โครงการแก้น้ำท่วมเมืองประจวบฯ 144 ล้าน ส่อแห้ว รฟท.ไม่ให้ใช้พื้นที่เพราะมีรถไฟรางคู่

วันที่ 25 มกราคม 2560 นายพิชิต สันติเมธากุล รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประชาชนสอบถามการใช้งบประมาณ 144.7   ล้านบาท ของสำนักงานสนับสนุน และพัฒนาตามผังเมือง  กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์   ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 สิ้นสุดวันที่  1 พฤษภาคม 2561 แต่ขณะนี้ผู้รับเหมายังไม่สามารถทำโครงการได้ตามกำหนด   เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) ยังไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่เนื่องจากจะต้องใช้พื้นที่บางส่วนทำโครงการรถไฟรางคู่ และส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการทำโครงการดังกล่าว เนื่องจากเดิมมีการกำหนดในการวางแนวทางระบายน้ำบริเวณฝั่งถนนเพชรเกษมด้านทิศตะวันตกเพื่อระบายน้ำลงทะเลตามลำรางธรรมชาติ แต่โครงการนี้ได้วางท่อเพื่อกำหนดเส้นทางระบายเข้ามาในเขตชุมขนเมือง

นายประกิตติ อาจพันธ์   อดีตสมาชิกสภาจังหวัด ( ส.อบจ.) ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า   ก่อนการใช้งบดังกล่าวควรสอบถามความเห็นจากประชาชนในพื้นที่  เพื่อร่วมกันเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาว และกรณีที่  รฟท.ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ แต่กรมโยธาฯได้ขยายงวดงานให้กับผู้รับเหมา  ขณะที่ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน

ด้านนายศิลา โพธิ์ระย้า หัวหน้ากลุ่มไลน์แอฟพลิเคชั่น “ ทีมเมืองประจวบฯ”ที่มีสมาชิกกว่า 400  คน  กล่าวว่า  การทำโครงการดังกล่าวมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากมีการเปิดรับฟังความเห็น   นอกากนั้นโครงการนี้เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 แต่ผู้รับจ้างเพิ่งนำป้ายมาติดตั้งให้ประชาชนรับทราบบริเวณริมถนนมหาราช 1 ด้านหน้าสำนักงานการประปาส่าวนภูมิภาค ที่สำคัญมีการกำหนดแนวทางการปรับปรุงร่องประดู่ในสัญญาจ้าง    คลาดเคลื่อนจากพื้นที่จริง  เนื่องจากจุดที่มีการก่อสร้างเป็นร่องทศกัณฑ์  ซึ่งปัจจุบันมีการออกเอกสารสิทธิ์ทับลำรางธรรมชาติเทศบาลเมืองฯไม่สามารถใช้งบขุดลอกได้

ขณะที่ นายประมวล พงศ์ถาวราเดช   อดีต สส.เขต 3  จ.ประจวบคีรีขันธ์  กล่าวว่า เห็นด้วยกับกรมชลประทานจะมีการสำรวจเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่ ต.ร่อนทอง และ ต.ทองมงคล เพื่อการป้องกันน้ำท่วมและแก้ไขภัยแล้งในระยะยาว ขณะที่เมื่อหลายปีก่อนประชาชน  ต.ทองมงคล  เสนอให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไทรทองใช้งบ 850 ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ไม่ยินยอมให้กรมชลประทานใช้พื้นที่ป่าไม้   ทั้งที่มีการใช้งบประมาณทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ เสร็จสิ้นแล้วนานหลายปี   ล่าสุดได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบว่า  หากดำเนินการล่าช้าประชาชน หมู่ 6 ต.ทองมงคลจะไม่ยินยอมให้มีการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากขณะมีการปลูกสวนยางพาราเต็มพื้นที่  นอกจากนั้นหากทำโครงการล่าช้ากรมชลประทานจะต้องใช้ทำ  อีไอเอ. ฉบับใหม่  ขณะที่ปัญหาน้ำท่วม อ.บางสะพาน รุนแรงสุดในรอบ 50 ปี มีมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image