ส่องชีวิต”นักวิจัย-อนุรักษ์ป่า” นอนบนดินกินในป่า24ชม.

กว่าจะได้องค์ความรู้ในเรื่องอะไรก็ตาม เบื้องหลังการถ่ายทำ กว่าจะได้มาสักเรื่องนั้น น้อยคนนักที่จะรู้ว่าต้องฝ่าฟัน แลกกับความยากลำบากนานาประการขนาดไหน

แม้ว่าบางเรื่องหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย ไม่มีความสำคัญอะไรกับชีวิตประจำวัน แต่แท้จริงแล้ว ความรู้ที่ได้มาสามารถสร้างประโยชน์ได้มหาศาล

หลายหน่วยงานจึงให้ความสำคัญกับงานวิจัย เพื่อนำผลที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอด สร้างประโยชน์ต่อไป ตามหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ

งานวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของสัตว์ป่าที่ถือว่าทั้งยากแสนสาหัส และต้องใช้ความอดทน อย่างที่ปรากฏในการถ่ายทอดผ่านสารคดีต่างประเทศนั้น ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะไม่หวือหวา

Advertisement

สร้างประโยชน์ในทันทีทันใด แต่ทว่าการทำงานด้านนี้ยังคงต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเมืองไทยก็เช่นกัน เส้นทางวิบาก ยากเย็นยิ่ง

“ธัญญา เนติธรรมกุล” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) บอกว่า การได้มาของผลสรุปงานวิจัยแต่ละชิ้นนั้น นักวิจัยต้องใช้ความอดทนและความพยายามอย่างหนัก โดยเฉพาะงานวิจัยด้านสัตว์ป่า นักวิจัยทั้งชายและหญิงของกรมอุทยานฯนั้นใครที่ใจไม่รักจริงก็คงไม่อดทนทำ เพราะต้องใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดเฝ้าโยงอยู่กับแหล่งข้อมูลในป่า จนกว่าจะได้คำตอบ ซึ่งก็น่าดีใจว่างานวิจัยของกรมอุทยานฯหลายงานที่ออกมานั้นเป็นที่ยอมรับ ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น เรื่องงานวิจัยเสือโคร่งที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เวลานี้สามารถอนุรักษ์เสือโคร่งในธรรมชาติเอาไว้ได้อย่างน่าพอใจ จนได้ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในแถบภูมิภาคนี้ เปิดโอกาสให้นักวิจัยทำงานเต็มที่ ไม่มีการกดดันใดๆ ทั้งสิ้น ให้เลือกหัวหน้าเอง เลือกทีมงานเอง ต้องการอะไรก็สนับสนุนไป

“ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ” หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือ ระบุว่า งานวิจัยที่นักวิจัยของสำนักสัตว์ป่าทำอยู่นั้นเริ่มจากการไม่รู้อะไรเลย และต้องการรู้ เพื่อนำเอาความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะประโยชน์ในเรื่องการดูแล การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากร ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความเชื่อมต่อกัน
“งานวิจัยเรื่องเสือที่ห้วยขาแข้งนั้น ถือว่าเป็นความสำเร็จที่พวกเรามีความภูมิใจอย่างมาก ไม่ใช่ภูมิใจแค่งานสำเร็จ แต่ภูมิใจเพราะงานของเราสามารถดูแล รักษาชีวิตของสัตว์หลายชนิดในป่าให้มีความยั่งยืน”

Advertisement

ศักดิ์สิทธิ์เล่าว่า พื้นที่ห้วยขาแข้งกว่า 1.75 ล้านไร่นั้น กว้างใหญ่ไพศาลมากสำหรับคนทำงานที่มีอยู่ไม่ถึง 20 คน ทุกคน ใช้ชีวิต กิน นอน 24 ชั่วโมงในป่า

