สปท.ขอเดินหน้าพ.ร.บ.สื่อฯชี้ ทุกองค์กรต้องมีกติกาคุม ยัน ช่วยสื่อมีสวัสดิภาพดีขึ้น

ภาพจาก @Plasiw_mk

สปท.สื่อยันเดินหน้ากม.คุมสื่อ เมิน 30 องค์กรสื่อรุมต้าน จ่อเสนอวิปสปท. 2 ก.พ.นี้ ชี้ทุกองค์กรต้องมีกติกากลางควบคุม ชี้ตัวแทนปลัดกระทรวง 4 คนช่วยหาเงินเพิ่มสวัสดิภาพสื่อให้ดีขึ้น มั่นใจตัวแทนจากสื่อ 5 คนไม่ยอมให้มีการแทรกแซง-เพิกถอนใบอนุญาต

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 30 มกราคมที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นำโดยพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการฯ แถลงข่าวตอบโต้ 30 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่แถลงคัดค้าน พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยพล.อ.อ.คณิต กล่าวว่า ขอยืนยันว่าในประเด็นเรื่องการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อที่อยู่ในร่างกฎหมายดังกล่าว มีความขัดแย้งมา 20 ปี โดยกรรมาธิการชุดนี้ ได้รับเรื่องมาจากสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) และ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่เห็นชอบให้มีการตั้งสภาวิชาชีพ โดยก่อนหน้านี้ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสิ่งพิมพ์ ที่นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด เป็นประธานกรรมาธิการ และได้มีการหารือกับตัวแทนสื่อมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการกินข้าวพูดคุยกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง จนเกิดข้อสรุปของกฎหมายดังกล่าวออกมา และนำมาเสนอกรรมาธิการชุดใหญ่ จนเป็นออกมาเป็นแนวทางดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญในเรื่องสภาองค์กรวิชาชีพสื่อ ที่มีสาระสำคัญคือกรรมการจำนวน 13 คน ที่ประกอบด้วย ตัวแทนสื่อ 5 คน จากปลัดกระทรวงจำนวน 4 คน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะปลัดกระทรวงการคลังที่จะเข้าไปดูแลในเรื่องงบประมาณให้องค์กรวิชาชีพสื่อ และตัวแทนวิชาชีพจากองค์กรต่างๆ อีก 4 คน ซึ่งสามารถออกระเบียบกติกาในการดูแลสื่อมวลชน รวมทั้งการให้ใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตสื่อมวลชนได้ด้วย โดยจะนำเสนอต่อวิปสปท. ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ ส่วนการบรรจุในวาระการประชุมของ สปท.ก็ขึ้นกับการพิจารณาของวิป สปท. ต่อไป

พล.อ.อ.คณิต กล่าวว่า ยืนยันว่าร่างดังกล่าวได้ผ่านการหารือและการทำประชาพิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งยืนยันว่าในเรื่องของสภาองค์กรวิชาชีพจำเป็นต้องมีบุคคลภายนอกเข้าร่วม จะมีประโยชน์มากกว่ากรรมการจากแวดวงสื่อเท่านั้น และขอยืนยันว่ากฎหมายนี้จะส่งเสริมสวัสดิภาพและสวัสดิการให้แก่พี่น้องสื่อ รวมทั้งดูแลองค์กรในกรณีที่ไม่มีโฆษณา รวมทั้งดูแลจริยธรรมของสื่อมวลชนให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ดังเช่นอาชีพอื่นก็มีสภาวิชาชีพมาดูแล อาทิ แพทย์ ทนายความ แม้แต่วินมอเตอร์ไซค์ ที่ต้องมีการออกใบอนุญาตเพื่อป้องกันไม่ให้มีการคิดราคาเกินจริง ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายไม่ต้องกังวลสำหรับกฎหมายฉบับนี้ เพราะหากเราไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องกังวลอะไร ส่วนในประเด็นที่ 30 องค์กรสื่อเป็นห่วงในเรื่องการแทรกแซงสื่อหรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพสื่อ หากมีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องไปโทษ 5 กรรมการองค์กรวิชาชีพสื่อที่มาจากสื่อมวลชนว่าไม่ทำหน้าที่

“ผมเป็นอดีตนักบิน มีความรักต่อกระทรวงกลาโหม เพราะว่ามีการดูแลบุคลากรเป็นอย่างดี ดังนั้นถ้าจะสั่งให้ผมไปรบผมก็ไม่กลัวตาย เพราะอย่างน้อยก็มีคนดูแลรับผิดชอบชีวิตผม ดังนั้นในเมื่อองค์กรมีการดูแลบุคลากรที่ดี ดังนั้นงานต่างๆ ก็จะออกมาดีด้วย ไม่เว้นแม้แต่องค์กรวิชาชีพสื่อ”พล.อ.อ.คณิต กล่าว

Advertisement

ด้าน พล.ต.ต. พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ให้ความอิสระในการทำหน้าที่ของสื่อและปราศจากการแทรกแซงของรัฐ รวมทั้งยังกำกับจริยธรรมของสื่อมวลชนไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าการตรวจสอบการทำงานของสื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนลำดับชั้น คือ 1.ตรวจสอบกันเอง 2.องค์การสื่อมวลชนตรวจสอบและหากยังไม่เป็นที่พอใจของผู้เสียหาย จึงจะไปถึงสภาองค์กรวิชาชีพสื่อ

ขณะที่ นายอภิชาต จงสกุล โฆษกกรรมาธิการ กล่าวว่า อยากให้มองว่าเหรียญมีสองด้าน และเชื่อว่าผู้แทนสภาองค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งเป็นตัวแทนจากสื่อมวลชน 5 คน จะไม่ยอมให้มีการบิดเบือนประเด็น จนเกิดความไม่ถูกต้องในแวดวงสื่ออย่างแน่นอน ขณะที่ตัวแทน 4 คน ที่มาจากแต่ละกระทรวงก็อย่าเพิ่งในแง่ร้าย เพราะ 4 คนนี้ก็อาจเป็นผู้นำงบประมาณมาพัฒนาวงการสื่อให้ดีขึ้นก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image