“ไพบูลย์”ยื่นหนังสือเร่ง”ดีเอสไอ” ตรวจสอบกรณีรถหรู”สมเด็จช่วง”

ไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นหนังสือดีเอสไอ กรณีรถหรูสมเด็จช่วง

“ไพบูลย์” ยื่นหนังสือเร่ง”ดีเอสไอ”ให้ตรวจสอบกรณีรถหรูสมเด็จช่วง อ้างเพื่อตัดข้อครหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เตรียมยื่นหนังสือให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินตีความกฎหมายสงฆ์

ไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นหนังสือดีเอสไอ กรณีรถหรูสมเด็จช่วง
ไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นหนังสือดีเอสไอ กรณีรถหรูสมเด็จช่วง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา  ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ให้ตรวจสอบกรณีที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช และประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ครอบครองรถเบนซ์หรู จดประกอบ จำนวน 1 คัน มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ที่ดีเอสไอดำเนินการตรวจสอบอยู่ตั้งแต่ปี 2556 แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้

นายไพบูลย์กล่าวว่ามาในฐานะผู้กล่าวหาดีเอสไอเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบดังกล่าวสามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะตลอด 3 ปี ไม่มีการดำเนินการใดๆเลยทั้งนี้สมเด็จช่วง ซึ่งเป็นว่าที่สมเด็จพระสังฆราช สมควรที่จะต้องไม่มีคดีความค้างคาให้เป็นครหา ดังนั้นจึงขอให้ดีเอสไอเร่งพิจารณาคดีครอบครองรถหรูจดประกอบของสมเด็จช่วงให้ได้ข้อยุติ ว่าเป็นรถหรูจดประกอบถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ พร้อมยืนยันไม่ได้ต้องการดิสเครดิตสมเด็จช่วง

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการบริหารสำนักคดีพิเศษ เป็นตัวแทนรับเรื่อง เพื่อนำเสนอ อธิบดีดีเอสไอ โดยระบุว่าที่ผ่านมาดีเอสไอดำเนินการตรวจสอบคดีรถหรูจดประกอบตามปกติ โดยแบ่งการตรวจสอบเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งเร่งตรวจสอบกลุ่มที่มูลค่ารถมากกว่า 4 ล้านบาท จำนวน 500 คันก่อน จากนั้นจะเป็นกลุ่มที่มูลค่ารถต่ำกว่า 4 ล้านบาท จำนวน 5,000 คัน โดยรถของสมเด็จช่วงอยู่ในกลุ่มนี้ และจะต้องไล่ตรวจสอบเอกสารนำเข้าศุลกากรว่าเข้ามาถูกกฏหมายหรือไม่ จากนั้นจึงจะไปดูตัวรถ แต่เบื้องต้นตามเอกสารที่ปรากฏ แจ้งว่าเป็นรถที่เลิกใช้แล้ว พร้อมยืนยันการตวจสอบรถหรูของดีเอสไอไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้ ขอให้ประชาชนแยกส่วนกัน

Advertisement

นายไพบูลย์ กล่าวว่า พรุ่งนี้(19 มกราคม ) เวลา 9 นาฬิกา จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้วินิจฉัยกฏหมาย มาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2535 ว่าขั้นตอนการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชควรจะเริ่มต้นที่หน่วยงานใด แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรเริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรี เสนอเรื่อง เพราะสำนักพุทธศาสนาถือเป็นหน่วยงานของรัฐ

นายไพบูลย์ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะทำหนังสือสำเนาส่งให้นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนา ให้ชะลอการส่งชื่อว่าที่สมเด็จพระสังฆราชให้นายกรัฐมนตรีนำชื่อขึ้นทูลเกล้าแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ก่อน เพราะอาจเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และจะกลายเป็นความขัดแย้งในสังคมในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image