“อยากรู้เรื่องเสือ เราต้องคอยตามดูเสือ 1.75 ล้านไร่ ที่มีเสือโคร่งกระจายอยู่นั้น เราต้องเดินหาจุดสำหรับตั้งกล้อง เพื่อบันทึกพฤติกรรมของเสือทั่วทั้งพื้นที่ ราว 200 จุด แต่ละจุดห่างกันราว 30 กิโลเมตร จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ต้องเดินทั้งหมด เพราะรถวิ่งไม่ได้ บางวันเดินเกือบ 50 กิโล ถามว่ากลัวไหม สำหรับเสือ ไม่กลัว เพราะเรารู้ดีว่ามันไม่ชอบเผชิญหน้ากับคน ที่กลัวก็คือช้าง ไม่มีนักวิจัยคนไหนไม่เคยเจอช้างไล่ แต่ทุกคนก็อาศัยความสามารถเฉพาะตัวหนีรอดมาได้ เมื่อตั้งกล้องได้แล้วก็ต้องหมั่นมาตรวจ ซึ่งงานวิจัยเสือนั้นไม่ได้มีแค่ภาพเท่านั้น เราต้องได้ตัวเป็นๆ มาศึกษาด้วย โดยการวางกรงดัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของนักวิจัยเป็นหลัก รวมทั้งต้องไม่ทำให้เสือได้รับบาดเจ็บด้วย” หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการสัตว์ป่าฯกล่าว

ทั้งยังบอกอีกว่าศึกษาตัวเสือยังไม่พอ ยังต้องศึกษาขี้เสือด้วย กว่านักวิจัยจะรู้ว่าเสือห้วยขาแข้งนั้น วันๆ มันกินอะไรเข้าไปบ้าง และมีสุขภาพดีในระดับไหน พวกเขาต้องตามเก็บขี้เสือมาตรวจเป็นเวลากว่า 3 ปีด้วยกัน

“มีเสือที่เราสามารถติดเครื่องหมายเพื่อติดตามพฤติกรรมในห้วยขาแข้งได้ราว 30 กว่าตัว บางตัวก็ติดมากกว่า 3 ครั้ง บางตัวเพิ่งติดครั้งเดียว และเราก็มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันเกี่ยวกับพฤติกรรมของพวกมัน” ศักดิ์สิทธิ์ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่ได้รับ จากการใช้ชีวิตนอนบนดิน กินกลางป่า

ศักดิ์สิทธิ์บอกว่า การอนุรักษ์เสือไม่ได้ทำไปเพราะรักเสือ แต่ต้องการใช้เสือเป็นเครื่องมือในการดูแลพื้นที่ป่า เพราะปัจจัยหลักๆ ที่จะทำให้เสืออยู่ได้ ต้องมีผืนป่าขนาดใหญ่ และต้องมีเหยื่อให้กิน การอนุรักษ์เสือให้ได้ ต้องอนุรักษ์เหยื่อของพวกมันให้เพียงพอ สมดุลกับจำนวนประชากรมันด้วย ที่สำคัญคือต้องทำให้แหล่งที่อยู่ของมันมีความอุดมสมบูรณ์ด้วย

เสือ 1 ตัว ตัวผู้ต้องใช้พื้นที่ในการหากินประมาณ 330 ตารางกิโลเมตร ตัวเมียประมาณ 60-80 ตารางกิโลเมตร

เวลานี้กรมอุทยานฯได้ขยายพื้นที่การทำวิจัยการอนุรักษ์เสือโคร่งออกไปยังผืนป่าอื่นๆ นอกจากห้วยขาแข้ง เช่น ป่าทุ่งใหญ่ตะวันตก ป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา

และดูเหมือนว่าโครงการนี้กำลังจะไปได้สวย

ไม่เฉพาะเรื่องเสือ งานหินๆ อีกอย่างที่ท้าทาย กรมอุทยานแห่งชาติฯเวลานี้ก็คือ การฟื้นฟูประชากรนกแต้วแร้วท้องดำให้ได้ เป็นภารกิจบังคับสำหรับสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าก็ว่าได้

