วิธีคิด-ทำงานแบบหนังสือพิมพ์ยังสำคัญและจำเป็น เสียงสะท้อนนิสิตวารสารฯ มน.

ท่ามกลางวิกฤติ และกระแสที่ตกต่ำของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ นิสิตสาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรกลุ่มหนึ่งยังคงเชื่อมั่นว่า การเรียนรู้ในศาสตร์ด้านงานข่าวจากสิ่งพิมพ์จะไม่ทำให้อนาคตการทำงานด้านนี้มืดมน และมั่นใจว่าเลือกเดินมาถูกทางแล้ว ตราบเท่าที่งานข่าวยังมีความสำคัญต่อสังคม สังคมก็ยังต้องการผู้สื่อข่าวที่มีคุณภาพ และวิธีคิดแบบหนังสือพิมพ์อย่างแน่นอน

หลังจากที่เปิดภาคการศึกษาปลายปีการศึกษา 2559 ไปเพียง 2 สัปดาห์ กลุ่มนิสิตวิชาเอกวารสารศาสตร์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเปิดกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ “ร่มเสลา”

ในบรรยากาศที่มีแต่ข่าวไม่ดีในแวดวงสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทยอยปิดตัวกันไปจำนวนมาก ทั้งหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร หรือแม้แต่สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ดิจิตอลเองก็ได้รับผลกระทบทางธุรกิจไปด้วย อันเนื่องมาจาก การเฟื่องฟูของสื่อออนไลน์ที่ส่งผลต่อสื่อต่างๆ อย่างรุนแรง

นางสาวเบญจวรรณ นาคนัตถ์
นางสาวเบญจวรรณ นาคนัตถ์

นางสาวเบญจวรรณ นาคนัตถ์ นิสิตวิชาเอกวารสารศาสตร์ปี 3 ในฐานะบรรณาธิการคนใหม่ของหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ “ร่มเสลา” พูดถึงวิกฤติสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีต่อวิชาเอกของเธอว่า ในแง่ของการเรียนการสอนนั้นไม่ได้รับผลกระทบ ตนและเพื่อนๆ ยังคงรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ในศาสตร์ด้านนี้เหมือนวันแรกที่เลือกวิชาเอกเมื่อสองปีก่อน อีกทั้งน้องๆ รุ่นใหม่ก็เลือกเข้ามาเรียนในสาขานี้ไม่น้อยไปกว่าปีที่ผ่านๆ มา ขณะที่เรื่องอนาคตกับอาชีพการงานด้านสื่อมวลชน ก็ไม่ได้วิตกกังวล และยังคงติดตามข่าวคราววิกฤติของสื่อสิ่งพิมพ์มาโดยตลอด

Advertisement

“อยากเรียนวารสารฯ ตั้งแต่ ม.ต้น แล้วค่ะ คิดว่าหนังสือพิมพ์มีเสน่ห์ในตัวเอง ในส่วนของงาน ก็ไม่กลัวตกงาน เรียนเจอาร์ (Journalism) ไม่ได้มีแค่หนังสือพิมพ์ เรายังเพิ่มขีดความสามารถทำข่าวในสื่ออื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อข่าวออนไลน์ เพราะพื้นฐานของเจอาร์คือการอยู่กับข้อเท็จจริง การคิด และการเขียนอยู่แล้ว อีกอย่างถ้าเราไม่เลือกงาน เราก็จะไม่ตกงานค่ะ” บรรณาธิการคนใหม่กล่าว

นางสาวปภาวรินท์ หมื่นอาษา
นางสาวปภาวรินท์ หมื่นอาษา

ขณะที่ นางสาวปภาวรินท์ หมื่นอาษา ผู้ช่วยบรรณาธิการเพื่อนรุ่นเดียวกัน ก็ให้ความคิดเห็นในแนวทางเดียวกัน และย้ำว่าโดยส่วนตัวเป็นคนชอบคิด และชอบเขียนอยู่แล้ว ซึ่งการเรียนวารสารศาสตร์ช่วยพัฒนาและยกระดับเรื่องงานเขียนของเธอได้ดีขึ้น

ต่อคำถามว่าหากย้อนเวลากลับไปเลือกเรียนวิชาเอกใหม่อีกครั้ง จะเปลี่ยนไปเลือกเรียนด้านสื่อใหม่ ภาพยนตร์ วิทยุ-โทรทัศน์หรือไม่ ทั้งคู่ยืนยันว่าจะยังคงเลือกเรียนวารสารศาสตร์เหมือนเดิม และย้ำว่า
“ข่าวยังมีความสำคัญต่อสังคมเสมอทุกยุคทุกสมัย งานข่าวไม่มีทางหายไปจากสังคมแน่นอนค่ะ ดังนั้นนักข่าว โดยเฉพาะนักข่าวที่มีคุณภาพจะยังมีที่ยืนในธุรกิจนี้ไม่ว่าจะนำเสนอผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ก็ตาม”

Advertisement

16144832_1360177707336135_388514230_n

ขณะที่ที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติร่มเสลา อาจารย์ทิฆัมพร เอี่ยมเรไร ย้ำว่าแม้ความสดและความรวดเร็วจะมีความสำคัญต่องานข่าวในปัจจุบัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมยังต้องการข่าวเชิงลึก และข่าวที่มีความน่าเชื่อถือจากสถาบันสื่อไว้ตรวจสอบอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งก็มีแต่วิธีคิดและวิธีทำงานแบบ “สื่อข่าว” ในเชิงวารศาสตร์เท่านั้นที่จะยังยืนหยัดอยู่ในจุดนี้ต่อไป ซึ่งในช่วงเวลานี้อาจจะเป็นช่วงวิกฤติที่ต้องฟันฝ่าเหมือนกับยุคอื่นๆ ที่เคยผ่านมา

หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ “ร่มเสลา” เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาสัมมนาวารสารศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่นับเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนักข่าวท้องถิ่นสู่เส้นทางอาชีพสื่อมวลชนมาหลายรุ่น ซึ่งในเทอมปลายจะเป็นช่วงเวลาที่นิสิตวิชาเอกวารสารศาสตร์ปีสามจะได้เรียนรู้ และฝึกฝนการทำงานครบวงจรของสื่อสิ่งพิมพ์ ตั้งแต่การทำข่าว และการจัดการหนังสือพิมพ์ในส่วนอื่นๆ จนพิมพ์ออกมาเป็นเล่มสู่ชุมชนมหาวิทยาลัยนเรศวร และหน่วยงานรอบนอกในจังหวัดพิษณุโลก รวมถึงส่งผ่านในนามคณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร โดยภาควิชานิเทศศาสตร์ ไปทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

16128498_1360180274002545_716518237_n

ในภาคการศึกษา 2/2559 นี้กองบรรณาธิการ โดยบรรณาธิการคนใหม่ย้ำว่าจะเน้นเรื่องเนื้อหาข่าวสารในเชิงลึก และกว้างด้านความรู้มากขึ้น โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยนเรศวร และจังหวัดพิษณุโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะพิมพ์เสร็จพร้อมแจกจ่ายให้กับชุมชน มหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้สนใจประมาณปลายเดือนเมษายน 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image