‘มีชัย’ ยกย่อง ในหลวง ร.9 ทรงเป็นเลิศพระราชา เผยน้ำตาคลอทุกครั้งที่คิดถึงพระองค์

เมื่อวันที่ 28 มกราคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้ราชสกุล องคมนตรี คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เป็นวันที่ 52 อาทิ กลุ่มบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กองกำลังผาเมือง กองพลทหารม้าที่ 1 ร่วมกับคณะศิษย์ศรัทธาพระอาจารย์อารยวังโส วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย จ.ลำพูน บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) สมาคมส่งเสริมการศึกษาในถิ่นกันดาร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สศก.) กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์, กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ฯหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กรมยุทธศึกษาทหารบก นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะ ร่วมเป็นเจ้าภาพ พร้อมทั้ง อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาเขตพรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น
S__56238089

S__56238090

ทั้งนี้ สำนักพระราชวังสรุปยอดรวมประชาชน ที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ เมื่อวันที่ 27มกราคม หลังปิดไม่ให้ประชาชนเข้าในเวลา 22.35 น. มีจำนวนทั้งสิ้น 47,952 คน รวม 86 วัน มี 3,780,604 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 3,289,028.30 บาท รวม 86 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 317,484,749.09 บาท

เวลา 10.00 น. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะประธานกรรมการบริษัท นิวส์ เน็คเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสปริงนิวส์ เป็นประธานบำเพ็ญกุศลและถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 10 รูป จากวัดนาคกลาง วัดอรุณราชวราราม วัดศรีเบญจคาลัย จ.พิจิตร วัดชัยสามหมอ จ.ชัยภูมิ วัดป่าโคกกรุง จ.ชัยภูมิ วัดปทุมาวาส จ.ชัยภูมิ วัดใหญ่อินทาราม จ.ชลบุรี และวัดหนองสองห้อง จ.ชัยภูมิ

Advertisement

เวลา 14.30 น. นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลโดยมีพระสงฆ์ 10 รูป จากวัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร วัดวชิรธรรมาราม วัดนิเวศธรรมประวัติ วัดราษฎร์บำรุง จ.พระนครศรีอยุธยา วัดไทยเชตวันมหาวิหาร ประเทศอินเดีย วัดช่องลม จ.สมุทรสงคราม วัดศิริมงคล จ.สมุทรสาคร วัดศิริเจริญเนินหม้อ จ.ราชบุรี และวัดทรงเสวย จ.ชัยนาท สวดมาติกาและสดับปกรณ์บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบรมศพ

นายมีชัย กล่าวว่า ในฐานะขององค์กรสื่อ ซึ่งมีหน้าที่รายงานข่าวได้ได้รับรู้ถึงความวิปโยคโศกเศร้าของประชาชนทั้งประเทศจากการสวรรคตของในหลวง ร.9 ซึ่งตนเองยังน้ำตาคลอทุกครั้งที่คิดถึงพระองค์ ทั้งนี้ ระหว่างที่ตนเป็นประธานบำเพ็ญกุศล ได้จับเวลาตั้งแต่ที่ประชาชนเข้าสู่ด้านในเขตพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มานั่งกราบสักการะและลุกออกจากพระที่นั่งใช้เวลาถวายสักการะเพียง 15 วินาทีเท่านั้น แต่ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ แม้ต้องเข้าแถวต่อคิวรอคอยนานหลายชั่วโมง ประชาชนทุกคนก็ไม่ย่อท้อและตั้งใจที่จะมาถวายสักการะพระองค์และยังเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นเลิศพระราชาที่ยากจะหากษัตริย์องค์ใดเหมือน ทรงมีพระปรีชาสามารถในทุกๆ ด้าน และอุทิศทั้งชีวิตของพระองค์เพื่อประเทศชาติและประชาชนด้วยความรักและความมีเมตตาจิต เป็นเหตุผลว่าทำไมประชาชนชาวไทยจึงรักพระองค์มาก” นายมีชัย กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเข้าสักการะพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมโกศ บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งดำเนินมาเป็นวันที่ 87 ประชาชนจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศยังเดินทางมาเพื่อเข้ากราบสักการะพระบรมศพ แม้อากาศจะร้อนอบอ้าวและมีแสงแดดจัด แต่ประชาชนยังมีสีหน้ายิ้มแย้มและต่อแถวรออย่างเป็นระเบียบ ขณะที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวชมและกราบสักการะพระแก้วมรกตอย่างเนื่องแน่น เนื่องในเทศกาลตรุษจีน

S__56238198
คณะครูและนักเรียนโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต

นางสาวปราณิสา อินท่าทอง ครูผู้ฝึกสอนศรีนครินทร์ แบรนด์ วงดนตรีของโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ ภูเก็ต) กล่าวว่า ได้เดินทางพร้อมนักเรียนรวม 15 คน ออกจากภูเก็ตโดยรถตู้ ประมาณ 18.00 น. วันที่ 26 มกราคม และเดินถึงที่พักย่านคลอง 4 ปทุมธานี ราว 22.00 น. และช่วงเช้าวันนี้ได้มาต่อแถวเพื่อเข้ากราบสักการะพระบรมศพ ซึ่งทุกคนตั้งใจที่อยากจะมากราบพระบรมศพสักครั้งในชีวิต และหลังจากนี้จะกลับไปฝึกซ้อมเพื่อประกวดวงดนตรีในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 66 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จากก่อนหน้าได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาค

“ในหลวง ร.9 ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านดนตรีหลายอย่าง และพระองค์ทรงตั้งใจฝึกฝน ซึ่งได้สอนให้นักเรียนยึดเป็นแบบอย่าง และเป็นกำลังใจในการฝึกซ้อม นอกจากด้านดนตรีแล้ว ทางโรงเรียนยังยึดการเรียนการสอนด้วยศาสตร์ของพระราชา นำพระราชดำรัสและแนวพระราชดำริของ ในหลวง ร.9 มาประยุกต์เข้ากับการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆ ” นางสาวปราณิสา กล่าว

ด้านนายศิรวิทย์ ปราณพ อายุ 18 ปี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ ภูเก็ต หัวหน้าวงศรีนครินทร์ แบรนด์ กล่าวว่า ปลาบปลื้มใจที่ได้มากราบสักการะพระบรมศพในหลวง ร.9 เพราะเป็นสิริมงคลสูงสุดในชีวิต ซึ่งตนเองรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงงานอย่างหนักเพื่อประชาชนคนไทย ในฐานะที่ตนเป็นนักเรียนดนตรี ได้ยึดปฏิบัติตนตามแบบพระองค์ ใช้หลักความอดทนในการฝึกซ้อม เพราะดนตรีต้องหมั่นฝึกฝนและพัฒนาตนสม่ำเสมอ สามัคคีในการร่วมกันเล่นเป็นวงและใช้สติและความคิดมากกว่าอารมณ์ในการฝึกซ้อมและการแสดงจริง

ด.ช.ชานนท์ ใจหลัก อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.2 กล่าวว่า ตนได้เดินทางมาพร้อมกับทางโรงเรียน และได้มากราบสักการะพระบรมศพเป็นครั้งแรก ได้ทำตามความตั้งใจที่อยากจะมามานานแล้วแต่ยังไม่มีโอกาส ถือเป็นช่วงเวลาพิเศษที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ผ่านมาตนได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและการทรงงานของพระองค์ ที่พระองค์ทรงงานอย่างหนักเพื่อประชาชนทุกคน และตนจะน้อมนำหลักความพอเพียงและประหยัดอดออมตามแบบพระองค์ท่านมายึดปฏิบัติตาม

สะแหล่ทู (ซ้าย)
สะแหล่ทู แสงกระแจ่มเรือง (ซ้าย)

นายสะแหล่ทู แสงกระแจ่มเรือง อายุ 49 ปี ชาวกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านแม่แฮเหนือ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนเดินทางมากับเพื่อนๆ ในหมู่บ้านที่ทุกคนมีความตั้งใจว่าในชีวิตนี้จะต้องมาถวายสักการะพระบรมศพในหลวงร.9 ให้ได้ เพราะในหลวงร.9 เป็นผู้ที่สร้างประโยชน์ให้กับแผ่นดินอย่างมหาศาล ทรงงานหนักเพื่อให้พวกเรากินดีอยู่ดี

“เดิมทีหมู่บ้านแม่แฮและหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง ส่วนใหญ่ชาวบ้านเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง ประกอบอาชีพทำนาและทำไร่เลื่อนลอย เช่น ปลูกข้าวโพด ปลูกฝิ่น และเลี้ยงสัตว์ พวกเรามักอพยพเคลื่อนที่หาที่เพาะปลูกจึงมีการบุกรุกเผาป่าไปเรื่อยๆ แต่ความเป็นอยู่ก็ยังไม่ดีขึ้น กระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯมายังหมู่บ้านและเห็นความยากลำบาก จึงมีพระราชดำริก่อตั้งโครงการหลวงพัฒนาเกษตรที่สูงแม่แฮ แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ที่ได้พัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาพื้นที่การเกษตรให้กับชาวเขาโดยไม่ต้องทำลายป่าอีกต่อไป” นายสะแหล่ทู กล่าว

นายสะแหล่ทู กล่าวว่า ที่โครงการหลวงได้พัฒนาอาชีพให้แก่ชาวบ้าน มีแปลงสาธิตการผลิตพืชผักเมืองหนาว เช่น ผักกาดหวาน กะหล่ำปลีแดง พลับ องุ่น เป็นต้น สิ่งที่ในหลวงร.9 ทรงทำให้แก่พวกเรานับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงที่เปลี่ยนชีวิตชาวเขาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ยากลำบากอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image