ประชากรนกแต้วแร้วท้องดำที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำ อย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม หรือเขานอจู้จี้ จ.กระบี่ เวลานี้อยู่ในสภาพวิกฤตอย่างหนัก เมื่อ 10 กว่าปีก่อน พบ 10 กว่าคู่ เวลานี้เหลือไม่ถึง 4 ตัว จะปล่อยให้นกตัวที่เหลือ ค่อยๆ ตายไปไม่ได้เด็ดขาด

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ บอกว่า ทีมนักวิจัยนกแต้วแร้วท้องดำลงพื้นที่ เพื่อสำรวจและทำงานเรื่องนี้แล้ว

ปัญหาหลักที่ทำให้นกแต้วแร้วหายไปจากธรรมชาติจนเกือบหมดนั้น เกิดจากพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยถูกบุกรุกเป็นหลัก รวมไปถึงความไม่เข้าใจของคนในพื้นที่สำหรับเรื่องการประกาศพื้นที่อนุรักษ์บริเวณที่อาศัยของนกแต้วแร้วท้องดำ ทำให้เข้าใจผิดกันว่านกทำให้ชาวบ้านขาดโอกาสในการเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่นั้น เรื่องเหล่านี้ ต้องไปสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาสัตว์ชนิดนี้เอาไว้ด้วย เวลานี้ทางหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม เขายืนยันแล้วว่าเรื่องการบุกรุกพื้นที่นั้นตอนนี้ไม่มีแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะต้องเข้าไปดำเนินการเรื่องของการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน หาแนวร่วมที่ดีที่สุด สำหรับช่วยกันอนุรักษ์นกแต้วแร้วให้มีชีวิตรอดให้มากที่สุด เป็นเป้าหมายหลักของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเลยว่าเราจะต้องทำเรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งผมเองเชื่อว่าโดยศักยภาพของนักวิจัยและทีมงานของกรมอุทยานแล้วเราสามารถทำได้ ซึ่งเคยทำได้มาแล้ว

“ก่อนหน้านี้เราเจอนกแต้วแร้วท้องดำคู่สุดท้าย ลูกนกเพิ่งจะฟักออกมาจากไข่ คนของเราต้องไปกางเต็นท์เฝ้ากันเลยทีเดียว มีกันอยู่ 4 คน ผลัดเวรกันเฝ้าคนละ 6 ชั่วโมง ส่องกล้องดูกัน 24 ชั่วโมง ด้วยความที่กลัวลูกนกตาย มีอยู่วันหนึ่งส่องกล้องไปเจองูทางมะพร้าวเลื้อยจะเข้ามากินลูกนกขณะที่แม่นกไม่อยู่ ก็ต้องวิ่งไปไล่งู จากนั้นด้วยความที่กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก ตอนกลางคืนเราก็ไปเอาลูกนกมาดูแลเอง เนื่องจากแม่นกจะไม่กกลูก พอตอนเช้ามืดก็เอาไปคืนไว้ที่เดิม นักวิจัยทั้ง 4 คน ก็ไปไหนไม่ได้ เฝ้าลูกนกในป่า 2-3 เดือน ทำแบบนี้จนลูกนกโต ติดบ่วงขาได้ และสามารถติดตามวิถีการดำรงชีวิตของมันได้ ถือเป็นความทุ่มเท และเสียสละของนักวิจัยอย่างยิ่ง ซึ่งบอกให้รู้ว่าการจะรู้อะไร หรือได้อะไรมา ที่บางคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เบื้องหลังการได้มาต้องใช้ความพยายามอย่างมาก”

งานของนักวิจัยและอนุรักษ์ต้องหาความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องอดทนนอนกับดิน กินอยู่ในป่าตลอด 24 ชั่วโมง …

คำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้อง ฉายให้เห็นถึงเบื้องหลังการถ่ายทำงานสำรวจ-วิจัยแต่ละชิ้น ไม่ได้มาอย่างง่ายๆ

ธัญญา เนติธรรมกุล
ธัญญา เนติธรรมกุล
ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ
ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image