารวดีจากรัฐทางลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน และลพบุรี แผ่ขึ้นไปทางแม่น้ำป่าสัก พบประติมากรรมในถ้ำ อ. พระพุทธบาท จ. สระบุรี

ยุคอยุธยา แม่น้ำป่าสัก เป็นเส้นทางพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท จ. สระบุรี

ยุคพระเจ้าตาก ให้เจ้าพระยาจักรี (ภายหลังคือ ร. 1) ตีเวียงจัน แล้วเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันพร้อมข้าพระกับเลกวัดพร้อมเชลยศึก ไปกรุงธนบุรี ลงทางแม่น้ำป่าสัก

ยุค ร.3 ยกทัพขึ้นไปเผากรุงเวียงจัน แล้วกวาดต้อนครัวลาวเชลยลงทางแม่น้ำป่าสักไปกรุงเทพฯ แต่บางกลุ่มให้ตั้งหลักแหล่งอยู่ลุ่มน้ำป่าสัก จึงมีตลาดลาวเวียงอยู่ย่านนี้

สอดคล้องกับหลักฐานในวัดตะเฆ่ กรมศิลปากรเขียนบอกไว้บนแผ่นป้ายว่า เจดีย์ทรงเครื่อง 2 องค์ ตั้งบนฐานไพที สร้างสมัย ร.3

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image