“มีชัย” ชี้ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ใช้คนนอก ปรับโครงสร้าง ศธ. ทำงานตามนโยบายภาพรวม

เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum เรื่อง “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวปาฐกถา เรื่อง “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” ตอนหนึ่งว่า การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งหากดูในภาพรวมพบว่าประเทศเรามีปัญหาการศึกษาที่พยายามเลียนแบบการเรียนการสอนประเทศที่ประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่สามารถพัฒนาได้อย่างสุขสงบในการดำรงชีวิต ทั้งความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ การไม่สนใจไยดีกับการบังคับใช้กฎหมาย มีการแสวงหาอำนาจในทางไม่ชอบ กรธ.จึงคิดว่าจะต้องเน้นสอนเด็กตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นในหมวดของหน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 จึงกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

นายมีชัยกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญกำหนดจุดสำคัญ 2 จุด คือ บังคับให้รัฐจัดการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียน แต่การศึกษาเป็นเรื่องของการลงทุน ดังนั้นจึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งจากภาคเอกชนและท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จุดที่ 2 คือ จะทำให้เด็กเป็นอะไร โดยกำหนดไว้ในวรรค 4 ที่ให้การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม จุดเน้นทั้ง 2 จุดเป็นเรื่องที่เรายังไม่ได้ทำ ส่วนหนึ่งเพราะกลไกของเรามีการแบ่งเป็นแท่ง มีอาณาจักรของตนเอง ไม่มีใครคิดที่จะเชื่อมโยงพัฒนาเด็กในภาพรวม ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษา จึงต้องคิดแบบทลายกำแพง ทลายแท่ง ล้มกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่ไม่ได้ล้มจริงๆ เพียงแต่คิดว่าจะปฏิรูปการเรียนการสอนในประเด็นใด ตอนไหน และอย่างไร จากนั้นจึงค่อยคิดถึงหน่วยงานและการเชื่อมโยง ในแบบที่ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญที่สุดของการศึกษาอยู่ที่ครู แต่ครูที่จะคิดเรื่องการสอนและพัฒนาเด็กมีน้อย เพราะต้องทำผลงานทางวิชาการ

“สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเกิดกับการปฏิรูปการศึกษา คือ สอนเด็กให้มีความรู้เบื้องต้นเท่านั้น แล้วสอนให้เด็กใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต การศึกษาต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ และการปฏิรูปจะต้องไม่ใช้คนในวงการศึกษาล้วนๆ เพราะคนในวงการศึกษากลับออกจากกรอบไม่ได้ ดังนั้นเราต้องให้คนนอกที่สนใจการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อจะได้มองทะลุ ดังนั้น กรธ.จึงกำหนดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายภายใน 2 ปีหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งประธานคณะกรรมการจะต้องไม่ใช่นายกรัฐมนตรี เพราะจะทำให้คนเกิดความเกรงใจไม่กล้าเสนอความคิดเห็น แต่จะต้องเป็นคนนอกที่เข้าใจการศึกษา ใจกว้าง เป็นที่ยอมรับ พร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ส่วน การปรับโครงสร้างคงต้องเริ่มคิดใหม่ ซึ่ง ศธ.จะมีซี 11 กี่คนก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบายเอง การรวมเป็นหนึ่งจะทำให้การศึกษาพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน” นายมีชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image