จาก ‘คำสอน’ สู่ ‘การปฏิบัติ’ เศรษฐกิจพอเพียงปรัชญาแห่งความ ‘ยั่งยืน’

หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ท่ามกลางความโศกเศร้า หลายคนถือโอกาสตั้งปณิธานจะขอเดินตามหลักคำสอน สานต่อพระราชปณิธาน โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทว่าคำสอนนี้ไม่ได้มีเพียงเรื่องประหยัดอดออมเงินเท่านั้น แต่ยังสามารถปรับใช้กับชีวิตรอบด้าน หาคำตอบได้ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ A Call to Action : Thailand and the sustainable development goals หรือ หนังสือเรื่องราวการทำงานด้านพัฒนาของประเทศไทย ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิมั่นพัฒนา (TSDF) กล่าวว่า หนังสือนี้ต้องย้อนที่มาตั้งแต่ปี 2540 ที่ไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คนไทยหลายคนประสบความเดือดร้อน ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครั้งแรก ประชาชนก็เริ่มแปลความหมายและน้อมนำมาปฏิบัติใช้ อีกทั้งได้เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านประสบการณ์โครงการในพระราชดำริ 4 พันกว่าโครงการ นำมาเป็นแบบแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ประเทศและองค์กรเสมอมา

จนในปี 2558 ที่นายกรัฐมนตรีไปประชุมองค์การสหประชาชาติ ซึ่งที่ประชุมได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย วาระ 15 ปี (ค.ศ.2015-2030) รัฐบาลโดยนายกฯก็แสดงความมั่นใจว่าจะใช้ปรัชญาเศรษฐพอเพียงและประสบการณ์จากโครงการพระราชดำริพัฒนาตามเป้าหมายดังกล่าว

“หนังสือนี้จะเป็นฐานข้อมูลและรายงานผลว่าไทยอยู่ตรงไหนในเป้าหมาย 17 ข้อ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้น จุดรวมความคิดพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐพอเพียงของในหลวง ร.9 จะยังคงอยู่คู่สังคมไทยหรือไม่นั้น

ดร.จิรายุเผยว่า ขออัญเชิญพระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ว่า “ในปีใหม่นี้ ขอให้ชาวไทยทุกคนตั้งใจให้แน่วแน่ที่จะรักษาคุณสมบัตินี้ให้เหนียวแน่น และทำความคิดจิตใจให้แจ่มใส ด้วยปัญญาที่กระจ่าง พิจารณาทุกสิ่งที่เกิดมีขึ้นตามความเป็นจริง โดยปราศจากอคติ ให้มีความมุ่งมั่นมีกำลังใจในอันที่จะร่วมกันปฏิบัติสรรพกิจน้อยใหญ่ ในภาระหน้าที่ตามแนวพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้งานทุกอย่างสำเร็จผล เป็นความดีความเจริญทั้งแก่ตนเอง แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ เป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในการนี้ข้าพเจ้าขอปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับประชาชนชาวไทยโดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานเช่นกัน”

“ฉะนั้นก็เป็นพระราชดำรัสที่เราจะเดินตามต่อไป” ดร.จิรายุกล่าว

Advertisement

 

Doi Ang Khang

Students weave a silk product at the Bamboo School, in Lam Plai Mat district, Thailand, November 7, 2013. Photo by Will Baxter/for The Wall Street Journal
Students weave a silk product at the Bamboo School, in Lam Plai Mat district, Thailand, November 7, 2013. Photo by Will Baxter/for The Wall Street Journal

shutterstock_431359138_

 

ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ผอ.ศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ หนึ่งในผู้จัดทำหนังสือ กล่าวว่า เรานำเสนอบนเวทีโลกมาตลอดว่าใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ก็ไม่บอกว่าทำอะไรบ้าง จึงเป็นแรงบันดาลใจของหนังสือเล่มนี้ ที่จะตอบว่าเราทำอะไรไปบ้าง ขณะเดียวกันถือเป็นรายงานผลการดำเนินงานพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ที่จะไปเสนอให้เวทีโลกในปีนี้ ตามที่ผู้นำ 193 ประเทศทั่วโลกได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) ค.ศ.2015-2030 ในการประชุมองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2015 ซึ่งกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ

