ป.ป.ช.ส่งหนังสือขอข้อมูลโรลส์-รอยซ์ รับคดีหมดอายุบางส่วน เผยอังกฤษห่วงโทษประหาร

ป.ป.ช.เตรียมส่งหนังสือขอข้อมูลสินบนโรลส์-รอยซ์สัปดาห์หน้า ยอมรับคดีหมดอายุความบางส่วน เผยอังกฤษห่วงโทษประหารในไทย หวังหลายหน่วยเปิดข้อมูลกระทบคดี

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 มกราคม 2560 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูลกรณีสินบน บริษัทโรลส์-รอยซ์จ่ายสินบนการจัดซื้อเครื่องยนต์และเครื่องจักรแก่เจ้าหน้าที่รัฐในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ปตท. ว่า จากการประชุมทางไกลผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์กับสำนักงานการปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (เอสเอฟโอ) เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา เอสเอฟโอได้ขอให้ ป.ป.ช.ทำหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อยืนยันว่าเป็นหน่วยงานหลักในการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าว และระบุด้วยว่า ต้องการสอบถามเรื่องใด ประเด็นใด ส่งเป็นข้อคำถามไปอย่างชัดเจน การส่งหนังสือจะต้องมีหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบกันด้วย เพื่อยืนยันว่า ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานหลักในการไต่สวนเรื่องดังกล่าวนี้ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถส่งหนังสือให้เอสเอฟโอได้

เมื่อถามว่า หน่วยงานอื่นต้องหยุดขอข้อมูลจากเอสเอฟโอก่อนหรือไม่ เพื่อเปิดทางหรือ ป.ป.ช.ทำงานได้สะดวก นายสรรเสริญกล่าวว่า ขณะนี้เอสเอฟโอกังวลพร้อมกับตั้งคำถามว่า เหตุใดในเมืองไทยจึงมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอข้อมูลในเรื่องเดียวกันมาก แต่เชื่อว่าเอสเอฟโอจะเข้าใจว่าแต่ละหน่วยงานนั้นมีภาระหน้าที่เช่นเดียวกัน เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) การบินไทย ปตท. ทุกหน่วยงานต้องการข้อมูลเพื่อตรวจสอบและตั้งคณะกรรมการสอบ ถือเป็นสิทธิของแต่ละหน่วยงาน

“หากเอสเอฟโอไม่สามารถตอบได้ว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่ต้องหาให้ได้ว่าใครบ้าง แต่เขาพร้อมสนับสนุนข้อมูล หากเขาไม่เปิดเผยรายงานการตรวจสอบ เราต้องหาเอง ถ้าเราไม่ได้รายชื่อ เราจะพยายามหามาให้ได้เพื่อตั้งกรรมการไต่สวน ทั้งนี้ การที่เขาออกมาเปิดโปง เราก็ไม่รู้ว่าเขารู้ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพนักงานการบินไทยหรือไม่ ซึ่งในรายงานอาจระบุว่ามีการจ่ายสินบน แต่จะจ่ายให้ใครผมไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตาม จากการคุยกัน เขายินดีสนับสนุนข้อมูล แต่ก็ยังมีเงื่อนไขบ้าง และกังวลว่าการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ของแต่ละหน่วยงานในไทย จะกระทบต่อรูปคดีของเขา” นายสรรเสริญกล่าว

