บันทึกจากอะพอลโล 1 โศกนาฏกรรม ที่โลกไม่มีวันลืม

นักบินอวกาศในภารกิจอะพอลโล 1 จากซ้ายมาขวา : รอเจอร์ แชฟฟี, เอ็ดเวิร์ด ไวท์ และ กัส กริสซอม (จาก NASA/JPL-Caltech)

ในบรรดาโครงการสำรวจอวกาศทั้งหมด โครงการที่มีชื่อติดหูผู้คนมากที่สุดเห็นจะไม่พ้นโครงการอะพอลโล จากความสำเร็จในการนำมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก เป็น “ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่” ของมนุษยชาติ แต่หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า โครงการที่ยิ่งใหญ่นี้ มีปฐมบทที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง

เย็นวันที่ 27 มกราคม 2510 มีการซ้อมใหญ่ของภารกิจอะพอลโล 1 นักบินในภารกิจนี้ได้แก่ รอเจอร์ แชฟฟี, เอ็ดเวิร์ด ไวท์, และ กัส กริสซอม ประจำอยู่ในยานที่ตั้งอยู่บนจรวดแซตเทิร์น 1 บี

ระหว่างการฝึกซ้อมในเย็นวันนั้น จู่ ๆ ก็มีเสียงตะโกน “ไฟไหม้!” ขึ้นมาในห้องนักบิน ประกายไฟ บวกกับอากาศภายในยานที่เป็นออกซิเจนบริสุทธิ และวัสดุภายในยานหลายอย่างที่ติดไฟได้ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก ไนลอน โฟม และสายไฟ รวมเป็นส่วนผสมมรณะที่ทำงานอย่างรวดเร็ว เปลวไฟในยานมองเห็นได้จากภายนอกยานผ่านหน้าต่างกระจก นักบินพยายามจะเปิดประตูหลบหนี แต่ประตูของยานเป็นประตูสองชั้น ซึ่งต้องใช้เวลาเปิดประมาณหนึ่งนาทีครึ่งในภาวะปกติ ยิ่งกว่านั้น ประตูชั้นในเป็นชนิดเปิดเข้า เมื่อภายในยานร้อนขึ้นจากเปลวไฟ ความดันอากาศจึงสูงขึ้นจนดึงประตูออกไม่ได้ นักบินทั้งสามจึงถูกขังไว้ภายใน กว่าที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปถึงและเปิดยานได้ ก็พบว่านักบินทั้งสามเสียชีวิตไปแล้ว

Advertisement

ที่น่าเศร้าก็คือ ความผิดพลาดด้านการออกแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งค้นพบกันหลังอุบัติเหตุ มีเสียงเตือนถึงความไม่ปลอดภัยมาตั้งแต่สองปีก่อนหน้าแล้ว แต่แรงกดดันด้านการเมืองของสงครามเย็นมีพลังมากกว่าเสียงเตือนของนักวิทยาศาสตร์ ความรีบเร่งที่จะแซงหน้าโซเวียตสำคัญกว่าความปลอดภัย กว่านาซาจะรู้สึกตัวก็ต้องจ่ายด้วยชีวิตของนักบินอวกาศถึงสามนาย

โศกนาฏกรรมครั้งนั้นทำให้โครงการอะพอลโลต้องชะงักไปถึงหนึ่งปีครึ่ง แต่ด้านดีก็คือนาซาได้เรียนรู้จากความผิดพลาด และยอมเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ควรจะเปลี่ยน ด้วยการนำวัสดุติดไฟยากไปแทนที่วัสดุไวไฟภายในยาน ประตูเข้าออกเปลี่ยนเป็นประตูชั้นเดียวที่เปิดได้อย่างรวดเร็วเพียงเจ็ดวินาที อากาศภายในยานในช่วงอยู่บนพื้นโลกใช้อากาศผสมระหว่างออกซิเจน 60 เปอร์เซ็นต์และไนโตรเจน 40 เปอร์เซ็นต์ ชีวิตของนักบินอวกาศในรุ่นถัดมาจึงปลอดภัยขึ้นอย่างมาก

จนถึงวันนี้ อุบัติเหตุอะพอลโล 1 ผ่านมาแล้ว 50 ปี ชาวอเมริกันและนาซายังคงจดจำนักบินอวกาศทั้งสามเยี่ยงวีรบุรุษ มีการจัดงานรำลึกและไว้อาลัยขึ้นที่ศูนย์การบินอวกาศเคเนดีอย่างสมเกียรติ

Advertisement

นอกเหนือจากความเสียสละของนักบินแล้ว อีกสิ่งที่ควรจดจำและเรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือ เมื่อใดที่ยอมให้เหตุผลด้านการเมืองสำคัญเหนือด้านอื่น หายนะก็จะเกิดขึ้นอีก

ไม่ช้าก็เร็ว

ไม่ว่าประเทศไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image