“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ คือคนต้องมีความรู้คู่คุณธรรม อีกทั้งเป็นหลักปฏิบัติ 3 ประการคือ พอเพียง มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน และหลักการพัฒนาที่ต้องคำนึง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ยกตัวอย่างการกินกาแฟตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็ต้องกินกาแฟดอย อาทิ ดอยตุง ดอยช้าง ดอยคำ ที่ปลูกด้วยความรู้ภายใต้ป่าไม้ชุมชนที่ช่วยกันดูแลรักษา ไม่ใช่พันธุ์การแฟที่ต้องทำลายป่าเพื่อปลูก เป็นกาแฟที่สร้างรายได้ให้ชุมชน คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกาแฟในโครงการพระราชดำริ

“เหล่านี้ไปพูดเมืองนอกเขาตื่นเต้นมากในหลวง ร.9 คิดได้ยังไง ที่เอาทุกอย่างมารวมกัน อย่างแต่ก่อนยูเอ็นบอกว่าต้องพัฒนาคนให้มีการศึกษา มีสุขอนามัย แต่ในหลวง ร.9 บอกว่าต้องมีคุณธรรม ต้องพัฒนาจิตใจด้วย ซึ่งเขาก็คิดไม่ถึง ก็ถือว่าพระองค์เป็นปราชญ์ที่มองออกถึงหลักธรรมในการดำเนินชีวิต” ดร.ปรียานุชเล่า และว่า

“ประเทศอื่นต้องคิดว่าจะทำอย่างไรดีกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เขาไม่มีอย่างเรา ฉะนั้นถือว่าคนไทยโชคดีที่พระองค์ทำเป็นตัวอย่างให้หมดแล้ว เหลือเพียงเรียนรู้และปฏิบัติ ซึ่งถึงเวลาแล้ว ทั้งนี้ ไม่อยากให้มองเป็นหนังสือ แต่ให้มองเป็นเครื่องมือว่าเราจะทำตามพระราชปณิธานได้อย่างไร ส่วนตัวคิดว่าทำแล้วชีวิตจะดีขึ้น เจริญ และมีความสุข ที่ได้ทำเพื่อสังคม บ้านเมือง และตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณ”

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจเล็กใหญ่ล้วนนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ต่างเข้าใจและตระหนักว่าเศรษฐกิจไม่อาจเติบโตได้ หากสังคม สิ่งแวดล้อมไม่พัฒนาควบคู่กันไป ระยะหลังภาคธุรกิจจึงทำธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมากกว่าการทำซีเอสอาร์ อย่างไรก็ตาม จากนี้อยากให้เลิกบ่นและถามรัฐว่าจะให้ทำอะไร แต่ให้อ่านหนังสือนี้และลุกขึ้นมาทำตามพระราชปณิธานเพื่อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นด้วยความหวังต่อไป

สำหรับหนังสือ A Call to Action นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและประสบการณ์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาเทียบกับเป้าหมาย SDGs แบ่ง 17 บท 17 เป้าหมาย รวม 184 หน้า เนื้อหาระบุถึงสิ่งที่ไทยได้ทำไปแล้ว มองอนาคตอย่างไร และสิ่งที่ควรทำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือหากไม่ทำจะส่งผลกระทบอย่างไร จัดพิมพ์เป็นฉบับภาษาอังกฤษ วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำในราคา 1,250 บาท และกำลังจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยในกลางปีนี้

 

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน
(ที่สองจากซ้าย) ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา, นายอานันท์ ปันยารชุน, ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา, นายวิชัย อัศรัสกร

งานเสวนากลุ่ม2

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา, ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา และนายวิชัย อัศรัสกร
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา, ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา และนายวิชัย อัศรัสกร
28-29-1
สถานะประเทศไทยต่อ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หนึ่งในเนื้อหาหนังสือ

28-29-2

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image