Advertisement

นายสรรเสริญกล่าวว่า กรอบคำถามที่จะส่งไปให้เอสเอฟโอ จะประกอบด้วยเรื่องของใครเป็นคนที่รับสินบน เมื่อไหร่ อย่างไร เป็นต้น ส่วน ป.ป.ช.จะขอข้อมูลจาก สตง. ซึ่งระบุว่าทราบรายชื่อผู้รับสินบนหรือไม่นั้น จะต้องดูว่าเป็นข้อมูลที่เป็นจริงหรือไม่ เบื้องต้น ป.ป.ช.มีข้อมูลว่ามีการรับสินบนอย่างไร แต่ยังไม่ทราบว่ามีใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อให้อำนาจเพิ่มเติม ป.ป.ช.ยังไม่ได้พิจารณาถึงอายุความ แต่กำลังพิจารณาว่าเป็นจริงตามที่มีการเปิดเผยหรือไม่ หากเป็นจริงตามนั้น ก็จะมีการพิจาณาเรื่องอายุความว่าจะสามารถดำเนินคดีนี้ได้หรือไม่ เรื่องนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี หากกรณีใดหมดอายุความก็ต้องยอม แต่ก็ยังเหลือกรณีอื่นๆ ที่ยังสามารถเอาผิดได้

“นอกจากนี้ เอสเอฟโอยังกังวลเรื่องที่ประเทศไทยยังมีโทษประหารชีวิตกับคดีการทุจริต โดย ป.ป.ช.จะชี้แจงประเด็นดังกล่าว ว่าคดีเรียกรับสินบนนั้นไม่เคยมีการพิพากษาประหารชีวิตใคร แต่ ป.ป.ช.ไม่กังวล เพราะเคยได้ชี้แจงเรื่องนี้จากการขอข้อมูลมาหลายครั้งแล้ว อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.เคยขอข้อมูลคดี GT200 ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้เช่นกัน แต่คณะทำงานฯ ป.ป.ช. ยืนยันว่า โทษดังกล่าวไม่เคยนำมาใช้นานมากแล้ว และปัจจุบันคงไม่มีการนำมาใช้อีก อย่างไรก็ดี อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ เอสเอฟโอมองว่า ภายในประเทศไทยยังคงมีการใช้อำนาจภายในจากรัฐบาล จึงกังวลถึงกระบวนการดำเนินคดีในเรื่องนี้ด้วย” นายสรรเสริญกล่าว

เมื่อถามว่า กรณีการจ่ายสินบนช่วงแรกเมื่อปี 2534-2535 ปรากฏบันทึกคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทการบินไทย ที่อนุมัติให้จัดซื้อเครื่องบิน B777-200 รวม 8 ลำ พร้อมให้ซื้อเครื่องยนต์จากโรลส์-รอยซ์ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยนั้น นายสรรเสริญกล่าวว่า ทราบจากข่าวแล้ว แต่กรณีนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า คดีเรียกรับสินบนมีอายุความ 20 ปี ซึ่งการจ่ายสินบนช่วงแรก เมื่อปี 2534-2535 และช่วงที่สองปี 2535-2540 หมดอายุความไปแล้ว ไม่สามารถรื้อฟื้นมาทำอะไรได้อีก และหากให้ คสช.ใช้อำนาจภายในเพื่อไม่ให้คดีหมดอายุความ ต่อไปประเทศไทยรวมถึง ป.ป.ช. จะไม่น่าเชื่อถือต่อสายตานานาชาติอีก ดังนั้น จึงอาจให้หน่วยงานที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น บริษัทการบินไทย ดำเนินการฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกความเสียหายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอาจร้องเรียนไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินและอายัดทรัพย์สินได้

Advertisement

เมื่อถามว่า กรณีการจ่ายสินบนช่วงที่สามเมื่อปี 2547-2548 คณะทำงานฯทราบชื่ออดีต รมช.คมนาคม ที่มีพฤติการณ์นัดกินข้าวกับเจ้าหน้าที่บริษัทการบินไทยและนายหน้า ตามสำนวนการสอบของเอสเอฟโอหรือยัง นายสรรเสริญกล่าวว่า ทราบพฤติการณ์และทราบชื่อทั้ง รมว.คมนาคม และ รมช.คมนาคม รวมถึงเจ้าหน้าที่บริษัทการบินไทยแล้ว แต่ยังไม่สามารถหาข้อเชื่อมโยงได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจ่ายสินบนอย่างไร ต้องรอให้ได้ความชัดเจนจากเอสเอฟโอก่อน จึงจะดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image