คลอด ‘ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน’ ฉบับแก้ไข ‘ลูกจ้างลากิจรับเงินชดเชย’ ลุ้นประชาพิจารณ์ มี.ค.นี้

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะทำงานร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…)พ.ศ… กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่า เดิมทีเครือข่ายภาคแรงงานได้รวบรวมรายชื่อกว่าหมื่นชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ฉบับผู้ใช้แรงงานมาตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งเมื่อมีการยุบสภา จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการเสนอร่างดังกล่าวอีก สุดท้ายมีการปรับแก้ร่างพ.ร.บ.ฯ โดยอิงร่างหลักจากกระทรวงแรงงาน แต่มีร่างของผู้ใช้แรงงานประกบนั้น   และได้ตั้งคณะทำงานดำเนินการพิจารณาแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฯ  ซึ่งมีอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธาน ซึ่งมอบให้นายอภิญญา สุจริตตานันท์  รองอธิบดีฯ ประชุมแก้ไขเพิ่มเติม ล่าสุดได้ยกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา โดยผู้ใช้แรงงานได้เสนอแก้ไข 5 ประเด็น และหลังจากนี้ทางกระทรวงแรงงานจะมีการทำประชาพิจารณ์ในช่วงเดือนมีนาคม ก่อนจะสรุปและเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา

นายมนัส กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นแก้ไขดังกล่าว ได้ดำเนินการทั้ง 3 ฝ่าย มีนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ ฝ่ายละ 5 คน โดยในส่วนของผู้ใช้แรงงานมี 5 ประเด็น อาทิ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 118 โดยกำหนดอัตราค่าชดเชยกรณีนายจ้างเลิกจ้าง สำหรับลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20ปีขึ้นไปได้ค่าชดเชย 400 วัน จากเดิมกำหนดให้ 10 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชย 300 วัน ส่วนค่าชดเชยอื่นๆยังเหมือนเดิม คือ ทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ถึง 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน ถ้าทำงาน 3 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชย 180 วัน เป็นต้น นอกจากนี้  ยังแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 กำหนดให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลา เพื่อตรวจรักษาสุขภาพก่อนคลอดบุตร เพิ่มเติมนอกเหนือจากการลาเพื่อคลอดบุตร และยังเพิ่มเติมมาตรา 59โดยกำหนดให้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงในวันลา เพื่อตรวจรักษาสุขภาพก่อนคลอดบุตรด้วย กล่าวคือ หญิงแรงงานจะไปตรวจครรภ์ก็สามารถลาและได้ค่าจ้างด้วยเช่นกัน โดยให้รวมทั้งค่าจ้างรายวันและรายเดือน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายให้ตามกฎหมาย เป็นต้น

“ยังมีเพิ่มมาตรา 55/1 กำหนดให้นายจ้าง ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลา เพื่อกิจธุระอันจำเป็น ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน ไม่ว่าจะลาบวช หรือลาเพื่อกิจธุระใดก็ตาม นอกจากนี้ ในมาตรา 13 วรรคสอง กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษกรณีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งเดิมไม่มี โดยลูกจ้างหากต้องการเงินชดเชย ต้องไปฟ้องศาลกันเอง โดยทั้งหมดหากผ่านประชาพิจารณา และครม.รับร่าง กระทั่งประกาศเป็นกฎหมาย จะถือเป็นเรื่องดีของลูกจ้างทุกคนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ และยังเป็นการปรับแก้กฎหมาย จากของเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541” นายมนัส กล่าว

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image